ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญประเมินทิศทางประเทศไทยหลังยุค 'เผด็จการทหาร' เชื่อไทยเล็งคานอำนาจ 'จีน-สหรัฐฯ' แต่เศรษฐกิจชะลอตัว ต้องเร่งส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจหลังปล่อยเวียดนามเป็นต่อ ส่วนการลงทุนเมกะโปรเจกต์จะยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำในสังคม

โจชัว เคอร์แลนซิก นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำองค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) เผยแพร่บทความชื่อ How Thailand's former junta leader, now 'civilian' prime minister will rule? ในเว็บไซต์ World Politics Review เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการตั้งคำถามว่า 'อดีตเผด็จการทหาร' ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรี 'พลเรือน' ไปแล้ว จะปกครองไทยอย่างไรต่อไป

เคอร์แลนซิกอ้างอิงบรรยากาศทางการเมืองไทยก่อนและหลังการเลือกตั้ง โดยระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหารและผู้ปกครองประเทศไทยมานานกว่า 5 ปี ได้รับการรับรองเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.ผ่านพ้นไป โดยที่เขาไม่ต้องลงสมัครเลือกตั้ง แต่ก็ได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ จากพรรคการเมืองขนาดเล็ก และวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารของเขาเอง ทั้งยังรวมถึงคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีสูตรคำนวณและตีความคะแนนเลือกตั้งอย่างผิดแปลกไปจากเดิมมาก จนทำให้พรรคขนาดเล็กได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น

บทความของเคอร์แลนซิกระบุว่า แม้พลเอกประยุทธ์จะปฏิเสธการแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่คาดว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์สมัยต่อไปจะมุ่งเน้นที่นโยบายเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาในประเทศ โดยอาศัยจังหวะที่รัฐบาลสหรัฐฯ และจีนกำลังเผชิญหน้ากันในสงครามการค้าที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลในยุคที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอยู่ในช่วงขาลง รัฐบาลชุดต่อไปอาจจะออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานทั่วประเทศ รวมถึงการพิจารณาขึ้นค่าแรง แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงนโยบายระยะสั้น ส่วนมาตรการระยะยาวคาดว่าจะต้องส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ หลังจากที่ปล่อยให้ 'เวียดนาม' มีความโดดเด่นมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะมีนโยบายและบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากกว่า

ประยุทธ์ สมคิด ซีพี 80912050454.JPG
  • พลเอกประยุทธ์ร่วมงานประชุมด้านเศรษฐกิจร่วมกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์และผู้บริหารเครือซีพี

อย่างไรก็ตาม เคอร์แลนซิกประเมินว่า การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลทหารไทย โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อาจทำให้ไทยเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะการลงทุนไม่ได้กระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ และการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เป็นการร่วมทุนระหว่างจีนกับเครือบริษัทซีพีของไทย อาจทำให้ไทยต้องพึ่งพาจีนยิ่งกว่าเดิม เพราะไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ

ขณะเดียวกันก็คาดว่าไทยจะเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทหารกับสหรัฐฯ ได้อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ความร่วมมือและความช่วยเหลือบางอย่างที่สหรัฐฯ เคยมีให้ไทยต้องหยุดชะงักไปหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เพราะไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

ส่วนประเด็นความขัดแย้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ การใช้อำนาจทางกฎหมายในการควบคุมและดำเนินคดีผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มที่ต่อต้านอดีตรัฐบาลทหารตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยบทความของเคอร์แลนซิกยกตัวอย่าง 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรก แต่แกนนำพรรคต่างถูกเครือข่ายรัฐบาลทหารแจ้งความดำเนินคดี รวมถึงกรณีของผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่ไปพำนักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว ต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายทารุณ เพราะหลายคนถูกสังหาร และบางคนหายสาบสูญไป 

บทความของเคอร์แลนซิกที่กล่าวถึงการปราบปรามและดำเนินคดีผู้เห็นต่างจากรัฐบาลทหาร สอดคล้องกับเนื้อหาในแถลงการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) ลงวันที่ 14 มิ.ย. (Thailand: Authorities Punish Mockery of Junta) ซึ่งกล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปกดดันผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่ได้เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมาตั้งแต่ต้น 

https://www.hrw.org/sites/default/files/styles/946w/public/multimedia_images_2019/201906asia_thailand_comedian_.jpg?itok=EPpdR14b
  • ภาพจาก Yan Marchal/ HRW

แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์อ้างอิงกรณี 'ยาน มาร์แชล' ชาวฝรั่งเศสที่พำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ถูกตำรวจบุกไปที่บ้านพักเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เพื่อขอความร่วมมือให้เขาลงนามในเอกสารขออภัยต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประชาชนชาวไทย หลังจากที่เขาเผยแพร่คลิปวิดีโอล้อเลียนเพลง 'คืนความสุขให้ประเทศไทย' ที่แต่งโดยพลเอกประยุทธ์ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.

คลิปดังกล่าวมีผู้รับชมมากกว่า 1 ล้านครั้ง รวมถึงมีผู้นำไปเผยแพร่ต่ออีกเป็นจำนวนมาก ทำให้มาร์แชลถูกกล่าวหาว่ากระทำการไม่เหมาะสม สร้างความเสื่อมเสียต่อ คสช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาหาที่บ้านก็ขอความร่วมมือให้เขาลบคลิปและลงชื่อในเอกสารดังกล่าว เช่นเดียวกับกรณีของ 'ณภัทร ชุ่มจิตตรี' หรือ 'คิง ก่อนบ่าย' นักแสดงตลกชาวไทยที่เคยเผยแพร่คลิปล้อเลียนเสียงพลเอกประยุทธ์ ก็ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ขอให้ผู้ใช้สื่ิอสังคมออนไลน์ 'งดแชร์' คลิปดังกล่าว โดยไม่ได้บอกเหตุผลเพิ่มเติม

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย เรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ออกคำสั่งไปยังเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่างๆ ให้ยุติการกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต้องเงียบเสียงลง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบและสันติของคนในสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: