สำนักข่าวไทยรายงาน นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้เซ็นลงนามหนังสือคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการด่วนที่สุดแจ้งไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เกี่ยวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563 ให้รับทราบและถือปฏิบัติ
พร้อมให้แจ้งสถานศึกษาในสังกัดกำกับดูแลยกเลิกการใช้บังคับระเบียบสถานศึกษาเดิมเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน เมื่อปี 2518 ซึ่งหากสถานศึกษาใดยังใช้ระเบียบเดิม จะต้องวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมนักเรียนขึ้นใหม่ตามประกาศกระทรวง หรือหากสถานศึกษาใดจะออกระเบียบทรงผมนักเรียนขึ้นใหม่ต้องยึดหลักประกาศกระทรวงข้อ 7 ต้องดูความเหมาะสม โรงเรียนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบกระทรวง ก่อนประกาศใช้ ซึ่งหากโรงเรียนใดมีการขอความเห็นชอบเรื่องระเบียบทรงผมจากคณะกรรมการสถานศึกษาก่อน วันที่ 30 มีนาคม 2563 ต้องมีการขอความเห็นชอบใหม่
นายประเสริฐ ยอมรับว่า ทรงผมนักเรียนที่เป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ เนื่องจากกลุ่มนักเรียนต้องการให้โรงเรียนดำเนินการตามข้อ 7 ของกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่ต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ เพราะขณะนี้มีสถานศึกษาบางแห่งยังยึดกฎระเบียบฉบับเดิมอยู่ ซึ่งจากนี้ไปสถานศึกษาจะต้องจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน และครู เพื่อออกเป็นข้อปฎิบัติการไว้ทรงผมนักเรียนของแต่ละโรงเรียนให้ชัดเจน เช่น โรงเรียนเอประชุมร่วมกับทุกฝ่ายแล้วมีข้อสรุปว่ายังต้องการยึดทรงผมนักเรียนแบบเดิม หรือ โรงเรียนบีประชุมร่วมกับทุกฝ่ายแล้วมีข้อสรุปว่าจะถือปฎิบัติเรื่องทรงผมนักเรียนตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ก็ได้ เป็นต้น
ส่วนภาพการกล้อนผมนักเรียน ที่มีการเผยแพร่อยู่ในขณะนี้ ยอมรับว่าโรงเรียนทำไม่ถูกต้อง เพราะการจะลงโทษนักเรียนไม่ว่าจะกระทำความผิดใดๆ ก็ตามจะต้องยึดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 มี 4 ข้อดังนี้ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งรวมไปถึงการทำโทษนักเรียนในกรณีอื่นๆ ด้วย ต้องยึดหลักการลงโทษ 4 ข้อนี้เท่านั้น
ทั้งนี้ ขอย้ำและทำความเข้าใจกับโรงเรียน และผู้ปกครอง หากทุกฝ่ายพูดคุยทำความเข้าใจ และเห็นชอบร่วมกัน จะไม่เกิดประเด็นความขัดแย้งและสังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข