เมื่อเดือนเมษายนปี 2018 เคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) สถาปนิกญี่ปุ่นคนสำคัญ ผู้เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาปริมาณมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอผลงานการออกแบบประติมากรรมขนาดยักษ์ชื่อว่า ‘ลมหายใจ/เอนจี’ (Breath/ng) ณ มิลาน ดีไซน์ วีค (Milan Design Week) ที่นอกจากจะกระตุ้นอารมณ์สุนทรีย์ด้วยความวิจิตรงดงามแล้ว มันยังมาพร้อมคุณสมบัติช่วยฟอกอากาศให้กลับมาสดชื่นอีกด้วย
โปรเจกต์ประติมากรรมอากาศบริสุทธิ์ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ 175 ตารางเมตร สูงตระหง่านกว่า 6 เมตร ประกอบด้วยผ้าสีเหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างยาว 1.2 เมตร พับด้วยมือจำนวน 120 ผืน นำเสนอผ่านเทคนิคการพับกระดาษแบบ ‘โอริกามิ’ (Origami) สุดซับซ้อน ซึ่งเป็นเหมือนสมบัติล้ำค่าของบรรพบุรุษญี่ปุ่น
หัวใจหลักของผลงานอันน่าตื่นเต้นของคุมะอยู่ตรงการเลือกใช้ผ้าผสานนวัตกรรมล้ำสมัยเรียกว่า ‘เทคโนโลยีลมหายใจ’ (Breath Technology) ซึ่งผืนผ้าจะทำหน้าที่เป็นตัวกรองมลภาวะทางอากาศ ขจัดอนุภาคฝุ่นละอองอันตราย โดยอาศัยการหมุนเวียนถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติ เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมรอบๆ ให้สะอาดยิ่งขึ้น
สำหรับบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมผ้าคือ ‘อะเนมอเทค’ (Anemotech) สตาร์ทอัพจากประเทศอิตาลี ที่เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษาสิ่งแวดล้อม บนความเชื่อเรื่องการสร้างอากาศบริสุทธิ์อย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน ฟังก์ชันของวัสดุเน้นการต่อต้านสิ่งสกปรก เนื้อผ้ามีส่วนผสมของโมเลกุลขนาดเล็กที่ช่วยดักจับมลพิษ
มากไปกว่านั้น สถาปนิกญี่ปุ่นยังร่วมมือกับแดสสอล์ท ซิสเต็มส์ (Dassault Systèmes) บริษัทสร้างสรรประสบการณ์ 3 มิติ ซึ่งยึดมั่นกับปรัชญา ‘Design for Life’ เพื่อทำการออกแบบโครงสร้างของ ‘ลมหายใจ’ ที่มีอากาศบริสุทธิ์ เกลียวผ้าจึงถูกแขวนลอยตัวคดเคี้ยวอยู่บนแท่งคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งประกอบเข้ากันด้วยข้อต่อที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จำนวน 46 ชิ้น และสามารถดูดซับสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (Volatile Organic Compounds: VOCs) จากจำนวนรถยนต์ได้มากถึง 90,000 คันต่อปี
ความงดงามอันทรงพลังของการติดตั้งประติมากรรมเครื่องฟอกอากาศไฮเทคของคุมะ นับเป็นการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาสำหรับเมืองที่ปนเปื้อนด้วยฝุ่นละลอง และสารพิษ การติดตั้งผลงานอย่างกล้าหาญยังเป็นการเปลี่ยนแปลงปัญหามลพิษทางอากาศที่ (เกือบ) มองไม่เห็น ให้กลายเป็นประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น