ไม่พบผลการค้นหา
โมเดอร์นาฟ้องร้องไฟเซอร์และไบออนเทค ข้อหาละเมิดสิทธิบัตรในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตัวแรก ที่ได้รับการอนุมัติในสหรัฐฯ โดยโมเดอร์นาอ้างว่า ไฟเซอร์และไบออนเทคคัดลอกเทคโนโลยีที่ตนพัฒนาขึ้นเมื่อหลายปีก่อนเกิดการระบาดใหญ่ในปัจจุบันนี้

โมเดอร์นากล่าวในการแถลงข่าววันนี้ (26 ส.ค.) ว่า ตนทำการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทางไฟเซอร์และไบออนเทค ในศาลแขวงสหรัฐฯ มลแมสซาชูเซตส์ และศาลภูมิภาคเมืองดุสเซลดอร์ฟในเยอรมนี “เรากำลังยื่นฟ้องเพื่อปกป้องแพลตฟอร์มเทคโนโลยี mRNA ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งเราเป็นผู้บุกเบิก ลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้าง และจดสิทธิบัตรในช่วงทศวรรษก่อนการระบาดของโควิด-19” สเตฟาน บานเซล ผู้บริหารระดับสูงของโมเดอร์นาระบุ

โมเดอร์นาที่พัฒนาวัคซีนด้วยตัวเอง และสองบริษัทที่ร่วมมือกันอย่างไฟเซอร์ในสหรัฐฯ และไบออนเทคในเยอรมนี เป็นสองกลุ่มบริษัทแรกที่พัฒนาวัคซีนตอบรับกับโควิด-19 ที่อุบัติใหม่ ทั้งนี้ โมเดอร์นาก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ในเมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ โดยบริษัทเป็นผู้ริเริ่มเทคโนโลยีวัคซีน mRNA ซึ่งช่วยให้มีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน

จากปกติที่กระบวนการอนุมัติวัคซีนจะใช้เวลาหลายปีก่อนหน้านี้ แต่การรับรองวัคซีน mRNA เสร็จสิ้นลงภายในหลักเดือน โดยการพัฒนาวัคซีน mRNA ช่วยสอนเซลล์ของมนุษย์ถึงวิธีสร้างโปรตีนที่จะกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉินก่อนกับทาง ไฟเซอร์และไบออนเทค เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และหลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาแก่โมเดอร์นา ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว ที่ทำรายได้ให้บริษัทไป 1.04  หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.74 แสนล้านบาท) ในปีนี้ ในขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์สร้างรายได้ไปประมาณ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 7.9 แสนล้านบาท)

โมเดอร์นาอ้างว่า ไฟเซอร์และไบออนเทคลอกเลียนแบบเทคโนโลยี mRNA ที่ตนจดสิทธิบัตรเอาไว้ในปี 2553 ถึง 2559 โดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนที่โควิด-19 จะเริ่มระบาดในปี 2562 และระบาดทั่วโลกในช่วงต้นปี 2563 อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีสิทธิบัตรไม่ใช่เรื่องแปลกในช่วงแรกของเทคโนโลยีที่เพิ่งเกิดใหม่

ในช่วงต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โมเดอร์นากล่าวว่าตนจะไม่บังคับใช้สิทธิบัตรวัคซีนของตน เพื่อช่วยให้ผู้อื่นพัฒนาวัคซีนของตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง แต่ในเดือน มี.ค. 2565 โมเดอร์ออกมาระบุว่าตนหวังว่าบริษัทต่างๆ อาทิ ไฟเซอร์และไบออนเทคจะเคารพสิทธิ์ในทางทรัพย์สินทางปัญญาของตน โมเดอร์นาบอกอีกว่าตนจะไม่เรียกค่าเสียหายสำหรับการกระทำใดๆ ก่อนวันที่ 8 มี.ค. 2565

ปัจจุบันนี้ ไฟเซอร์และไบออนเทคเผชิญหน้ากับการฟ้องร้องจากบริษัทอื่นๆ ในคดีการละเมิดสิทธิบัตรของตน โดยไฟเซอร์และไบออนเทคระบุว่า พวกตนจะปกป้องสิทธิบัตรของตนอย่างแน่วแน่ โดยการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นมีทั้งในเยอรมนีที่เคียวแวค ตัดสินใจฟ้องร้องในคดีลักษณะเดียวกันต่อไบออนเทคในประเทศตน

นอกจากนี้ โมเดอร์นายังถูกฟ้องในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ และมีข้อพิพาทอย่างต่อเนื่องกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ เกี่ยวกับสิทธิ์ในเทคโนโลยี mRNA

ในแถลงการณ์วันนี้ โมเดอร์นากล่าวว่า ไฟเซอร์และไบออนเทคได้จัดสรรทรัพย์สินทางปัญญาสองประเภท โดยประเภทแรกเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง mRNA ที่โมเดอร์นากล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ของตนเริ่มพัฒนาในปี 2553 และตนเป็นเจ้าแรกที่ตรวจสอบความถูกต้องในการทดลองกับมนุษย์เมื่อปี 2558

“ไฟเซอร์และไบออนเทคได้นำวัคซีนสี่ชนิดที่แตกต่างกันไปทำการทดสอบทางคลินิก ซึ่งรวมถึงตัวเลือกต่างๆ ที่จะหลีกเลี่ยงเส้นทางทางนวัตกรรมของโมเดอร์นา อย่างไรก็ตาม ไฟเซอร์และไบออนเทคได้ตัดสินใจดำเนินการกับวัคซีนที่มีการดัดแปลงทางเคมี mRNA เดียวกันกับวัคซีนของมันในท้ายที่สุด” โมเดอร์นากล่าวในแถลงการณ์

การละเมิดข้อกล่าวหาที่สอง ที่โมเดอร์นากล่าวหาต่อไฟเซอร์และไบออนเทค เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสโปรตีน ซึ่งโมเดอร์นากล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ของตนได้พัฒนาขึ้นในขณะที่สร้างวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) ทั้งนี้ แม้ว่าวัคซีน MERS จะไม่เคยออกสู่ตลาด แต่การพัฒนาดังกล่าวช่วยให้โมเดอร์นาเปิดตัววัคซีนโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ไฟเซอร์ระบุว่าบริษัทของตนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้ในขณะนี้



ที่มา:

https://www.reuters.com/legal/moderna-sues-pfizerbiontech-patent-infringement-over-covid-vaccine-2022-08-26/?fbclid=IwAR1pXps8BgQixm6kVsfb3cY8zYbn7ad6v1SGFKw5tZB7f2DFChArFrf9VXk