ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ 2 ผู้เชี่ยวชาญประเด็นการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา สำรวจภาพใหญ่สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยหลัง 'ปวีณ' ลี้ภัย ชี้การค้ามนุษย์ยังคงอยู่เพียงแต่ปรับลดขนาดลง

พุทธณี กางกั้น นักวิจัยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโรฮิงญา จากกลุ่ม Fortify Rights ระบุถึงภาพรวมสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยว่า สถานการณ์ที่เห็นชัด และถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โรฮิงญาคือ กรณีที่เกิดขึ้นในปี 2558 ที่มีการค้นพบหลุ่มฝั่งศพชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ แต่สถานการณ์นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาในไทย ที่ไม่มีความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังมาก่อนหน้านี้ จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ใหญ่ที่มีการขนขาวโรฮิงญา เข้ามาวันละหลายร้อยรายในประเทศไทยก่อนที่จะส่งเข้าไปในมาเลเซีย 

“กรณีเมื่อปี 2558 ที่เกิดขึ้นมันเป็นภาพสะท้อนอยู่แล้วว่ามันมีขบวนการใหญ่มาก่อนหน้านั้น เพียงแค่การปราบปรามอย่างจริงจังเพิ่งเริ่มต้นขึ้นหลังจากมีการพบหลุ่มฝั่งศพ มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากเหตุการณ์นั้นนำสู่การปราบปรามครั้งใหญ่  และเป็นเหตุที่ทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ ต้องลี้ภัยด้วย”

พุทธณี ย้ำว่า กรณีการพบหลุ่มศพเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์เมื่อปี 2558 เป็นปรากฏการณ์ในระดับโลก ฉะนั้นจะส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถอยู่เฉย หรือไม่ตอบสนองต่อเรื่องการค้ามนุษย์ได้ จึงมีการปราบปราม และดำเนินคดีกับ พล.ท.มนัส คงแป้น และจำเลยอีกร้อยกว่าคน ที่มีส่วนร่วมอยู่ในขบวนการ ซึ่งมีการโยงใยที่ใหญ่มาก ตั้งแต่ ระนอง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในขบวนการนี้ด้วย 

พุทธนี ชี้ว่า หลังจากเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นมา ได้ทำเกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ เช่น จัดตั้งแผนกที่ดูงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในหลายๆ หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ศาล อัยการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งหน่วยงานในฝ่ายปกครองด้วย นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมาย โดยมีการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และสามารถนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ 

“ในภาพกว้างเราจะเห็นได้ว่า มีความพยายามปราบปรามสิ่งเหล่านี้จริง แต่ในภาพลึกก็ไม่ได้หมายความว่าการค้ามนุษย์จะหมดไป และผ่านมาก็มีแรงผลักจากประเทศต้นทาง อย่างที่ทราบดีเรื่องสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ทำให้เราพบว่าการขนส่งชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศไทยยังคงพบอยู่ แต่ไม่ได้มีลักษณะเป็นขบวนการขนาดใหญ่แบบที่ถูกพบในปี 2558 ในพื้นที่ติดชายแดนไม่ว่าจะเป็น แม่สอด กาญจนบุรี หรือระนอง ก็ยังมีการจับผู้ข้ามแดนผิดกฎหมายแทบทุกวัน ซึ่งหนึ่งในกลุ่มนั้นมีชาวโรฮิงญาด้วย”  

อย่างไรก็ตาม พุทธนี พบว่า ภาครัฐได้พยายามสร้างกระบวนการคัดกรองเหยือการค้ามนุษย์ ซึ่งมีการบูรณาการแบบสหวิชาชีพ หากพบผู้ที่เดินทางเข้ามาแล้วระบุว่า เป็นชาวโรฮิงญา ก็จะการคัดกรองว่า เขาเข้ามาด้วยช่องทางที่ไม่ปกติแบบธรรมดา หรือเป็นการเข้ามาโดยผ่านกระบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ หากเป็นเหยือการค้ามนุษย์ก็จะมีวิธิปฏิบัติกับเขาแตกต่างจากผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทั่วไป โดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะประสานให้เขาได้เข้าไปอยู่ที่บ้านพัก และประสานกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาเรื่องการส่งตัวไปยังประเทศที่ 3 

“ชาวโรฮิงญา ยังคงเข้ามาในไทยอยู่เรื่อยๆ แต่เนื่องจากขบวนการค้ามนุษย์ขนาดใหญ่ถูกปราบไป ก็ทำให้การเข้ามามีสเกลที่เล็กลงเช่นมาครั้งละ 20-30 คน ผ่านนายหน้า ทั้งเข้ามาทางบก และทางเรือ แต่ทางเรือจะเข้าเฉพาะฤดูที่สามารถเดินเรือได้ แต่ช่วงหลังจะพบว่าเข้ามาได้น้อยลง เรายังเห็นการจับกุมอยู่เรื่อยๆ ”

นอกจากนี้ พุทธนี ยังกล่าวถึง การเผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2564 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อปี 2564 ซึ่งจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ไทยอยู่ในกลุ่ม ‘Tier 2 Watch List’ ซึ่งเป็นระดับรองสุดท้าย และถูกปรับลงจากปี 2562 ว่า จริงๆ แล้วการจัดอันดับด้านหนึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ตรวจวัดสถานการณ์การค้ามนุษย์ในแต่ละประเทศได้ และรายงานนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยให้ความใส่ใจมาก โดยเฉพาะหลังปี 2558 ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกกรัฐมนตี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญโดยพยายามปรับปรุงให้สถานการณ์ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม พุทธนี การจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มและลดอันดับอยู่เรื่อยๆ เธอเห็นว่า ในอีกด้านหนึ่งการจัดอันดับก็ถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลไทย และเมื่ออยู่ในช่วงที่อันเดับเราตก รัฐบาลก็มักจะหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามาก เพราะเกี่ยวข้องกับโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ แต่ในช่วงหลังก็พบว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ลดลง 

ด้าน ศิววงศ์ สุขทวี Migrant Working Group  มองว่า การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา และปัญหาแรงงานในภาคประมง เป็นสองเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกัน และเป็นปัญหาที่สามารถถูกยกขึ้นมาเป็นเงือนไขสำคัญในการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอมเริกา ส่วนปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2549 และยิ่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2555 ซึ่งมีความสอดคล้องกับความรุนแรงพม่า รัฐยะไข่ ทำให้พบการจับกุมได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

โดยก่อนหน้าที่จะเกิดปรากฎการณ์พบหลุ่มศพชาวโรฮิงญาเมื่อ พ.ค. 2558 ศิววงษ์ ชี้ว่า มีความพยายามในการปราบปรามเรื่องการค้ามนุษย์อยู่ แต่เป็นเพียงระดับปฏิบัติการในพื้นที่เท่านั้น เช่น อบจ. จังหวัด หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และตำรวจ แต่ทุกหน่วยงานต่างรู้สึกว่าเรื่องนี้ใหญ่กว่าอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตัวเอง สถานการณ์ก่อนหน้านี้จึงเป็นไปด้วยความอึดอัด มีการจับกุม ดำเนินคดี แต่ก็ไม่สามารถสืบสาวไปที่ต้นต่อได้จริง 

จนกระทั่งเกิดกรณี การสกัดจับรถจำนวน 5 คันที่ขนชาวโรฮิงญาเข้ามาผ่านประเทศไทย โดยพบว่ามีจำนวน 69 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ 3 คน โดยเหตุเกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอหัวไทร ซึ่งเหตุการณ์นี้นำไปสู่การตั้งชุดสอบสวน ที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิริน เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา  และหลังจากนั้นก็มีค้นพบหลุ่มศพของชาวโรฮิงญา บนเทือกเขาแก้ว จ.สงขลา ซึ่งถูกใช้เป็นค่ายสำหรับพักและกักขังชาวโรฮิงญาจากเมียนมาและบังกลาเทศ ก่อนส่งผ่านไปยังมาเลเซีย 

“ในช่วง 3 เดือนก่อน เดือน พ.ค. 2558 มีตัวเลขประมาณการจาก UN ระบุจำนวนคนที่ออกมาจากชายฝั่งพม่า และบังคลาเทศอยู่ที่ประมาณเดือนละ 1 แสนคน แต่หลังจากเหตุการณ์พบหลุ่มศพที่เขาแก้ว มีการประกาศมาตรการปิดชายแดนไทย-มาเลเซีย และเกิดวิกฤติผู้อพยพในทะเลอันดามัน 50-60 ลำ เพราะเดินทางออกมาแล้ว แต่ไม่สาารถขึ้นฝั่งที่ไทยได้ ในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุด แต่เมื่อเริ่มคลี่คลายตัวเลขการประมาณการของ UN พบว่า แทบไม่มีการเดินทางออกจากชายฝั่งเลย ซึ่งนั้นหมายความขบวนการค้ามนุษย์จากฝั่งไทยที่เคยไปรับคนเข้ามาได้หยุดชงักไป แต่ก็หยุดไปเพียงแค่ครึ่งปีเท่านั้น” 

“ถามว่าสถานการณืดีขึ้นหรือไม่ ถ้าดีขึ้นก็คงเป็นการที่ไม่มีขบวนการขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีขบวนการค้ามนุษย์ขนาดเล็ก ที่ใช้เส้นทางเครือข่ายเดียวกันในการพาแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย โดยเป็นการเดินทางเข้ามาทางบก มากกว่าการเดินทางในทะเล ส่วนเรือที่เข้ามาในชายฝั่งไทยก็ไม่ใช่เรือขนาดใหญ่ แต่เป็นเรือเล็กมากกว่า”

นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ศิววงษ์ มองเห็นคือ การตั้งศูนย์คัดกรองเรือประมงที่เข้าออกชายฝั่ง โดยเรือประมงที่จะออกทะเล หรือเข้าฝั่ง จะต้องมีการแจ้งจำนวนลูกเรือว่ามีจำนวนกี่คน และขนอะไรเข้ามาบ้าง แม้กลไกนี้จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เช็นต์ แต่ก็ถือเป็นการกำกับควบคุมเรือประมง ที่เคยถูกดัดแปลงเป็นเรือค้ามนุษย์ ให้ทำได้ยากมากขึ้น ส่วนกรณีการดำเนินการตรวจสอบคัดกรองผู้หลบหนีเข้ามา ว่าเป็นเหยือของขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่นั้น เพื่อดำเนินการประสานงานส่งตัวต่อไปยังประเทศไทย 3 นั้น เคยเกิดขึ้นจริงในช่วงปี 2558-2559 แต่เมื่อยุโรปเกิดวิกฤติผู้อพยพ และสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนประธานาธิบดีจาก โอบาม่า เป็น ทรัมป์ แนวนโยบายเกี่ยวกับการรับผู้ลี้ภัยก็เปลี่ยนแปลงไป