เกรซ - พัชร์สิตา อธิอนันตศักดิ์ นางเอกหน้าสวยใส ไม่ได้มีดีแค่ในจอ เพราะนอกจอเธอกลายเป็น ‘พนักงานฉุกเฉินการแพทย์’ สังกัดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพราะเห็นว่าการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเติมเต็มไลฟ์สไตล์ชีวิตของตัวเอง
ประสบการณ์ที่ได้รับยังทำให้เธอเข้าใจความรัก ความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบรวมถึงความเป็นมนุษย์ในสังคมมากยิ่งขึ้นด้วย
การเป็นจิตอาสาของนางเอกสังกัดช่อง 7 สี เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยวิธีคิดอยากช่วยเหลือผู้อื่น และอยากเข้าใจกระบวนการที่เป็นมืออาชีพ สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับคนได้อย่างแท้จริง หลังจากเคยเจอประสบการณ์ตรงบ่อยครั้งแต่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างเต็มที่หรือถูกต้อง
เกรซ ตัดสินใจเข้าไปอบรมตั้งแต่การช่วยเหลือชีวิตคนระดับพื้นฐาน การห้ามเลือด การใช้ผ้าก็อซและเบตาดีน จากนั้นขยับขึ้นมาเป็นการเรียน EMR (Emergency Medical Responder) หรือ อาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ ใช้เวลาเรียน 5 วัน ต่อด้วยเรียนในหลักสูตรที่เข้มข้นขึ้นคือ EMT (Emergency Medical Technician) หรือการเป็นพนักงานฉุกเฉินการแพทย์กับทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ใช้เวลาเรียนกว่า 115 ชั่วโมง และเก็บประสบการณ์อีก 10 เคส
เกรซเล่าว่า การเรียนอบรมพนักงานระดับ EMT ต้องจัดสรรเวลาในชีวิตและกระทบกับการทำงานบันเทิง โดยจันทร์ – ศุกร์ คือการเรียน ส่วนเสาร์ – อาทิตย์ ให้เวลากับงานบันเทิง
“เมื่อเกรซเลือกมาทำตรงนี้แล้ว ก็อยากให้คุ้มค่าและคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุด”
แรงบันดาลในการทำงานจิตอาสาของเกรซ คือ เหล่าพนักงานผู้เสียสละของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งแต่ละคนมีอาชีพการงานที่แตกต่าง บางคนเป็นพนักงานบริษัท บางคนทำธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นลูกจ้าง แต่ทุกคนมารวมตัวกันอยู่ในสังคมจิตอาสา
สิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกยกย่องมาก คือเรื่องของการจัดสรรเวลา เพราะแต่ละอาชีพค่อนข้างมีเวลาการทำงานที่ชัดเจน จันทร์ – ศุกร์ แตกต่างจากเธอที่เป็นนักแสดง ซึ่งแม้จะมีปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลาบ้าง แต่ถือเป็นอาชีพอิสระ
เรื่องต่อมาที่น่าชื่นชมคือ ‘ป่อเต็กตึ๊ง’ ใช้เงินส่วนตัวในการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เอง อาทิ รถพยาบาล อุปกรณ์กู้ชีพในรถ เพื่อต่อลมหายใจให้กับผู้อื่น
นอกเหนือจากนั้น ความสามารถของหลายคนในอาชีพนี้ เกรซยังถือเป็นเรื่องน่ายกย่องและเชิดชูให้พวกเขาเป็นไอดอล เช่น บางคนสามารถทำได้ทั้งดำน้ำ ผจญเพลิง โรยตัวจากที่สูง ปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ
“สิ่งที่ทำให้พวกเขาอยู่จุดนี้ได้ น่าจะเพราะใจรักจริงๆ มันเป็นแรงบันดาลใจให้เรา เกรซมองว่าเป็นความเท่ พอมองว่าเท่ปั๊บ เราก็จะค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปว่า เฮ้ย ความเท่อันนี้มันต้องมีอะไรบางอย่างที่แอบแฝงอยู่ข้างในแน่ๆ”
กว่า 3 ปีเต็มที่เกรซได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เธอบอกว่า ผลตอบแทนด้านตัวเงินเทียบไม่ได้กับการทำงานในวงการบันเทิง แต่ผลตอบแทนทางใจ คือความรู้สึกดี มีคุณค่าอย่างบอกไม่ถูก ทั้งคำขอบคุณ คำชื่นชมจากผู้อื่น สิ่งเหล่านี้คุ้มค่ามาก
นางเอกสาวเชื่อว่าการได้ช่วยเหลือผู้อื่น แบ่งปันความรู้และโอกาส จะมีผลให้ผู้ที่ได้รับนั้นส่งต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้ออกไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด
นักแสดงท่านอื่นอาจเลือกช่วยเหลือสังคมด้วยการบริจาคสิ่งของให้ผู้ด้อยโอกาส สร้างโรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลน โดยไม่ต้องลงพื้นที่ แต่สำหรับเกรซแล้ว เธอบอกว่า “เราเป็นสายลุย” โดยมองว่าการลงแรงกาย แรงใจ เป็นสิ่งที่ถนัดมากกว่า แม้จะถูกครหาว่าสร้างภาพ เนื่องจากเป็นนักแสดง แต่เธอก็ไม่เคยนำคำพูดเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรค เลือกที่จะพิสูจน์ผ่านการกระทำว่างานจิตอาสาคือสิ่งที่เต็มใจทำเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นอย่างแท้จริง
“ถูกเมาท์บ้างอะไรบ้าง เฮ้ย...จะไหวเหรอ มาทำไม ไปถ่ายละครไป๊ แต่เรารู้สึกว่าต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าจริงๆ แล้วฉันไหวนะเว้ย ฉันถึงเลือกที่จะมาทำได้ มันก็ก้าวข้ามผ่านมาได้ค่ะ คำว่านางเอก หรือคำว่านักแสดงมันไม่ได้เป็นอุปสรรคในการที่เราจะไปช่วยเหลือใคร”
นางเอกสาวลูกครึ่งอินเดีย ยืนยันว่าสิ่งที่กระทำไม่ใช่การสร้างภาพหรือแสดง แต่เป็นการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ไปแค่หน้างาน ถ่ายรูปลงโซเชียล เขียนแคปชั่น โพสต์เรียกยอดไลก์แล้วจบ
“คำวิจารณ์หรืออุปสรรคทั้งหมดมันก็ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” เธอมองโลกในแง่บวก และไม่รู้สึกแปลกใจที่คนภายนอกที่รู้จักเพียงผิวเผินจะเห็นว่าบางอย่างเป็นการสร้างภาพ เพราะพวกเขาไม่ได้สัมผัสหรือร่วมงานกันจริงๆ
ประสบการณ์จากการลงพื้นที่ ทำให้เธอพบเห็นและสัมผัสกับ “ความรักหลากหลายรูปแบบ” ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จนเกิดความเข้าใจมากกว่าแค่การสวมบทบาทในละคร
เกรซ เล่าว่า เคสประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ทำให้ได้เห็นมุมมองความรักจากญาติที่มีต่อผู้ตาย เป็นความรักแบบสิ้นหวัง หดหู่ เสียใจ
ในช่วงแรกเกิด ได้สัมผัสประสบการณ์ช่วยทำคลอดหญิงสาว ได้เห็นความรักของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ความรักจากแม่ที่มีให้ลูก แววตาที่คนเป็นแม่เห็นลูกออกมาลืมตาดูโลก มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ มีรอยยิ้มแห่งความสุข
“มันทำให้เรามองโลกในมุมที่กว้างขึ้น มีทั้งแง่ดี แง่ร้าย แง่ดีมันก็บริหารจัดการได้จากการช่วยเหลือแล้วเกิดความสุข ส่วนแง่ร้าย มันก็สามารถที่จะมองข้ามไปได้ ถ้าเกิดว่าเราเอากำลังใจจากการช่วยเหลืออันนี้มาเติมเต็มค่ะ”
หลังผ่านการอบรม 115 ชั่วโมง หรือ 1 เดือนเต็มๆ แม้จะอยากทำงานเป็นพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ แต่เกรซก็ไม่อยากทิ้งโอกาสสดใสในวงการบันเทิงเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่รักและชอบ อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ทำงานในลักษณะ Shift Work หรือการทำงานเป็นกะ เช้า บ่าย ดึก
“มองว่าในเมื่อตอนนี้เรายังมีโอกาสในวงการบันเทิงอยู่ เราก็ทำให้มันเต็มที่ จนกว่าโอกาสนี้มันจะหมดไป ส่วนสิ่งที่เรียนมา มันก็สามารถที่จะเอามาใช้ในมุมมองของการเป็นจิตอาสาได้ ถ้าเกิดสมมติว่าวันหนึ่งเราไม่ได้ทำงานในวงการแล้ว เราก็ยังย้อนกลับมาทำอันนี้ได้ เพราะมันก็เป็นความรู้ที่ติดตัวเราไปตลอด”
นักแสดงสาวแนะนำทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานภาครัฐควรเพิ่มหลักสูตรวิชากู้ชีพลงไปในบทเรียนพื้นฐาน เพราะจากประสบการณ์ในการลงพื้นที่ เห็นว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ไม่รู้พื้นฐานของการปฐมพยาบาล หรือทำ CPR อย่างถูกต้อง วิชาการกู้ชีพควรถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ในวิชาใดวิชาหนึ่ง เช่น พละศึกษา แทนที่จะใช้คาบเรียนตลอดทั้งเทอมในการเล่นกีฬา ควรให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำ CPR ที่ถูกต้อง เพราะหากเด็กๆ มีความรู้ ความเข้าใจ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม สามารถช่วยเหลือและถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย