ไม่พบผลการค้นหา
นักบวชจากอารามกริมเบร์เกน ประสบความสำเร็จในการศึกษาสูตรเบียร์โบราณที่ร้างการผลิตมาแล้วกว่า 220 ปี หลังอารามและโรงเบียร์ถูกเผาทำลายในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เบียร์สูตรต้นตำรับแอลกฮอล์ 10.8 เปอร์เซ็นต์ จะพร้อมเสิร์ฟในปี 2020

ฟาเธอร์ คาเรล ชเตาต์เอมาส นักบวชในคณะนักบวชสังฆาณัติแห่งเพรมงเทร (Order of Canons Regular of Prémontré) หรือนิกายนอร์เบอร์ไทน์ (Norbertine) กล่าวว่าความสำเร็จในการพัฒนาเบียร์นี้ เป็นผลมาจากการใช้เวลา 4 ปี ศึกษาตำรับวิธีผลิตเบียร์ของนักบวชนอร์เบอร์ไทน์ในอดีต

"การทำเบียร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนักบวชในอารามแห่งนี้เสมอมา" ชเตาต์เอมาสซึ่งเข้าอบรมวิธีการทำเบียร์เพื่อช่วยผลิตเบียร์ที่สาบสูญด้วยตัวเอง กล่าว

อารามกริมเบร์เกน (Grimbergen Abbey) และโรงเบียร์ของอารามถูกเผาทำลายในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส แม้ตัวอารามจะได้รับการบูรณะใหม่ในภายหลัง แต่เชื่อกันว่าสูตรเบียร์ตำรับนี้ได้สาบสูญไปแล้วในปี 1798

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพบว่าสูตรเบียร์เหล่านั้นรอดพ้นจากกองเพลิงมาได้ ด้วยฝีมือของนักบวชในครานั้นซึ่งเจาะกำแพงห้องสมุดและซ่อนตำราราว 300 เล่มไว้ก่อนอารามจะถูกเผา อนิจจา ชเตาต์เอมาส กล่าวว่าตำราหลายเล่มที่เหลือรอดนั้นบันทึกสูตรโบราณไว้ ทว่าไม่มีใครอ่านออก

"ตำราทั้งหมดถูกเขียนในภาษาละตินและภาษาดัตช์โบราณ เราจึงรับอาสาสมัครมา ใช้เวลาศึกษาตำราเหล่านั้น และค้นพบรายการวัตถุดิบสำหรับผลิตเบียร์เมื่อหลายศตวรรษก่อน ทั้งฮอพที่ใช้ ชนิดของถังและขวด แม้แต่รายชื่อเบียร์ที่มีการผลิตจริงในศตวรรษนั้น"

ทั้งนี้ คณะนักบวชจะใช้เพียงองค์ประกอบบางอย่างจากสูตรโบราณนี้เท่านั้นในการผลิตเบียร์ขึ้นใหม่ โดยชเตาต์เอมาสผู้อาศัยรวมกับนักบวชอีก 11 คนในอารามกริมเบร์เกน ชี้ว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาเหล่านักบวชในยุคนั้น คือพวกเขามุ่งปรับปรุงสูตรมาตลอด โดยเปลี่ยนสูตรการผลิตทุกๆ 10 ปี

"ผมไม่คิดว่าคนในยุคนี้จะชอบรสชาติของเบียร์ซึ่งผลิตในสมัยนั้นหรอกนะ" ชเตาต์เอมาส กล่าว

มาร์กอองตวน โซชอง ผู้เชี่ยวชาญจากคาร์ลสเบิร์ก ผู้จะมาเป็นนักปรุงเบียร์ (brewmaster) ของอาราม ในโครงการคืนชีพเบียร์เบลเยียมนี้ กล่าวสนับสนุนการปรับปรุงจากสูตรเดิมว่า ในยุคสมัยนั้น เบียร์ทั่วไปค่อนข้างจะไร้รสชาติ เหมือนกินขนมปังเหลว

"เราจะใช้ยีสต์ชนิดเดิม ซึ่งจะให้กลิ่นผลไม้และเครื่องเทศ แล้วเราจึงจะเริ่มใช้วิธีการใหม่ๆ ปรุง เช่น การบ่มเบียร์ หรือการใส่ฮอพหลังการหมัก" โซชอง กล่าว

คาร์ลสเบิร์ก บริษัทผู้ผลิตเบียร์สัญชาติเดนมาร์ก ซึ่งผลิตเบียร์ภายใต้ชื่อทางการค้ากริมเบร์เกนอยู่ก่อน ก็จะร่วมเป็นหุ้นส่วนกับทางอารามในการรื้อฟื้นกริมเบร์เกนจากสูตรดั้งเดิมนี้ด้วย โดยโครงการซึ่งคาร์ลสเบิร์กสนับสนุนทุนนี้จะมุ่งใช้วัตถุดิบท้องถิ่น โดยอารามได้ปลูกฮอพในสวนของอาราม

หลังแผนการสร้างโรงเบียร์ใหม่ได้รับการอนุมัติโดยสภาท้องถิ่นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2019 คณะนักบวชหวังจะผลิตเบียร์กริมเบร์เกนชุดแรกซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์ 10.8 เปอร์เซ็นต์ ได้ในช่วงปลายปี 2020 พร้อมเปิดร้านอาหารและบาร์ภายในโรงเบียร์ขนาดเล็กของอาราม โรงเบียร์นี้จะผลิตเบียร์แก้วละ 330 มิลลิลิตร ได้สามล้านแก้วต่อปีสำหรับตลาดในฝรั่งเศสและเบลเยียม

เมื่อสำนักข่าวเดอะการ์เดียนถามชเตาต์เอมาส ว่ารู้สึกอึดอัดใจหรือไม่กับการร่วมมือกับบริษัทผู้ค้าเบียร์รายใหญ่ เขาตอบว่าค่าลิขสิทธิ์จากเบียร์กริมเบร์เกนจะช่วยให้นักบวชสามารถใช้ชีวิตในสังฆาวาส จาริกแสวงบุญ และช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่านักบวชในอารามกริมเบร์เกนจะปฏิบัติตามกฎของนักบวชผู้ผลิตเบียร์คณะแทรปปิสต์ (Trappist) แม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่นักบวชแทรปปิสต์ก็ตาม โดยการปฏิบัติตามกฎนี้หมายความว่าพวกเขาจะผลิตเบียร์ภายในเขตรั้วอาราม ควบคุมการผลิตและและนำรายได้ไปบำรุงรักษาอารามและใช้เพื่อการกุศล

นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1128 อารามกริมเบร์เกนเคยถูกเผาทำลายด้วยไฟและสร้างขึ้นใหม่ถึงสามครั้ง เป็นที่มาของตราสัญลักษณ์อารามรูปนกฟินิกซ์คู่กับคติว่า "แม้หมกไหม้แต่ไม่มอดมรณา"

ที่มา: CNN / The Independent / The Guardian / Reuters