ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัชชาติ-ชัยวุฒิ’ ชนหมัดลุยรื้อสายสื่อสาร 800 กม.ในปีนี้ หลังครึ่งปีทำแล้ว 20 กม. ด้าน ‘ชัชชาติ’ แซว 'ชัยวุฒิ' ของบฯ หมื่นล้าน จ่อเข้ม ม.39 พ.ร.บ.ความสะอาด จัดการเอกชนพาดสายไม่ขออนุญาต ด้าน ประธาน กสทช.ไม่มั่นใจรื้อสายได้เสร็จในปีนี้ เจอ 'ชัชชาติ' บี้ต้องทำเลย 800 กม.

วันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่อาคาร NT TOWER ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)ร่วมหารือในประเด็นนโยบายการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)มาร่วมด้วย 

ภายหลังการหารือ ชัชชาติ กล่าวว่าอันดับแรกต้องขอบคุณรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ที่จัดประชุมในครั้งนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง ประกอบกับช่วงหลังมานี้มีเหตุเพลิงไหม้จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงดิจิตอลฯรับเป็นหน่วยงานกลางเพื่อประสานความรับผิดชอบ

ชัชชาติ กล่าวว่ามีสองประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการคือเรื่องของการจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรัง อาจจะยังไม่ต้องนำทั้งหมดลงดินทันที แต่จะต้องรื้อสายที่ไม่ได้ใช้งานทั้งหมดออกก่อน และทาง กสทช.มีแผนเรื่องนี้อยู่และจะมีเงินทุนอุดหนุนให้ด้วย

ทั้งนี้มีการวางเป้าหมายเอาไว้ในปีแรกนี้ 2565 ระยะทาง 800 กิโลเมตรจะต้องจัดการให้เรียบร้อย ในส่วนของกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะขณะนี้ล่วงมาถึงเดือน ก.ค.แล้ว ซึ่งมีรายงานว่าทำไปได้เพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งนี้เราจะต้องผลักดันให้ได้โดยเป็นสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องสอดคล้องที่ตนได้เคยให้นโยบายรายเขตไว้ ให้ดูพื้นที่ที่เป็นต้นแบบ

และสำหรับการจัดระเบียบเรื่องนี้ต้องมีการเร่งดำเนินการไปให้ได้จนถึงปีหน้า ส่วนประเด็นเรื่องการนำสายสื่อสารลงดิน จะต้องมีการพิจารณาถึงค่าเช่าท่อด้วย เพราะหากมีราคาสูงจะส่งผลกระทบกับผู้ให้บริการภาคเอกชน เรื่องนี้จึงต้องมีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาการนำสายสื่อสารลงดิน

ชัชชาติ ยืนยันว่าทางกรุงเทพมหานคร (กทม.)ไม่ได้มีปัญหาในการดำเนินการ เพราะการจะนำสายสื่อสารลงดินมีต้นทุนอยู่แล้วทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ที่ทำท่อและเจ้าของสายต่างๆ เมื่อมีการลงทุนจึงจะต้องมีการแบ่งเป็นระยะ ส่วนตัวเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะมีความเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

สายสื่อสาร -5D1E-4780-841E-BB5CA4C691CD.jpegชัชชาติ ชัยวุฒิ สายสื่อสาร สายไฟ -C291-4F9B-92D0-BEC41E9F120F.jpeg

ชัชชาติ กล่าวต่อว่าในส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสารทางกทม.อาจจะต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด มาตรา 39 จัดระเบียบสายที่รกรุงรัง หลังจากนี้จะต้องพิจารณาอนุญาตเฉพาะสายสื่อสารที่ กสทช.อนุญาตให้ใช้งานร่วมได้ และจะต้องมีการกำหนดค่าปรับ หลังจากนี้หากใครมาใช้งานร่วมโดยไม่มีใบอนุญาตก็จะต้องถูกดำเนินการ ตั้งข้อหา เพื่อไม่ให้เกิดกลุ่มที่มาลักลอบพาดสาย

ขณะที่ชั ยวุฒิ กล่าวย้ำว่าการจัดระเบียบเรื่องสายสื่อสารรัฐบาลมีการ ตั้งงบกลางมา 7,000 ล้านบาท เพื่อจัดเก็บสายเก่าให้เรียบร้อยและจัดทำสายใหม่ขึ้นมา นโยบายนี้จะมีการนำไปทำทั่วทั้งประเทศต่อไป สำหรับการหารือในวันนี้กับผู้ว่าฯเพื่อเป็นการคุยเรื่องการนำสายไฟลงใต้ดิน บางส่วนเป็นท่อที่มีอยู่แล้วบางส่วนจะต้องมีการทำใหม่ แต่ทั้งนี้พื้นที่ที่จะดำเนินการเป็นฟุตบาถของกทม. ต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลางระหว่างกทม. กสทช. และกระทรวงฯทำงานร่วมกัน หากตกลงได้เร็วก็จะดำเนินการได้รวดเร็ว

ทั้งนี้การนำสายลงใต้ดิน จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า การจัดการสายแขวน 10 เท่า ดังนั้นจะนำสายทุกอย่างลงไปใต้ดินไม่ได้เพราะจะเป็นภาระต่อภาคเอกชน ซึ่งผู้บริโภคอาจจะต้องเสียค่าบริการมากขึ้น จึงไม่อยากให้ประชาชนต้องเดือดร้อนในเรื่องนี้

ส่วนตัวเลขงบประมาณการนำสายไฟลงดินที่ประเมินไว้ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ก่อนหน้านี้ที่กรุงเทพธนาคม (KT) ตั้งไว้ ต้องมาพิจารณาก่อนว่าหลังนำร่องไป7กิโลเมตรมีผู้มาเช่าหรือไม่ และราคาต้นทุนเท่าไหร่ ซึ่งถ้าหากทำมาแล้วและไม่มีผู้มาเช่าก็จะไม่เดินหน้าต่อ เพราะไม่คุ้มค่า ซึ่งเรื่องนี้จะต้องกลับไปทบทวนและนำมาพูดคุยร่วมกันอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่มองว่าท่อร้อยสายของ NT ไม่มีประสิทธิภาพจากการตรวจสอบพบว่าบางส่วนยังคงใช้งานได้บางส่วนต้องปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งถ้าในด้านการลงทุนก็จะใช้งบประมาณน้อยกว่า ทั้งหมดนี้ก็จะต้องคุยกับภาคเอกชนว่ายินดีจะมาลงทุนหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องมีการหารือและอาจจะต้องสนับสนุนบางส่วน

ชัยวุฒิ กล่าวว่า ได้พูดคุยเบื้องต้นกับทาง กสทช. เพื่อให้ช่วยดูแลงบประมาณการนำสายไฟลงดิน โดยชัชชาติแซวกลับว่า “เมื่อครู่ท่านบอกว่าจะช่วยหลักหมื่นล้านบาท แต่ก็อาจจะกลายเป็นร้อยเปอร์เซนต์ก็ได้นะ” ก่อนที่ ชัยวุฒิ จะตอบกลับว่า ดูแล้วหมื่นล้านก็พอไม่ต้องถึงสองหมื่นล้านบาท

ชัชชาติ ยืนยันว่า ความเป็นระเบียบจะเห็นแน่นอนภายในปีนี้ จะเห็นทิศทางแน่นอนส่วนประเด็นการเปลี่ยนผู้บริหารKT จะทำให้คุยกับNT ง่ายขึ้นหรือไม่เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยแต่ก็จะต้องดูตัวเลขเพราะเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ ได้เป็นเรื่องที่ใช้ความรู้สึก และต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งหลังจากนั้น ชัชชาติขออนุญาตชัยวุฒิจับมือและชนหมัด

ชัชชาติ ชัยวุฒิ -F354-4142-94E1-3DE063671A66.jpegชัชชาติ ชัยวุฒิ -D7DF-45A1-96B1-299921CAB077.jpeg

ดีอีเอส-กทม.- กสทช.ลุยตัดสายตายคาเสาไฟฟ้าก่อน 800 กม.แรก 16 เขต กรุงเทพชั้นใน ต้องเสร็จในสิ้นปี 2565 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการประชุมแก้ปัญหาสายสื่อสารมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะตัดสายตาย ( สายไม่ใช้แล้ว) คาเสาไฟทิ้งก่อน รวม 800 กิโลเมตรก่อน ซึ่งไม่เกี่ยวสายลงดิน โดยให้เริ่มดำเนินการได้เลย ครอบคลุม 16 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้น โดยทั้ง 800 กม. จะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้ และจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนได้ในเดือนหน้า

ซึ่งการรื้อถอนตัดสาย ผู้ประกอบการสายสื่อสารต้องดำเนินการเอง  ส่วนความคืบหน้าโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ผ่าน "ท่อร้อยสาย" เดิมของ บ.กรุงเทพธนาคม ที่คิดค่าเช่า 20,000 ล้านบาท สัญญา 30 ปี แต่พบว่าที่ผ่านมา ไม่มีเอกชนมาเช่า เพื่อเอาสายลงดิน ทำให้ต้องพักไว้ก่อน โดยคณะกรรมการบริหาร บ.กรุงเทพธนาคม ชุดใหม่ ที่มี นายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน อยู่ระหว่างการทบทวนราคาใหม่ให้ถูกลงและเหมาะสม โดยไม่ให้เป็นภาระกัยผู้ประกอบการ เพราะราคา 20,000 ล้านบาท เป็นราคาที่แพงเกินไป 

ชัชชาติ ชัยวุฒิ สายสื่อสาร สายไฟ -7B7C-4F16-858D-AF073695A504.jpegชัชชาติ -BAB1-4D5D-9DB1-7F5CF92E843B.jpegสายสื่อสาร -FBFC-475C-8FBC-503D41412308.jpeg

‘ชัชชาติ’ ขอ กสทช. จัดระเบียบสายสื่อสาร 800 ก.ม.ให้เสร็จในปีนี้ แต่กสทช.ขอเสร็จสิ้นปีหน้า

จากนั้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางมาร่วมหารือกับ และ กสทช.ชุดใหม่ นำโดย นพ.สรณ บุญใบ ชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. 

จากนั้น ชัชชาติ กล่าวว่า แผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร 800 กิโลเมตร ภายในปีนี้ ทาง กสทช.ได้เตรียมงบจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน USO ของสำนักงาน กสทช. ไว้ราว 700 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการนำร่องในเขตกรุงเทพชั้นในที่มีประชากรหนาแน่น 16 เขต โดยจะยึดแผนจาก กสทช.เป็นหลัก เพราะได้หารือกับผู้ประกอบการตามนโยบายของรัฐบาลมาก่อนหน้านี้ ส่วนกทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านสถานที่ให้ 

โดยกทม.พร้อมที่จะประสานกับทุกหน่วย และรับว่า จะต้องทำงานอย่างหนัก โดยจะทำแผนเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งการนำสายสื่อสารลงดินจะเป็นขั้นตอนต่อไป 

ด้าน ประธาน กสทช.กล่าวถึงการดำเนินการของกสทช.ว่า ได้ติดคอร์หรือกล่องร้อยสายใหม่บนเสาไฟฟ้าแล้ว 70% และขึงสายใหม่แล้ว 20-30% หลังจากนี้จะเป็นการรื้อสายเก่าที่มีความซับซ้อน ต้องประสานหลายฝ่าย ยอมรับไม่ได้เร็วตามที่กำหนดไว้ แต่ กสทช.จะปูพรมทำให้เร็วกว่านี้ 

ส่วนปัญหาค่าเช่าท่อร้อยสายที่มีค่าใช้จ่ายสูง ประธาน กสทช. ระบุว่ายังไม่ตกผลึกถึงแนวทางการควบคุมราคาเช่าท่อร้อยสาย ซึ่งอาจทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระกับผู้ประกอบการ แต่ กสทช.มีแนวคิดที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายนี้ 

ทั้งนี้ กสทช. ยืนยันจะเป็นตัวกลางประสานกับผู้ประกอบการเจ้าของสายสื่อสาร ซึ่งการรื้อสายเก่าแล้วทำสายใหม่เป็นศิลปะพอสมควร ยอมรับว่าเหตุที่ล้าช้าเป็นเพราะติดปัญหาจราจร โควิด-19 จึงทำให้ล่าช้าไม่ทันใจ 

ชัชชาติ สรณ กสทช -1BB9-4CC9-847B-7595ECE9A918.jpeg

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวถามถึงเป้าการจัดระเบียบสายสื่อสาร มีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จ 800 กม.ภายในปีนี้หรือไม่ ด้าน ประธานกสทช. กล่าวอึกอักว่า 800 กม. จะเสร็จในสิ้นปีหน้า ทำให้ ชัชชาติ กล่าวสวนว่า "ลุยเลยครับ 800 กิโลเมตร ได้หรือไม่ได้ เดี๋ยวว่ากัน ว่ากทม.ผิดตรงไหน แต่ต้องมีคำตอบให้ประชาชน" 

ด้านประธาน กสทช. กล่าวยอมรับว่า กังวลใจ แต่จะทำให้ดีที่สุด โดย ชัชชาติ ย้ำว่า ต้องตั้งเป้าที่ท้าทายไว้ก่อน แล้วทำให้เต็มที่ ซึ่ง กทม. จะทบทวนแผนให้สอดรับกับ กสทช. 

สำหรับงบประมาณดำเนินการ ระยะทาง 800 กิโลเมตร ที่ใช้งบประมาณ 700 ล้านบาทนั้น จะมาจากงบประมาณของ กสทช. ปี 2564 -2565 ที่มาจากกองทุนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน USO ของสำนักงาน กสทช. โดยบอร์ด กสทช. ได้อนุมัติให้ดำเนินการมาแล้ว ก่อนหน้านี้ และตามแผนงาน จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ แต่ติดขัดในช่วงที่ผ่านมา อาจยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้ คืบหน้าเพียง 25 -30% เท่านั้น โดยภายในสัปดาห์นี้ สำนักงาน กสทช. จะเชิญผู้ประกอบการสายสื่อสาร และ กฟน. มาร่วมหารือ เพื่อเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จได้ทันตามที่ ผู้ว่าฯ กำหนดกำหนดสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ ชัชชาติ ระบุว่า กทม. มีแนวทางหารือเรื่องจัดหาอินเทอร์เน็ตฟรีให้กับชุมชน และพื้นที่สาธารณะต่างๆเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงตามนโยบายที่หาเสียงไว้ด้วย