ไม่พบผลการค้นหา
7 ธ.ค.64 รายการ CARE Talk x CARE ClubHouse จัดพูดคุยกับ 'พี่โทนี่' หรือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อเรื่อง 'Omicron - Oh My God ลุงตู่'

7 ธ.ค.64 รายการ CARE Talk x CARE ClubHouse จัดพูดคุยกับ 'พี่โทนี่' หรือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อเรื่อง 'Omicron - Oh My God ลุงตู่'

โทนี่กล่าวว่า ไวรัสเมื่อกลายพันธุ์จะไม่รุนแรงขึ้น อัตราการตายจากสายพันธุ์กลายพันธุ์จะต่ำมาก ในโลกยังหาความรู้ที่ลงตัวไม่ได้ แต่ถ้าจับหลักได้จะไม่ตกใจ แต่วันนี้ผู้นำโลกทั้งหลายมักใช้อำนาจตัดสินใจล็อคดาวน์ แต่ลืมดูด้านกลับว่าการดิ้นรนหากินของคนวงกว้างลำบากมากและยากจะฟื้นตัว

"อันนี้ผมชมลุงตู่นะ ลุงตู่ไม่ตกใจ"โทนี่ระบุ 

เขากล่าวด้วยว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนเชื้อตายเยอะ ควรเตรียมบูสเตอร์ช็อต ซึ่งต้องเป็น mRNA ให้เพียงพอ ตอนนี้สิ่งที่ทั่วโลกกำลังเตรียมตัวคือ เข็มที่ 3 ที่เป็น mRNA 

"ผมข้องใจรัฐบาลนี้ ไฟเซอร์ โมเดอร์นากลายเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนต้องออกตังค์เอง ไฟเซอร์ส่วนหนึ่งไม่เสียเงินเพราะเขาบริจาคมา รัฐบาลดูเหมือนชอบซื้อตัวที่ประสิทธิภาพต่ำกว่า มีตังทอนหรือเปล่าไม่แน่ใจ" 

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเตรียมอีกคือ ยารักษาไม่ว่าของบริษัทเมอร์กหรือไฟเซอร์ แต่กรณีของไฟเซอร์ที่ไม่อนุญาตให้ไทยผลิตขณะที่อนุญาตให้อีกหลายประเทศทำได้ ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร รัฐบาลน่าจะเจรจาขอมาผลิต เพราะกินโดสหนึ่ง 40-50 เม็ด ต้องใช้จำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ควรรีบผ่อนปรนให้คนกลางคืน คนท่องเที่ยว ได้ทำมาหากินได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ชดเชยอะไรพวกเขาเลย คนทำงานกลางคืนส่วนใหญ่เป็นคนจนทั้งนั้น 

"รัฐบาลต้องให้ความรู้กับประชาชน อย่าตกใจ ให้ประชาชนระมัดระวัง ปรับตัวเข้าสู่ new normal ซึ่งไม่ใช่แค่มาตรการสาธารณสุข แต่หมายถึงวิธีการทำมาหากิน ระบบเศรษฐกิจด้วย" 

สิ่งที่ต้องจับตาอีกอย่างคือ วิกฤตหนี้ของโลก ขณะนี้สหรัฐอเมริกาเตรียมระวังเงินเฟ้อซึ่งมีเหตุมาจากสินค้าราคาสูงขึ้น เพราะ supply chain สะดุดลง ส่วนที่คนกังวลคือ ถ้าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไรจะเดือดร้อน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่กู้เงินเป็นดอลลาร์ แนวโน้มจะมีการขึ้นดอกเบี้ย สิ่งที่เขาห่วงอีกข้อคือ หนี้ที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นหนี้กันเยอะ หลายประเทศหนี้สินล้นพ้นตัวไม่น่าจะใช้หนี้ได้และยังต้องการกู้อีก และข้อสุดท้ายคือเรื่อง climate change ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเยอะเกินไป ไม่ใช่จะดี

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ถามถึงการจัดการเงินสำรองระหว่างประเทศ หลังโฆษกรัฐบาลระบุว่า ประเทศไทยยังแข็งแกร่งเพราะมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงมากเป็นอันดับ 12 ของโลก โทนี่แสดงความเห็นว่า เงินสำรองระหว่างประเทศมีเกณฑ์ที่ควรมีไว้จำนวนหนึ่ง ประมาณ 3 เดือน หรือมากที่สุด 5 เดือนของมูลค่าการนำเข้าของประเทศ แต่หากมากไป เก็บไว้เฉยๆ จะถือว่าเป็น 'เงินขี้เกียจ' เพราะควรนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนและการพัฒนา 

"อย่าง UAE เขาเอาไปลงทุนในหลายๆ อย่าง ซื้อโน่นซื้อนี่โดยมีระบบป้องกันความเสี่ยง ได้ผลตอบแทนเยอะกว่าเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศเท่านั้น" โทนี่กล่าว และระบุว่า mentarity ของคนไทยโดยเฉพาะรุ่นเก่าหรือข้าราชการมักสอนลูกให้หยอดกระปุกออมสินแต่เด็ก แต่ออมถึงจุดหนึ่งต้องเอาไปลงทุน เงินอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มันต้องเคลื่อนไหวลงทุนตลอดเวลา นี่เป็นเหตุผลให้ประเทศเล็กอย่างสิงคโปร์ร่ำรวยกว่าหลายประเทศทั่วโลกเพราะรู้จักลงทุน 

นอกจากนี้ยังมีการสนทนาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ระบบรถไฟฟ้าที่ราคาแพง รวมถึงการมีโรงไฟฟ้าของ 'ประชาชน' ซึ่งเป็นโครงการที่เคยคิดทำแต่โดยปฏวัติเสียก่อน 

ปัญหาจะนะเกินจากกระบวนการเฮงซวยในระบบราชการ

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดการกับการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เรื่องนี้โทนี่ระบุว่า สาเหตุเป็นเพราะกระบวนการเฮงซวยในระบบราชการ นั่นคือ ศอ.บต. ซึ่งแรกเริ่มตั้งมาเพื่อทำงานคู่ขนานเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ ในยุคที่ตนเป็นรัฐบาลตัดสินใจยุบทิ้งเพราะมีประโยชน์น้อย ตอนหลังมีตั้งใหม่ เมื่อพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ไปทำก็ทำได้ดี แต่ขณะนี้รัฐบาลดันไปให้อำนาจ ศอ.บต. จัดการวางยุทธศาสตร์พื้นที่ภาคใต้ ให้มีโรงฟ้า นิคมอุตสาหกรรม แบบเดียวกับอีอีซี แล้วอยู่ๆ ก็ไปจิ้มเลือกพื้นที่เลย กว้านซื้อที่ดินกันอุตลุด ซึ่งตรงนั้นมันสวยงาม เป็นพื้นที่ประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านเกรงสิ่งแวดล้อมจะเสีย นายคนหนึ่งคงเข้าหา ‘พี่ป้อม’ เพราะคุม ศอ.บต. และมีการสั่งการให้ทำได้ 

“วันนี้รู้ไหมว่าไฟฟ้าภาคใต้ ความต้องการน้อยกว่ากำลังผลิต แล้วจะไปทำอีก สุดท้ายจะกลายเป็นภาระของประชาชน เพราะต้องเซ็นสัญญากับหน่วยงานของรัฐ เก็บตังค์มาก็จ่ายให้เอกชนที่ลงทุน ทั้งที่ไฟใช้ไม่หมด ไม่มีตังค์จ่ายก็ขึ้นค่าไฟ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า บริหารไม่เป็น” 

โทนี่ยังกล่าวถึงยุคที่เป็นรัฐบาลซึ่งเคยทำโรงแยกก๊าซที่จะนะซึ่งต่างจากกรณีปัจจุบัน เพราะตอนนั้นมี JDA หรือเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-มาเลเซีย หากไม่เอาท่อก๊าซขึ้นฝั่งไทย มาเลเซียก็จะเอาไปใช้หมด และพื้นที่ตรงนั้นไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ แม้มีการคัดค้านเยอะพอสมควร แต่ตอนหลังก็เคลียร์จนเหลือน้อยแล้ว และแม้มีจะมีการสลายการชุมนุมก็ไม่ได้ใช้ คฝ. เพราะคฝ.มือหนัก 

เมื่อถามถึงข้อแนะนำถึงนายกฯ ในการจัดการปัญหาจะนะ โทนี่กล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดคือทำให้ถูกต้องเสีย เพราะ ศอ.บต.ไม่มีอำนาจทำเรื่องพวกนี้ เรื่อง EIA ต้องทำ และต้องประมูลเป็นเรื่องเป็นราว ต้องมีหลักการให้ชัดเจน ตรวจพื้นที่ให้ดีว่าจะทำลายระบบนิเวศไหม จะสร้างคาร์บอนเท่าไร 

ทั้งนี้ โทนี่ระบุว่า เรื่องไฟฟ้า รัฐทำได้ 3 ระดับ คือ เป็นผู้ผลิตเอง ให้เอกชนร่วมผลิต และเป็น regulator กำหนดเงื่อนไขและราคาของเอกชนที่มาผลิต 

“รัฐถ้าจะผลิตไฟฟ้าน้อยก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะไม่ได้ประสิทธิภาพกว่าเอกชน เพียงแต่การกำหนดราคาต้องแฟร์ ไม่ใช่อยู่บนพื้นฐานความไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ” โทนี่กล่าวและว่า กฟผ.เองก็ต้องเตรียมวางแผนการเงินสำหรับการปรับตัวในอนาคต

เปลี่ยนการศึกษา สร้างคนให้มีจินตนาการ รองรับโลกใหม่แบบ Metaverse

อีกประเด็นหนึ่งคือ เมทาเวิร์ส โทนี่ระบุว่าจะเป็นเทรนที่สำคัญในอนาคต ดังนั้น ระบบการศึกษาต้องให้เด็กเริ่มเขียน coding ได้แล้ว และที่สำคัญคือต้องเปิดให้เด็กมีความรอบรู้ และมีจินตนาการ เพราะเมทาเวิร์ส คือโลกที่เราสามารถเอาจินตนาการของตัวเราเข้าไปใส่แล้วไปร่วมกับคนอื่น 

"วันก่อนน้องอิ๊งบอกผมว่า มีไอเดียที่จะให้คนไทยมีจินตนาการ แต่ก่อนเป่านกหวีดปี๊ด อยากให้ทุกคนได้เตรียมความพร้อม พอเป่านกหวีดปี๊ด เราจะใช้เวลาไม่นานสร้างเศรษฐีใหม่ได้อีกเยอะเลย แล้วถ้าเราวางกติกาให้ดี เราจะได้เงินทั้งโลกเข้ามาในประเทศเอามาใช้หนี้ที่ลุงทำไว้ได้สบายมาก เขาเล่าให้ผมฟัง แต่ยังไม่บอกรายละเอียด" 

"ประเทศต้อง relax กว่านี้ ไม่ใช่อยู่แต่กับ law and order ต้องอยู่กับความรอบรู้ จินตนาการ อนาคต ... ฟรีดอมในการคิด เป็นสิ่งที่เราโหยหาไปสู่โลกใบใหม่ แน่นอนเมทาเวิร์สเป็นเรื่องใหม่ มีข้อเสียด้วย รัฐบาลต้องควบคุมข้อเสียด้วยโดยเฉพาะเรื่องการเก็บข้อมูลผู้ใช้ สำคัญคือต้องรู้เท่าทัน ถ้าไม่รู้เท่าทันก็โดนกิน"