ไม่พบผลการค้นหา
ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ออกมาประกาศว่าประเทศของตนจะทำการยกเลิกกฎหมายการร่วมเพศในเกย์ ซึ่งจะส่งผลให้การเป็นคนรักเพศเดียวกันในสิงคโปร์ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ การประกาศของลีเกิดขึ้นหลังจากการถกเถียงมาอย่างยาวนานในสิงคโปร์ ต่อประเด็นกลุ่มคนรักร่วมเพศในประเทศ

หลังจากการแถลงของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กลุ่มนักกิจกรรม LGBT ในสิงคโปร์ได้ออกมาแสดงความยินดี ก่อนระบุว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ของรัฐบาลสิงคโปร์เป็น “ชัยชนะของมวลมนุษยชาติ”

สิงคโปร์ขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นรัฐอนุรักษ์นิยม แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เริ่มเกิดการเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมาย 377A ซึ่งเป็นมรดกจากยุคอาณานิคมที่สหราชอาณาจักรที่เคยปกครองสิงคโปร์มาก่อนหน้านี้ โดยความพยายามในครั้งนี้ จะทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศล่าสุดในเอเชีย ตามมาจากอินเดียและไทย ที่หันมาจัดการกับกฎหมายว่าด้วยสิทธิของ LGBT ในประเทศตน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสิงคโปร์มีจุดยืนว่าต้องการจะคงกฎหมาย 377A ในการห้ามการร่วมเพศในคนรักร่วมเพศชายกับชาย อย่างไรก็ดี รัฐบาลสิงคโปร์ให้คำสัญญาว่าตนจะไม่นำกฎหมายฉบับดังกล่าวมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความสบายใจจากทั้งสองฝ่าย

แต่เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 ส.ค.) ลีซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้ออกมาประกาศว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายแบนการร่วมเพศระหว่างเกย์ เนื่องจากตนเชื่อว่า “นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะทำ และเป็นบางสิ่งที่ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะให้การยอมรับ” ลีกล่าวเสริมว่า “ตอนนี้เกย์เป็นที่ยอมรับมากขึ้น” และการยกเลิกกฎหมาย 377A จะทำให้กฎหมายของประเทศสอดคล้องกับ “ประเพณีทางสังคมในปัจจุบัน และผมหวังว่าจะช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับชาวสิงคโปร์ที่เป็นเกย์ได้”

“ในที่สุดเราก็ทำได้ และเราดีใจที่ในที่สุดกฎหมายที่กีดกันการเลือกปฏิบัติและล้าสมัยนี้ กำลังจะเลิกใช้แล้ว มันมีความรู้สึกว่าอาจจะใช้เวลานานไปหน่อย แต่มันต้องเกิดขึ้น คุณรู้ไหม วันนี้มีความสุขมากๆ” จอห์นสัน ออง นักเคลื่อนไหวเกย์กล่าวกับสำนักข่าว BBC โดยแนวร่วมของกลุ่มสิทธิ LGBT เรียกการเตรียมการยกเลิกกฎหมายนี้ว่าเป็น “ชัยชนะที่ได้มาอย่างยากลำบาก และชัยชนะของความรักเหนือความกลัว” ก่อนกล่าวเสริมว่ามันจะเป็นก้าวแรกสู่ความเท่าเทียมกันอย่างเต็มที่

แต่ในทางตรงกันข้าม ยังคงมีความกังวลที่เกิดขึ้นในการแถลงเดียวกันของลี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ย้ำว่า รัฐบาลจะทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีการคุ้มครองทางกฎหมายที่ดีขึ้น ต่อการนิยามความหมายของการสมรส ระหว่างคู่รักชายกับหญิง โดยเรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการสมรสเท่าเทียมระหว่างคนรักร่วมเพศของสิงคโปร์ในอนาคต

ลีย้ำว่าสิงคโปร์ยังคงเป็นสังคมที่ยึดถือตามประเพณี ซึ่งยังคงมีคุณค่าในเรื่องสถาบันครอบครัว และบรรทัดฐานทางสังคม ในขณะที่นักกิจกรรม LGBT ระบุว่า คำกล่าวดังกล่าวของลี “น่าผิดหวัง” และอาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในสังคมได้ต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ดี กลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างกลุ่ม ‘ปกป้องสิงคโปร์’ ออกมาระบุว่าพวกตน “รู้สึกผิดหวังอย่างสุดซึ้ง” จากความพยายามในการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาล โดยไม่มีการรับรอง “การป้องกันที่ครอบคลุม” กลุ่มอนุรักษ์นิยมในสิงคโปร์ยังเรียกร้อง ให้มีการนิยามการแต่งงานต่างเพศให้มีความครบถ้วนในรัฐธรรมนูญของประเทศ เช่นเดียวกันกับกฎหมายห้าม “การส่งเสริม LGBT” แก่เด็ก

สิงคโปร์รับมรดกกฎหมาย 377A มาจากสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่ตนได้รับเอกราชเมื่อปี 2508 โดยแม้กฎหมายจะสั่งห้ามแค่การร่วมเพศระหว่างชายกับชาย แต่ตัวกฎหมายมีผลบังคับใช้ถึงการแบนกลุ่มคนรักร่วมเพศ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีการบังคับใช้มาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ส่งผลให้กลุ่ม LGBT ในสิงคโปร์เริ่มถูกพบเห็นได้ทั่วไป รวมถึงในไนท์คลับเกย์ด้วย

อย่างไรก็ดี กลุ่มนักสิทธิ LGBT เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมาย 377A เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวสร้างการตีตราต่อกลุ่ม LGBT ในสิงคโปร์ และทำให้รัฐธรรมนูญของประเทศเลือกปฏิบัติต่อประชาชนบนฐานทางเพศ โดยในปัจจุบัน เนื้อหาที่ “ส่งเสริมพฤติกรรมรักร่วมเพศ” จะถูกแบนในการถ่ายทอดบนโทรทัศน์และภาพยนตร์ของสิงคโปร์

กฎหมาย 377A ขัดแย้งกันกับภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ ที่เป็นศูนย์กลางด้านการเงิน สถานที่ที่เปิดกว้าง และศูนย์รวมบริษัทข้ามชาติ ในขณะที่กลุ่มต่อต้านและกลุ่มสนับสนุนกฎหมาย 377A ต่างออกมาส่งเสียงในภาคส่วนของตน ท่ามกลางการเรียกร้องจากลีเพื่อขอให้ทั้งสองฝ่ายยับยั้งชั่งใจต่อกันและกัน

ปัจจุบัน สิงคโปร์ไม่ใช่แค่ชาติเดียวที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักร และยังคงมีกฎหมาย 377A บังคับใช้อยู่ เนื่องจากยังมีหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย ที่ยังคงมีกฎหมายห้ามการร่วมเพศในเกย์ โดยกฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้ครั้งแรกในอาณานิคมที่อินเดีย เมื่อช่วงศตวรรษที่ 19 กฎหมายในลักษณะเดียวกันยังคงมีการบังคับใช้ในเคนยา มาเลเซีย และเมียนมา ซึ่งล้วนเคยเป็นอาณานิคมสหราชอาณาจักรทั้งสิ้น

เมื่อปี 2561 อินเดียทำการยกเลิกกฎหมาย 377 ของตน สร้างความหวังในอดีตประเทศอาณานิคมสหราชอาณาจักรอื่นๆ ที่ยังคงมีกฎหมายห้ามการร่วมเพศในเกย์ ในการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวที่ยังคงบังคับใช้ในประเทศของตน โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บางประเทศในเอเชียหันมาผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเฉพาะไต้หวันที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นชาติแรกในเอเชียเมื่อปี 2562 และไทยเองที่เพิ่งรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการจดทะเบียนคู่ชีวิตไป


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-62545577?fbclid=IwAR24SdnhBO5Ifm2ieidPTDe8aqDpnW3trqazIVIuScwdHRJO_1ZTGIMleOw