ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง สุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ระหว่างวันที่ 10 มี.ค.-17 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ และ นำส่งตรวจวิเคราะห์ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ว่าได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 หรือไม่ ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
"ผลทดสอบพบว่า มีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จำนวน 13 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 33) และไม่ผ่านมาตรฐาน 26 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 67) นอกจากนี้ ยังพบ 1 ตัวอย่าง มีส่วนผสมของเมธานอล (Methanol) หรือ เมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในการผลิตเครื่องสำอางอีกด้วย" บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าว
ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
(1) จำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563
(2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ
(3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH
ส่วนอีก จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร หรือมีปริมาณแอลกฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 ทั้งนี้แบ่งเป็น
(1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มี.ค.2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง), ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร์
(2) ผลิตหลังวันที่ 10 มี.ค.2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER
(3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา
อย่างไรก็ตาม จากทั้งการสุ่มตรวจทั้ง 39 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel (ยี่ห้อเดียวกัน แต่มี 2 ตัวอย่าง), Top Clean Hand Sanitizer และ ยี่ห้อ L Care (มีการแสดงเลข อย. ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น)
นอกจากนี้ ยังพบอีก 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray (อนันตา สเปรย์) ที่มีการใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต
รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการทดสอบเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์และชนิดของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ที่ทางแลปใช้เป็นการนำเทคนิค Gas Chromatography มาวิเคราะห์ตัวอย่าง ซึ่งเป็นเทคนิคหลักในอุตสาหกรรมยาที่ใช้ในการตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ โดยวิธีวิเคราะห์นี้ถูกพัฒนาและตรวจสอบความถูกต้องให้สามารถตอบโจทย์การทดสอบในผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดมือดังกล่าวได้
"ผลดังกล่าวคงไม่ใช่การตีตราได้ 100 เปอร์เซนต์ ว่าบริษัทใดดีหรือไม่ดีเนื่องจากมีข้อสังเกตจากการทดสอบหลายประการ เช่น เรื่องคุณภาพการผลิต ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน และจากรายละเอียดข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทั้ง 39 ตัวอย่าง พบว่า บางบริษัทรับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายยี่ห้อ แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ทั้งที่ผลิตโดยบริษัทเดียวกัน หรือ บางยี่ห้อระบุว่ามีแอลกอฮอลล์ร้อยละ 75 แต่วิเคราะห์ผลได้เพียงร้อยละ 70 ซึ่งถึงแม้จะผ่านตามประกาศกระทรวงฯ แต่ถือว่ามีปัญหาด้านคุณภาพในการผลิต" รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ กล่าว
ส่วนในประเด็นการปลอมแปลงฉลากผู้ผลิตก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ที่แน่นอน คือ ผลที่ออกมาสะท้อนอย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีในท้องตลาดมีปัญหาและต้องมีการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน
ย้ำผู้ผลิตเครื่องสำอางไม่ปลอดภัยมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ
ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (Alcohol-Bases Hand Sanitizer) ถูกจัดอยู่ในหมวด "เครื่องมือแพทย์" ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุมตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์ โดยส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ เอธิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอล หรือเอ็น - โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น - โพรพานอล และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า "ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปโดยปริมาตร" ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย
เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติยกเลิก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 เพื่อปรับให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าในกลุ่ม "เครื่องสำอางหรือหมวดเครื่องสำอาง" ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจทำให้เกิดสินค้าขาดแคลนได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ
เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียวหรือผสมรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย” และ “หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาทมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา “ตาม มาตรา 60 ของ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดโทษสำหรับ ผู้ที่ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ขายนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือในกรณีเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ผู้ที่ผลิต นำเข้า เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลผลทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ ในการตัดสินใจเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ได้ โดยเจลแอลกอฮอล์ที่ดีนั้น นอกจากต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตรแล้ว ยังไม่ควรแห้งเร็วจนเกินไป เพื่อให้แอลกอฮอล์ได้มีเวลาฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจเกาะอยู่ตามผิวหนังก่อนที่จะระเหย
นอกจากนี้ อย. ควรต้องเร่งแก้ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิต เพราะความเสียหาย คือ การมีผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่แพร่หลาย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถมีผลในการลดเชื้อได้จริง" ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว
ฝาก 3 ข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง-ผู้ประกอบการ
ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริมว่า อยากฝากข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ดังนี้
1. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานแอลกอฮอล์ ในผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ ให้เป็นไปตามประกาศฯ
2.มีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในสถานประกอบการที่ผลิตและนำเข้า หรือขายเหล่านี้ให้มากขึ้น ก่อนการอนุมัติ เพื่อป้องกันมิให้มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ท้องตลาดและส่งผลเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในวงกว้าง
และ 3.ดำเนินการกับบริษัทที่ใช้เมทานอลอย่างจริงจัง และฝากไปถึงบริษัทด้วย ขออย่าใช้เทคนิค การถูกเจ้าอื่นแอบผลิตหรือใช้เลขที่ใบจดแจ้ง หรืออ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ของตนเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :