จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ "กาฬโรคแอฟริกาในม้า" หรือ African Horse Sickness (AHS) ซึ่งทำให้เกิดการล้มตายของม้าอย่างเฉียบพลัน เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีแมลงดูดเลือดอย่าง ยุง ริ้น เหลือบ เป็นพาหะ พื้นที่แพร่ระบาดในแถบจังหวัดนครราชสีมา และเริ่มกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ
นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดการล้มตายของม้าอย่างเฉียบพลันในแถบจังหวัดนครราชสีมา กรมปศุสัตว์ได้ส่งชุดปฏิบัติการสอบสวนและควบคุมโรค ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าเป็น "กาฬโรคแอฟริกาในม้า" African Horse Sickness (AHS) โรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และพบได้ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น
จากการสันนิษฐานคาดว่า มีการแพร่ระบาดมาจากสัตว์ที่นำเข้ามาจากประเทศแอฟริกา ซึ่งได้กำหนดมาตรการการนำเข้าและการเคลื่อนย้ายให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกัน และควบคุมโรคระบาดสัตว์ โดยดำเนินการอย่างมีขั้นตอน จึงต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของม้าอย่างเร่งด่วนให้ช่วยติดตั้งมุ้งป้องกันแมลงดูดเลือด เพื่อลดการแพร่ระบาดโรคดังกล่าวสู่ม้าทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดการตายของม้าให้น้อยที่สุดในขณะนี้
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ชี้แจงให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ฟาร์มเลี้ยงม้า และคนเลี้ยงม้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมออกมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรค โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
สัตว์ที่นำเข้ามาจากทวีปแอฟริกา ต้นตอของโรคระบาด
1. กักกันพื้นที่ งดการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ โดยเด็ดขาด
2. ป้องกันแมลงดูดเลือด โดยการติดตั้งมุ้ง และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือดในพื้นที่
3. กรณีไม่มีงบประมาณในการสร้างมุ้ง กรุณาติดต่อสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ขอรับความช่วยเหลือ เพื่อให้ลดการระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด
ม้าทั่วไป ในประเทศ
1. กักกันพื้นที่ งดการเคลื่อนย้ายม้าออกนอกพื้นที่ โดยเด็ดขาด
2. ป้องกันแมลงดูดเลือด โดยการติดตั้งมุ้ง และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือดในพื้นที่
3. วัคซีน (Vaccine) กรมปศุสัตว์ จะเป็นผู้ดูแล รับผิดชอบ และดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว
ล่าสุดกรมปศุสัตว์ ได้นำเข้าวัคซีน ในการป้องกัน “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” (AHS) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย Maxwin เป็นผู้บริจาควัคซีนชนิดรวม 1 3 4 จำนวน 4,000 โดส
หลักเกณฑ์การฉีดวัคซีน มีขั้นตอน ดังนี้
1. ตรวจเลือดม้า และป้องกันแมลงดูดเลือด โดยอยู่ในมุ้ง
2. ติดไมโครชิพประจำตัวม้า
3. จัดทำ ID หรือ Passport เพื่อเก็บข้อมูล
4. ฉีดวัคซีน ฟรี พร้อมกักกันพื้นที่ให้อยู่ในคอกเท่านั้น เป็นเวลา 28 วัน
5. ตรวจเลือดอีกครั้ง เพื่อติดตามผล
ประเภทวัคซีน AHS มีทั้งหมด 9 ชนิด (Zero Type) ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นชนิดที่ 1
1. วัคซีนรวม 1 3 4 จำนวน 4,000 โดส เป็นการสั่งเข้ามาใช้ในกรณีฉุกเฉิน จะฉีดให้กับม้าที่มีผลเลือดเป็นลบ คือยังไม่เป็นโรค เฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ระยะทางจากจุดเกิดเหตุ 50 กิโลเมตร
2. วัคซีนเดี่ยว เฉพาะชนิดที่ 1 จะนำเข้ามาในประเทศไทย ภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้
ด้านนายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม ในฐานะนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย มีนโยบายที่จะให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เพื่อลดความวิตกกังวล และเพื่อไม่ให้ข้อมูลบิดเบือน พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือในทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ ที่ผ่านมาสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุม หารือกับกรมปศุสัตว์ เกี่ยวกับแนวทางป้องกันการแพร่รระบาดของ "กาฬโรคแอฟริกาในม้า" อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการยับยั้งการแพร่ระบาดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง