ไม่พบผลการค้นหา
ครม. มีมติเห็นชอบโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหมโดยสมัครใจ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 เพื่อลดความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง

วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม (กห.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 โดยผู้ที่ลาออกได้รับสิทธิประโยชน์ตามโครงการฯ กำหนด รวมทั้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสนับสนุนดำเนินการการโครงการดังกล่าว ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมจะเริ่มดำเนินการโครงการฯ เดือนกรกฎาคม 2567 และจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อให้ทันเกษียณอายุราชการภายในเดือนตุลาคม 2567 

IMG_85593_20240709145453000000.jpg

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมมีแผนปรับลดกำลังพลนายทหารชั้นนายพลในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวฒิ และนายทหารปฏิบัติการ ให้เหลือร้อยละ 50 ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2571 และต่อมามีแผนปฏิรูปการบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหม กำหนดเป้าหมายการปรับลดกำลังพลลงร้อยละ 5 ของยอดกำลังพล ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2570 กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดทำแนวทางการดำเนินโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านกำลังพลของกระทรวงกลาโหม ได้ตรงจุด มีระยะเวลา 3 ปี และกระทรวงกลาโหมได้ประมาณการผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวม 3 ปี ประมาณ 732 นาย (ปีละ 244 นาย) และสามารถประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 4,479,84 ล้านบาท รายละเอียดสรุปได้ดังนี้

หลักการ – จูงใจข้าราชการทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวฒิ และนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วยให้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการโดยสมัครใจ เพื่อลดความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง

วัตถุประสงค์

1.) เพื่อปรับขนาดอัตรากำลังพลของ กห. ให้มีความเหมาะสม

2.) เพื่อลดความคับคั่งของผู้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวฒิ และนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ซึ่งเป็นกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง

3.) เพื่อประหยัดงบประมาณด้านบุคลากรของรัฐระยะยาว

เป้าหมาย – ข้าราชการทหารชั้นยศพันเอก นาวาเอกและนาวาอากาศเอกขึ้นไป ซึ่งดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวฒิ และนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และเป็นผู้มีเวลาราชการ 25 ปีขึ้นไป ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ นับถึงวันก่อนออกจากราชการตามโครงการฯ และมีเวลาราชการเหลือ 2 ปีขึ้นไป นับตั้งแต่วันที่ออกจากราชการตามโครงการฯ 

การดำเนินโครงการ/เงื่อนไข

1.จัดสรรจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ แยกตามชั้นยศและตำแหน่งให้กับหน่วยขึ้นตรง กห. กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ

2.แต่งตั้ง คกก. พิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และคัดเลือกกำลังพลเข้าร่วมโครงการตามเอนไขที่กำหนด

3.กรณีมีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก ให้พิจารณาจากปัจจัยตามลำดับดังนี้ ตำแหน่ง อายุ 

4.ไม่ให้นำอัตราตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวฒิ และนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ที่ว่างจากการเข้าร่วมโครงการฯ มาใช้สำหรับการบรรจุทดแทนกำลังพลในตำแหน่งอัตราแรกบรรจุทุกกรณี

5.ผู้ที่จะปรับทดแทนจะต้องเป็นผู้เหลืออายุราชการไม่เกิน 1 ปี หรือจะเกษียณอายุราชการในปีงบฯ นั้นเท่านั้น เพื่อ กห. จะดำเนินการปิดอัตราดังกล่าวต่อไป

6. ตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ไม่ให้มีการบรรจุทดแทนทุกกรณี

7.ห้ามบรรจุกลับเข้ารับราชการประจำ และห้ามทำสัญญาจ้างกลับเข้าเป็นพนักงานราชการ

สิทธิประโยชน์ อาทิ สิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินก้อน 7-10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินหรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นๆ ตามสูตรการคำนวณ ดังนี้ 

เงินก้อน=[5+อายุราชการที่เหลือ (ปี)] x เงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) แต่สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี)

แหล่งเงินงบประมาณ – ใช้งบประมาณด้านบุคลากรของกระทรวงกลาโหมดำเนินการภายในกรอบวงเงินงบประมาณที่ กระทรวงกลาโหมจัดสรรในวงเงิน 600 ล้านบาท โดยไม่ของบกลางเพิ่มเติม แบ่งการดำเนินโครงการฯ ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 ในวงเงิน จำนวน 200 ล้านบาท/ปี

การรายงานผลการปฏิบัติ – หน่วยขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ รายงานผลการดำเนินโครงการฯ รวมถึงปัญหาข้อขัดข้องให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ภายใน 30 วัน หลังจากวันที่มีคำสั่งให้ข้าราชการทหารออกจากราชการของแต่ละปี เพื่อรวบรวมและสรุปผลนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม