ไม่พบผลการค้นหา
‘การเมืองบ้านใหญ่’ เป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังการเลือกตั้งซ่อมสงขลาและชุมพร ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐมีมติขับไล่ ‘ธรรมนัส พรมเผ่า และ 20 ส.ส.’ พ้นพรรค ทำให้รัฐบาลมีเสียงในสภาปริ่มน้ำเต็มที คงต้องพยายามอย่างหนักลากให้ครบเทอมหรืออย่างน้อยให้ได้ผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดกติกาการเลือกตั้งให้กลับไปใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งน่าจะช่วยคลี่คลายประเด็นเรื่อง ‘บ้านใหญ่’ ลงได้

ว่าแต่การเมืองแบบบ้านใหญ่ที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานนั้นเกิดขึ้นจากอะไร ส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ไปด้วยกันได้หรือไม่กับการเมืองเชิงนโยบาย  

‘วอยซ์’ ชวน ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีผลงานศึกษาเรื่อง 'นิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท : มายาคติและอคติของนักรัฐศาสตร์ไทย' พูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมไปกับการคลี่มายาคติที่สุดท้ายผู้คนมักชี้นิ้วกล่าวโทษผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ตัดสินใจใช้สิทธิภายใต้ระบบอุปถัมภ์เสียทุกคราวไป  

ประจักษ์ เริ่มต้นด้วยการฉายภาพใหญ่ให้เห็นว่า การเมืองบ้านใหญ่ คือการเมืองแบบผู้มีอิทธิพลที่ใช้เครือข่ายอุปถัมภ์ เป็นการเมืองที่มีลักษณะเป็นตระกูลการเมือง (political family) ก่อตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ และขยายอิทธิพลมาเป็นเวลายาวนาน การเมืองลักษณะนี้เริ่มก่อตัวเป็นรูปร่าง และดำรงอยู่มาตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ในช่วงการขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 

ประจักษ์ ให้ภาพต่อไปว่า คนในพื้นที่นั้นๆ ก็รู้ดีว่ามีตระกูลใหญ่ครอบงำอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 2-3 ตระกูล ขึ้นอยู่ขนาดของพื้นที่ มีการผูกขาดทางการเมืองมาอย่างยาวนาน เวลามีการเลือกตั้งกลุ่มคนเหล่านี้มักจะมีการส่งต่อกันทางตระกูล หากพ่อไม่ได้ลงรับเลือกตั้งก็จะเป็นลูก ภรรยา หรือหลานก้าวขึ้นมาแทน การเมืองลักษณะนี้ดำรงอยู่มาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ ปัจจัยหลักที่เอื้อให้เกิดและหล่อเลี้ยงให้มันดำรงอยู่ต่อไป คือ การที่พรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กันในเชิงนโยบายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งระบบการเมืองลักษณะนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในระยะยาว ไม่ได้ประโยชน์กันทั้งประเทศ เป็นเพียงการให้ประโยชน์ที่แคบ เช่น การซ่อมถนน ทำระบบส่งน้ำ เอาลูกฝากเข้าโรงเรียน ฯลฯ

ประจักษ์.jpg
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขากล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 พรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอ ไม่เกิดการแข่งขันกันในเชิงนโยบาย เพราะระบบการเลือกตั้งถูกออกแบบมาให้เป็นไปเช่นนั้น ไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบปาร์ตี้ลิสต์ มีเพียง ส.ส. เขตอย่างเดียว ฉะนั้นการจะชนะการเลือกตั้งภายใต้ระบบนี้ได้คือ การมีหัวคะแนน มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง การเมืองการเลือกตั้งจึงดำเนินไปในลักษณะของการแข่งขันกันสร้างความเข้มแข็งของระบบอุปถัมภ์ ทั้งไปงานศพ งานแต่ง งานบวช ฝากลูกเข้าโรงเรียน ฝากคนที่เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ฝากคนเข้าทำงาน โดยทั้งหมดนี้ได้กลายสภาพเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘บุญคุณ’

“กำนันเป๊าะ เป็นภาพตัวแทนที่ชัดเจนที่สุดในการเมืองแบบบ้านใหญ่ แกเคยให้สัมภาษณ์ไว้ชัดเจนเลยว่า ‘อ้าว ทำไมคนถึงนับถือผม ทำไมผมถึงมีบารมี ก็เพราะว่าคนอื่นมันช่วยเหลือชาวบ้านไม่ได้ ข้าราชการไปหาก็ช่วยอะไรไม่ได้ พรรคการเมืองมันก็ไม่มี คนก็วิ่งมาหาผม ผมช่วยเหลือเขาได้ เขาก็นับถือผม’ ดังนั้น พอถึงเวลาแกลงเลือกตั้ง แกส่งลูก ส่งหลานลงไป หรือแกบอกให้ชาวบ้านเลือกใคร ชาวบ้านก็เลือกคนนั้น มันเป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 ทศวรรษ เพราะก่อนปี 2540 เราต้องเข้าใจว่าระบบเลือกตั้งมันไม่เคยโดนเปลี่ยนเลย เราใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิมแบบเดียวมาโดยตลอด”


รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับบ้านใหญ่ ไม่ใช่วัฒนธรรมการเลือกตั้ง

ประจักษ์ เห็นว่า รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับบ้านใหญ่ ไม่ถือเป็นวัฒนธรรมการเลือกตั้ง เพราะหากมองแบบนั้นไม่ต่างอะไรจากการมองว่า ‘นิสัยคนไทย’ เป็นแบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และเป็นการมองที่แช่แข็งหยุดนิ่งเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องมองไปให้เห็นถึงปัจจัยในทางเศรษฐกิจ และการออกแบบสถาบันทางการเมืองด้วย 

เขาขยายความต่อไปว่า ระบบการเมืองแบบบ้านใหญ่ไม่ได้มีหรือเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่พบในต่างประเทศด้วย ในอดีตประเทศแถบยุโรป หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาก็มีลักษณะการเมืองแบบบ้านใหญ่เหมือนกัน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง สภาพเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยน ระบบการเมืองแบบบ้านใหญ่ก็หายไป ฉะนั้น เขาเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องทางวัฒนธรรม 

“นี่เป็นเรื่องเฉพาะในสังคมเอเซียเหรอ ไม่ใช่ ปัญหามันอยู่ที่สภาพเศรษฐกิจมากกว่า การเมืองแบบบ้านใหญ่จะทำงานได้ดีในสังคมที่มีความยากจนสูง คนลำบาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท คนไม่มีที่พึ่ง ราชการก็พึ่งไม่ได้ รัฐมันก็ไม่เหลียวแล ก็เลยต้องมาพึ่งช่องทางที่มันพอมีอยู่ คือ ผู้มีอิทธิพล ผู้มีบารมีในพื้นที่ ที่คาดหวังว่าเลือกเขาแล้วจะเชื่อมต่อและได้รับความช่วยเหลือตลอด แต่ในสังคมที่เศรษฐกิจมันพัฒนาไป มันมีความเจริญมากขึ้น คนพึ่งตนเองได้ ยืนบนลำแข้งตัวเองได้ มันก็ไม่ต้องมาพึ่งคนพวกนี้ หรือระบบบ้านใหญ่แบบนี้ ถ้ามันมีระบบจัดหางานที่ดี ระบบการศึกษาที่ดี คนก็จะไม่มาฝากลูกเข้าโรงเรียน มันไม่มีใครอยากมาขอความช่วยเหลือจากคนอื่นหรอก หรือเงิน 300 500 1,000 มันก็จะไม่มีประโยชน์อะไร”

ประจักษ์ ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์นี้ โดยยกตัวอย่างของสังคมเมืองว่า ในสังคมเมือง อิทธิพลของบ้านใหญ่ค่อนข้างเจือจางลงไป ยิ่งเป็นเมืองใหญ่ พฤติกรรมการเลือกตั้งก็มักมีปัจจัยเรื่องระบบอุปถัมภ์มาสัมพันธ์น้อยเพราะคนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น 

“อีกอันนึงที่สำคัญคือ ระบบเลือกตั้ง ถ้าเราออกแบบระบบเลือกตั้ง ออกแบบกติกาพรรคการเมืองให้มันเข้มแข็งมันก็เปลี่ยนได้ เหมือนหลังปี 2540 พอใช้กติกาปี 2540 เลือกตั้งไปหลังจากนั้น 2 ครั้ง เราเห็นบ้านใหญ่เริ่มลดอิทธิพลลง ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกปี 2544 พวกบ้านใหญ่สอบตกกันระเนระนาดเลย ตระกูลดังๆ ทั้งนั้น เลือกตั้งปี 2548 ก็ยิ่งมีปรากฏการณ์นี้มากขึ้นยิ่งไปอีก แพ้ให้กับพวก ส.ส. หน้าใหม่ ส.ส. โนเนม เพราะคนเขาเริ่มเห็นว่าเขาไปเลือกพรรคการเมืองดีกว่า ไม่ต้องมาเลือกตัวบุคคล ไม่ต้องมาเลือกบ้านใหญ่ เขาได้นโยบายเป็นรูปธรรม เช่น เขาได้ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการสวัสดิการต่างๆ อิทธิพลของบ้านใหญ่หรือพวกตระกูลการเมืองที่มีอิทธิพล มันจะลดลงถ้าพรรคการเมืองมันเข้มแข็ง” 

เมื่อถามต่อไปว่า ในช่วงการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ผู้นำทางการเมืองอย่างทักษิณ ชินวัตร ซึ่งใช้การเมืองเชิงนโยบายเป็นธงนำในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ดึงกลุ่มบ้านใหญ่ต่างๆ เข้ามาอยู่ภายใต้พรรคไทยรักไทยด้วย หมายความว่าการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ของประชาชนกับบ้านใหญ่หรือไม่ 

ประจักษ์ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงรูแปบบความสัมพันธ์ที่ก่อรูปมานานยาวนานไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างทันทีทันใด จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อเนื่องกัน จึงทำให้เห็นภาพการเมืองแบบใหม่ที่พรรคการเมืองแข่งขันกันด้วยนโยบายและอุดมการณ์เป็นหลัก มากกว่าใช้อิทธิพลบารมี และเมื่อการเมืองเชิงนโยบายได้เข้าไปเกิดผลจริง แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้จริง การแจกของเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน หรือการช่วยเหลือแบบแคบก็จะจางหายไปเอง เพราะการเมืองเชิงนโยบายหรือเชิงอุดมการณ์มันตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ 

“มันไม่ใช่ว่าเอาระบบเลือกตั้งใหม่มาใช้ปุ๊บครั้งแรกแล้วจะเปลี่ยนทันที มันก็จะเป็นช่วงไฮบริด (hybrid) ช่วงแรกเป็นช่วงที่มันยังผสม ถ้าดูการเลือกตั้งปี 2544 มันมีลักษณะการเมืองที่แบบอุปถัมภ์ อิทธิพลหลงเหลืออยู่บ้าง เพียงแต่เริ่มเกิดการเปลี่ยนผ่านแล้ว มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สำรวจทัศนคติ พฤติกรรมผู้เลือกตั้งว่า ก่อนปี 2540 เลือกเพราะอะไรก็ตอบว่าเลือกตัวบุคคลเป็นหลัก คนนี้ครอบครัวนี้ ต่อให้ย้ายไปอยู่พรรคไหน คนก็ตามไปเลือกครอบครัวนั้น เพราะพรรคมันไม่มีความหมาย ก่อนปี 2540 เลือกพรรคไหนก็เหมือนกัน ทุกพรรคมันอ่อนแอหมด ทุกพรรคมีนโยบายเหมือนกันหมด แต่พอหลังปี 2540 ชัดเจนเลย คนบอกว่าเลือกไปเพราะดูที่พรรคการเมืองมากขึ้น เลือกโดยดูนโยบายมากขึ้น และปี 2548 สัดส่วนตรงนี้ยิ่งมากขึ้นไปอีก”

“แล้วที่เราเอ่ยถึงตระกูลการเมืองต่างๆ ที่เข้ามาอยู่กับพรรคไทยรักไทย มองในมุมหนึ่ง ทักษิณก็รู้ว่าบ้านใหญ่เหล่านี้ยังมีอิทธิพลอยู่ อยากได้ที่นั่งเยอะๆ ก็ต้องไปเอาบ้านใหญ่เหล่านี้เข้ามาอยู่ในสังกัด โอกาสที่จะชนะก็ง่ายขึ้น แต่เราจะเห็นด้านกลับด้วยว่าครอบครัวเหล่านี้ บ้านใหญ่ต่างๆ ก็วิ่งเข้าไปหาพรรคไทยรักไทย  มันเป็นจราจรสองทาง”

“ยิ่งพอปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เพราะว่าบริหารประเทศครบ 4 ปีมีความนิยมสูง ตอนนั้นบ้านใหญ่แต่ละตระกูลวิ่งเข้าหาทางนี้หมด เหลือครอบครัวบรรหาร ครอบครัวเดียวที่ยืนหยัด เรียกว่าบ้านใหญ่เองก็ปรับตัวแล้ว รู้ว่าชาวบ้านเลือกพรรคการเมืองมากขึ้น ฉะนั้นถ้าเขาอยากจะชนะ เขาก็ต้องไปสังกัดพรรคการเมืองที่ประชาชนนิยมด้วย”


ความพยายามทำลายความเข็มแข็งของพรรคการเมืองเริ่มต้นจาก รัฐธรรมนูญ 2550 2560 

ประจักษ์อธิบายให้เห็นว่า หลังจากการรัฐประหาร 2549 โจทย์สำคัญของการรัฐประหารคือ การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง หรือการทำลาย ‘การเมืองแบบทักษิณ’ รูปธรรมที่ออกมาคือการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2550 และถูกตอกย้ำอีกครั้งด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 หลังการรัฐประหารปี 2557 โดยการรื้อฟื้นระบบการเมืองบ้านใหญ่ให้กลับมา ด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบกติกาการเลือกตั้ง กติกาเกี่ยวกับพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ชนะถล่มทลายอีก

ประจักษ์ ย้ำว่า ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นระบบที่ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ใช้ และหากนำระบบเลือกตั้งนี้ไปใช้ในประเทศอื่นๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะ ‘รัฐบาลเบี้ยหัวแตก’ ภายในสภาจะมีพรรคการเมือง 20- 30 พรรคเช่นกัน ระบบนี้จึงเป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองบ้านใหญ่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และให้ ส.ส.เขตเป็นตัวเก็บแต้มก็ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้พรรคการเมืองพยายามดึงกลุ่มบ้านใหญ่เข้าสู่สังกัด รวมทั้งส่งผลให้เกิด ส.ส. งูเห่า เกิดการย้ายพรรคการเมืองอย่างที่ให้ในการเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา เพราะเมื่อพรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอก็ทำให้ ส.ส. มีอำนาจต่อรองได้มากขึ้น ประกอบกับการแก้ไขกฎหมายว่า หาก ส.ส. ถูกขับออกจากพรรคสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ในเวลา 60 วัน แตกต่างจากเดิมที่เมื่อถูกขับออกจากพรรคแล้ว เท่ากับว่าเป็นการสิ้นสภาพ ส.ส. ไปในตัว

 “รัฐธรรมนูญปี 2560 มันไปรื้อฟื้นบ้านใหญ่กลับมาโดยตั้งใจ ไม่ใช่ว่าเป็นอุบัติเหตุเพราะว่าเขาต้องการทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ไม่ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมากเกินไป ทำให้เกิดระบบพรรคเล็กพรรคน้อย เกิดระบบมุ้งการเมือง คณะรัฐประหาร ตัวชนชั้นนำจากข้าราชการมันจะคุมพรรคการเมืองได้ง่าย นักการเมืองจะอ่อนแอ พรรคการเมืองจะอ่อนแอ”


การแก้ไขระบบเลือกตั้งเป็น บัตร 2 ใบจะนำไปสู่อะไร

เมื่อถามว่า การแก้ไขระบบเลือกตั้งที่รัฐสภาเพิ่งมีมติให้นำระบบบัตร 2 ใบ แบ่งเขต/ปาร์ตี้ลิสต์ กลับมาใช้นั้น ถึงที่สุดแล้วจะนำไปสู่สภาพการเมืองแบบใด ประจักษ์เห็นว่า แม้จะมีการตกลงชัดเจนว่าจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ก็ต้องรอดูในการแก้กฎหมายลูก ว่ารายละเอียดของระบบเลือกตั้งจะมีการคิดคำนวณอย่างไร หากแก้กลับไปเหมือนระบบที่ใช้ในปี 2540 ก็จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งกว่าเดิม กลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ มุ้งการเมืองต่างๆ พรรคเล็กก็จะลำบาก 

อย่างไรก็ตามประจักษ์เห็นว่า ในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายลูกคงมีรายละเอียดที่พรรคการเมืองจะต้องต่อรองกันอย่างหนักหน่วง และต้องดูไปถึงกติกาอื่นๆ เช่นการย้ายพรรคการเมืองของ ส.ส. จะสามารถทำได้หรือไม่ ก่อนการเลือกตั้งจะต้องเป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่ากี่วัน ปาร์ตี้ลิสต์มีเพดานไหม สิ่งเหล่านี้สำคัญทั้งหมด อย่างกรณีปี 2540 พรรคที่จะได้ปาร์ตี้ลิสต์จะต้องมีคะแนนเกินร้อยละ 5 จากจำนวนการใช้สิทธิ จึงจะเข้าสู่สภาได้ เพราะตอนนั้นเป็นการออกแบบเพื่อให้เป็นระบบพรรคใหญ่ ไม่ต้องการให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยที่เป็นเบี้ยหัวแตกมากเกินไป 

ประจักษ์ย้ำจุดยืนตัวเองต่อว่า การมีพรรคการเมืองพรรคเล็กที่เป็นพรรคทางเลือกเชิงนโยบาย หรือพรรคเชิงอุดมการณ์นั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย แต่การมีพรรคเล็กที่เป็นเบี้ยหัวแตกแบบการเลือกตั้งในปี 2562 เป็น 10 กว่าพรรคนั้นไม่ได้สร้างประโยชน์กับระบบการเมือง หรือกับประชาชน อีกทั้งยังไม่สามารถผลักดันประเด็นวาระใดๆ ภายในรัฐบาลได้ 

เมื่อถามต่อไปว่า ภายใต้โจทย์การแก้ไขระบบเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอย่างก้าวไกลยังจะมีพื้นที่อยู่ในสนามเลือกตั้งหรือไม่ ประจักษ์เห็นว่า ยังมีโอกาสอยู่ แต่อาจจะยากขึ้นกว่าเดิม เพราะการแก้ครั้งนี้เป็นการแก้ไขที่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใหญ่ อย่างไรก็ตามระบบเลือกตั้งที่แก้กลับไปคล้ายปี 2540 นี้ จริงๆ แล้วสามารถออกแบบให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และเปิดพื้นที่ให้กับพรรคทางเลือกได้โดยการเพิ่มสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ 

เขายกตัวอย่างในบางประเทศให้น้ำหนักกับ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ครึ่งต่อครึ่งกับ ส.ส. เขต หรือบางประเทศให้น้ำหนักกับปาร์ตี้ลิสต์เกินครึ่งหนึ่ง แต่ในประเทศไทยยังคงให้น้ำหนักกับ ส.ส. เขตมากเกินไป โดยกำหนดที่นั่ง ส.ส. เขตไว้ 400 ที่นั่ง ซึ่งอาจจะมากเกินไปและไม่ได้มีความจำเป็นขนาดนั้น จริงๆ แล้วเรามีการกระจายอำนาจ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งานหลักของ ส.ส. เขตควรจะเฉพาะเจาะจงที่เรื่องของกฎหมาย เรื่องนโยบายประเทศในภาพรวม ไม่ใช่การเข้าไปรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ไม่ใช่การสร้างสะพาน ทำถนน ขุดบ่อน้ำ หรือฉีดยากันยุง เรื่องเหล่านี้ควรจบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 


รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับบ้านใหญ่ เปลี่ยนได้ด้วย 3 ปัจจัย

ก่อนหน้านี้ ประจักษ์ได้ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับบ้านใหญ่ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากเศรษฐกิจมีการพัฒนา ทำให้พื้นที่ต่างๆ กลายเป็นเมืองมากขึ้น ประกอบการแก้ไขออกแบบระบบเลือกตั้งที่ไม่เอื้อให้เกิดการดำรงอยู่ของระบบบ้านใหญ่ 

เมื่อลงลึกเข้าไปในรายละเอียด เขาขยายความเพิ่มเติมว่า ในทางเศรษฐกิจ คนที่พูดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนที่สุดคือ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในงานวิชาการเรื่อง สองนครประชาธิไตย 

ประจักษ์ยกตัวอย่างให้เห็นต่อไปว่า เมื่องใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ไม่มีระบบบ้านใหญ่ที่แข็งแรง รายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตในแต่ละครั้งที่มีการเลือกตั้งมักจะเปลี่ยนแปลงไปตลอด รวมทั้งเปลี่ยนพรรคการเมืองด้วย จะเห็นได้ว่าไม่มีตระกูลใดที่สามารถครองอำนาจได้อย่างยาวนาน เนื่องจากสังคมเมืองเป็นสังคมของปัจเจก และคนกรุงเทพฯ ไม่ได้พึ่งพา ส.ส. มาก การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ มีความสะดวกสบายกว่าต่างจังหวัด

ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด ประจักษ์เห็นว่า การสลายขั้วอำนาจบ้านใหญ่ที่ผูกโยงอยู่กับการเลือกตั้งระดับชาติ สามารถแก้โจทย์นี้ได้โดยการกระจายอำนาจ ในความหมายที่เป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจ และกระจายงบประมาณกลับคืนไปสู่การเมืองระดับท้องถิ่น เพื่อให้ปัญหาขั้นพื้นฐานในชีวิตของประชาชนในพื้นที่สามารถตอบโจทย์ได้ทันทีการเมืองท้องถิ่น  

เมื่อถามต่อไปว่า หากเป็นเช่นนั้น จะยิ่งเป็นการสร้างฐานอำนาจของบ้านใหญ่ให้แข็งแรงขึ้น และเข้าไปผูกโยงกับการเมืองระดับชาติได้เหนียวแน่นมากขึ้นด้วยหรือไม่ ประจักษ์เห็นว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็นที่จะได้ข้อสรุปแบบเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย 

เขาย้ำว่า ที่ผ่านมามีอคติมาโดยตลอดเวลาว่า การเมืองท้องถิ่นไม่ควรมีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มีความพยายามกีดกันพรรคการเมืองออกจากการเมืองท้องถิ่น เพราะถูกครอบด้วยวิธีคิดว่า นักการเมืองเลว พรรคการเมืองไม่ดี หากใครมีความใกล้ชิดกับพรรคการเมืองก็จะถูกกล่าวหาว่า มีพรรคการเมืองหนุนหลัง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ตลก 

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การเลือกตั้งท้องถิ่นล้วนแต่มีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งนั้น และเป็นการแข่งขันกันในนามพรรคการเมืองด้วย ในระบอบประชาธิปไตยควรจะเป็นเช่นนั้น ควรมีการแข่งขันกันในเชิงนโยบายทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองระดับชาติและชูการเมืองเชิงนโยบายในการแข่งขันกัน ไม่ใช่เป็นการแข่งกันว่าใครมีระบบอุปถัมภ์แข็งแกร่งกว่ากัน หรือใครใจถึงพึ่งได้มากกว่ากัน 

“ถ้าคุณไม่อยากเห็น พวกบ้านใหญ่มาแพร่อิทธิพล มาฝังรากลึก มาคุม อบต. คุมเทศบาล คุม อบจ.  คุณให้พรรคการเมืองเข้ามาสิ ทำให้มันเป็นเรื่องปกติไป ต่อไปนี้เลือกตั้ง อบจ. อบต. เทศบาล ก็แข่งแบบนั้นไปเลยว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล แล้วเอานโยบายมาแข่งกันเอง ระยะยาวมันก็จะส่งผลดี เพราะว่านโยบายหลายอย่างของแต่ละพรรคมันทำเพียงลำพังที่ระดับชาติไม่ได้ ถ้าเขามีฐานที่ท้องถิ่นด้วยก็จะได้เชื่อมต่อกัน ไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม อันนี้คือระบบสาขาพรรคที่เป็นจริง คืออย่าไปรังเกียจพรรคการเมือง”


การเมืองเชิงนโยบาย + การเมืองบ้านใหญ่ = ?

เมื่อถามต่อไปว่า การเมืองเชิงนโยบายที่ดึงบ้านใหญ่มาอยู่ภายใต้สังกัดพรรค ไปด้วยกันได้กับการพัฒนาประชาธิปไตยหรือไม่ ประจักษ์เห็นว่า ในระยะยาวการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยการเมืองการเลือกตั้งควรแข่งขันกันที่นโยบาย มากกว่าแข่งขันกันที่เครือข่ายอิทธิพล แต่การที่บ้านใหญ่หรือตระกูลการเมืองจะยังคงอยู่ต่อไปก็ไม่ได้ส่งผลในทางลบโดยอัตโนมัติ หากพวกเขาอยู่ภายใต้พรรคการเมืองพยายามจะผลักดันการเมืองเชิงนโยบาย ก็เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้ 

แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหา คือ การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะที่สุดแล้วจะทำให้การแข่งขันเชิงนโยบายมันหายไป  แล้วการเลือกตั้งจะถูกชี้นำด้วยปัจจัยหลักคือเรื่องเครือข่ายอุปถัมภ์ ระบบบ้านใหญ่ และหัวคะแนนอย่างเดียว 


ความสัมพันธ์ระหว่างการซื้อเสียง ความเข้มแข็งของพรรคการเมือง และการเมืองเชิงนโยบาย

ประจักษ์ ชี้ว่า เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับการแจกเงินซื้อเสียงในสังคมไทย และเรื่องนี้มีอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่สังเกตได้ว่าการซื้อเสียงมีปัจจัยน้อยลงต่อการตัดสินใจของประชาชน หากพรรคการเมืองเข้มแข็ง และทำการให้เชิงนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชน 

เขาเห็นว่า หลังปี 2540 เมื่อพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น คนเริ่มตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง เลือก ส.ส. จากนโยบายมากขึ้น ในงานวิจัยต่างๆ มีผลสรุปให้เห็นมากมายกว่า คนที่ซื้อเสียงไม่ได้การันตีว่าจะชัยชนะ 

“มันเริ่มเกิดแนวโน้มที่การจ่ายเงินซื้อเสียงเป็นปัจจัยชี้ขาดน้อยลงหลังปี 2540 แม้ว่าการซื้อเสียงยังมีอยู่แต่อิทธิพลน้อยลง มันไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก ดีด้วยซ้ำที่ได้เศรษฐกิจหมุนเวียน ทุกพรรคเสียเงิน นักการเมืองเสียเงิน ชาวบ้านได้เงินไปใช้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปเลือกไปคนนั้น เขาก็รับจากทุกพรรคแล้วไปเลือกโดยดูปัจจัยอื่นๆ ไม่ได้ดูจากเงินเพียงอย่างเดียว”

แต่อย่างไรก็ตาม ประจักษ์เห็นว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 การเมืองเชิงนโยบายถูกทำให้หายไป และพรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอลง ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ ก็อาจจะทำให้การซื้อเสียงกลับมามีอิทธิพล ในการกำหนดการเลือกตั้งมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่สูสีกัน

เมื่อถามต่อไปว่า มุมมองต่อการซื้อสิทธิขายเสียงในเวลานี้ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งซ่อมสงขลา และชุมพรเมื่อเดือนที่ผ่านมา จะกลายเป็นการก่อตัวให้เกิดความรู้สึกเดียวกันกับผู้เลือกตั้งในทางอีสาน และภาคเหนือที่เคยถูกดูถูกเหยียดหยามหรือไม่ 

ประจักษ์ เห็นว่า สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคืออย่าโทษผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะจริงๆ แล้วชาวบ้านเป็นเหยื่อของระบบแบบนี้ เป็นเหยื่อของการถดถอยไปสู่การเมืองน้ำเน่า การเมืองแบบมุ้ง บ้านใหญ่ การโทษชาวบ้านที่มีทางเลือกจำกัด ไม่มีประโยชน์ ต้องโทษที่คนออกแบบระบบ ออกแบบกติกา รวมถึงการบริหารประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง

ส่วนกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังคงกินแดนในพื้นที่ภาคใต้ได้ในการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง ประจักษ์ มองว่าแท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีมีความผูกโยงกับภูมิภาคแต่อย่างใด เป็นพรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นจากส่วนกลาง แต่ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การที่มีรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาโดยมี ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ตรงนี้เองเป็นการสร้างฐานความผูกพันระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับพรรคการเมือง และเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับเรื่องการจัดสรรทรัพยากร ไม่ใช่เรื่องทางวัฒนาธรรมอย่างเดียว 

พูดให้ถึงที่สุดประจักษ์เห็นว่า การเมืองในภาคใต้ก็มีลักษณะการเมืองระบบบ้านใหญ่ ไม่ต่างจากภาคอีสาน ไม่ต่างจากภาคเหนือ หรือภาคกลาง เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ และบ้านใหญ่ต่างๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะกี่ขั้วต่างก็เข้ามาในภายใต้ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นส่วนใหญ่ 

“อยากให้เข้าใจตรงนี้แหละ มันไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรมที่ไปเถียงกันว่าคนใต้งมงายหรือคนใต้ก็เลือกเพราะปัจจัยทางวัฒนธรรมแบบ ต้องเป็นคนใต้ด้วยกัน คนใต้เลือกประชาธิปัตย์เท่านั้น อะไรแบบนี้ แบบที่งานศึกษาจำนวนหนึ่งไปตอกย้ำแต่เรื่องปัจจัยเชิงวัฒนธรรม นิสัยใจคอ มันไม่ใช่ มันต้องอธิบายด้วยการเมืองเครือข่าย การเมืองเชิงอุปถัมภ์ที่ประชาธิปัตย์เขาทำงานพื้นที่ต่อเนื่องยาวนานมากกว่าพรรคอื่นๆ”