ไม่พบผลการค้นหา
พลันที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ที่ตั้งเป้าทำให้ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ก่อให้เกิดการถกเถียงกันแพร่หลายในสังคมวงกว้าง

ในระหว่างนี้ "วอยซ์" ชวนสำรวจ 3 ชีวิตแรงงานผ่านภาพถ่ายและเรื่องราวของพวกเขา จากถนนคลุกฝุ่นแถวบางใหญ่ ถึงหอศิลป์ใจกลางเมือง จนถึงโรงงานปั่นทอย่านสมุทรปราการ เพื่อเห็นงานที่เขาทำ อาหารที่เขากิน และสิ่งที่เขาคิดฝัน

เรื่องและภาพ: เสกสรร โรจนเมธากุล

ค่าแรงขั้นต่ำ

ศักดา อายุ 20 ปี คนขับรถบดถนน โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี (ช่วง อ.บางใหญ่)

ที่บริเวณถนนแก้วอินทร์ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 'ศักดา' แรงงานหนุ่มขับรถบดถนนคันใหญ่ออกจากแคมป์ที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อมารอเริ่มงานในแต่ละวัน

ศักดาเพิ่งมาทำงานที่นี่ได้ 6 เดือน ค่าแรง 350 บาทต่อวัน หลังเรียนจบชั้น ปวส. จากสกลนคร (อ.วานรนิวาส) ก็มุ่งมากรุงเทพฯ ทำงานเลย เป็นงานแรกของชีวิตในพื้นที่ จ.นนทบุรี แต่ก็เป็นการทำงาน 7 วัน ต่อสัปดาห์

ค่าแรงขั้นต่ำ

“ถ้าอยากพักต้อง ลา และมีวันหยุดตามวันนักขัตฤกษ์ ยังไม่มีแผนกลับบ้านครับ ก็คงทำงานไปเรื่อยๆ อย่างน้อยสองสามปี ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์บริเวณนี้ น่าจะจบราวเดือนเมษายน 2566 หลังจากนั้นคงจะย้ายไปที่ไซต์งานอื่น”

แต่แม้งานขับรถบดดิน ใช่ว่าจะมีงานให้ทำทั้งวัน วันนี้ช่วงเช้า ไม่งานให้บด

ค่าแรงขั้นต่ำ

ถึงเวลาพักเที่ยง เหล่าคนงานย้ายไปอีกจุดหนึ่งห่างไปราว 300 เมตร มีเพิงพักสังกะสี และมีตัวคอนกรีตหล่อซึ่งเป็นโครงสร้างของทางยกระดับจำนวนมากหลายสิบบล็อกวางเรียงซ้อนกัน จนดูเหมือนตึกเล็กๆ ที่นี่กลายเป็นที่นั่งหลบแดดอย่างดี สำหรับใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงในช่วงพักเที่ยง เพื่อกินข้าวและพักผ่อน

ถามราคามื้อเที่ยงวันนี้ของศักดา ราคาประมาณ 50 บาท มีปลากระป๋อง เขาเล่าว่าส่วนใหญ่ทำกินเอง 3 มื้อ โดยซื้อวัตถุดิบไว้เดือนละ 2 ครั้ง มื้อเช้ากินมาจากแคมป์พักของบริษัท ซึ่งอยู่แถวถนนสาย 345 อ.บางบัวทอง

ค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อถามถึงค่าแรง เขาว่า “ค่าแรงตอนนี้ถือว่าน้อยมากครับ ยังไงอยากได้ค่าแรงเพิ่ม ส่งกลับบ้านครับ ไม่มีอะไรมาก ไม่ได้ใช้อะไรหรอกครับ มีน้องสาวคนนึงครับ”

ค่าแรงขั้นต่ำ

ค่าแรงขั้นต่ำ

ส่วนข่าวนโยบายค่าแรงของพรรคการเมือง ศักดาบอกว่า “มันก็ดีครับ แต่มันนานไป อีก 4 ปี ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เร็วๆ ได้ 600 มันก็ดีครับ แต่ใจผม 500 ก็พอแล้วครับ 500 ก็ยังดี”

ค่าแรงขั้นต่ำ


ไพวรรณ์ อายุ 54 พนักงานรักษาความสะอาด หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ไพวรรณ์ ประจำการอยู่ที่ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ด้านการทำความสะอาดทุกอย่าง ทั้งปัด กวาด เช็ด ถู เก็บขยะ ปัจจุบัน ค่าแรง 350 บาทต่อวัน เป็นจำนวนเพิ่งได้ปรับขึ้นมาเพียงสองเดือน (ตามมติคณะรัฐมนตรีล่าสุด)

ไพวรรณ์เข้างาน 8.00 น. แต่ต้องมาสแตนด์บายตั้งแต่ 7.00 น. เพื่อถ่ายรูปอัพเดทงาน จากนั้นกินข้าวเช้าแล้วเริ่มทำงาน

ค่าแรงขั้นต่ำ

“ที่นี่มันงานจับฉ่ายเนาะ มาทำห้องน้ำ ดูพื้นที่ข้างนอก ดูดฝุ่นตามที่ต่างๆ เก็บขยะ ทำให้เสร็จก่อนหอศิลป์เปิดตอน 10 โมง ป้าทำงานที่นี่มาสิบกว่าปี เริ่มต้นด้วยค่าแรงสองร้อยกว่าบาท จากนั้นขึ้นมา 300, 340 แต่ที่นี่ไม่มีโอที เลิกงานห้าโมงกลับบ้าน หยุดทุกวันจันทร์ ตามที่หอศิลป์ปิด”

ค่าแรงขั้นต่ำ

“เดือนหนึ่งเราต้องได้หยุดสองสามวันนะ คนเรามันต้องมีเจ็บมีไข้ใช่มั้ย มันก็ต้องหยุด ช่วงไหนเหนื่อยก็หยุดเองบ้าง ทำงานได้เดือนละ 7-8 พัน มันก็ไม่เหลือหรอก กับข้าวก็แพง ช่วงหลังๆ นี้กับข้าวแพงเนาะ สมัยที่ผ่านมาถุงห้าบาท ข้าวเหนียวนี่อิ่มเลยนะ เดี๋ยวนี้สิบบาทไม่ค่อยจะอิ่มเลย กับข้าวถุงละสามสิบ ยี่สิบห้าไม่ค่อยมีแล้ว ต้องสามสิบสี่สิบขึ้น แพง เศรษฐกิจมันก็แย่เนาะ” ไพวรรณ์เล่า

ค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อไล่เรียงภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน มีค่าห้องเช่าเดือนละ 3,000 บาท ส่งให้ลูกเดือนละ 5,000 บาท ที่เหลือคือกินใช้ส่วนตัวในแต่ละเดือน โชคดีไม่มีค่าเดินทางเพราะห้องพักของไพวรรณ์อยู่ใกล้ซอยเกษมสันต์ 1 ห่างจากหอศิลป์เพียง 30 เมตร

ค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อถามถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่มีพรรคการเมืองเสนอ ไพวรรณ์ตอบไว “ป้าว่าให้ได้ก็ดีสิ ป้ากลัวเค้าไม่ให้น่ะสิ ทั้งประเทศเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเรา นี่ป้าคิดของป้านะ แต่มันจะเป็นไปได้เหรอ ไม่ค่อยมั่นใจ 50/50 แต่ถ้าให้ได้ ป้าก็ดีใจ ก็อยากได้เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายเรามันเยอะ ให้ได้ 600 ก็ดี แต่ร่างกายป้าจะสู้ไหวถึง 600 รึเปล่าก็ไม่รู้นี่”

ค่าแรงขั้นต่ำ

“ถ้าวันนี้เลย อยากได้ 500 มันก็ดีนะ แต่ 600 เลย มันก็แพงไปเนอะ ถ้ารัฐบาลให้ 600 ก็ดี ก็อยากได้เยอะเหมือนกัน ค่าใช้จ่ายมันเยอะมาก อะไรก็แพง...เลือกตั้งเหรอ ถ้าถูกใจก็ไป ไม่ทิ้ง เลือกทุกครั้ง”

ค่าแรงขั้นต่ำ

เซีย จำปาทอง อายุ 51 ปี ประธานสหภาพแรงงานกิจการปั่น-ทอแห่งประเทศไทย (พิพัฒนสัมพันธ์)

เซีย เข็นจักยานแม่บ้านคันเก่าออกจากบ้านตอน 7.15 น. เพื่อปั่นไปโรงงานที่อยู่ห่างออกไปราว 1 กิโลเมตร เขาเล่าว่า ชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่กินข้าวจากที่บ้าน ตอนเที่ยงกินข้าวที่โรงอาหารในโรงงาน ราคาอาหารจานละ 20 บาท โรงงานจะมีข้าวให้เป็นสวัสดิการ

ค่าแรงขั้นต่ำ

“เราซื้อแต่กับข้าว แต่ปริมาณก็ไม่เยอะ ส่วนใหญ่ผมจะซื้อกับข้าวจากข้างนอกเข้าไป บางทีข้างในตัวเลือกมันน้อย เพราะมีแค่ร้านเดียว แต่พนักงานส่วนใหญ่ซื้อที่ร้านอาหารข้างใน เลิกงานก็กลับบ้าน”

ค่าแรงขั้นต่ำ

รายได้ปัจจุบันเงินเดือน 24,000 บาท หน้าที่งานเป็นคนคุมเครื่องร้อยตะกอ ทำงานครั้งแรก เมื่อปี 2536 ค่าจ้างขั้นต่ำ 115 บาท เซียทำงานที่เดิมต่อเนื่องสามสิบปี ไม่เคยลาออกไปทำที่อื่นเลย “ตอนแรกคิดว่าจะอยู่สักปีสองปี ก็จะออก พออยู่ไปอยู่มา ได้มาทำงานสหภาพฯ ถ้าเกิดออกจากงานไปอยู่ที่อื่น ก็คงต้องไปต่อสู้เรียกร้อง เพราะทุกโรงงานไม่ค่อยมี ที่นายจ้างจะจัดสวัสดิการดีๆ ให้ มีแต่ว่าเราต่อสู้เรียกร้องยังไงให้ได้มากขึ้น พออายุเริ่มเยอะ เราก็ไปไหนไม่ได้แล้ว ตอนนี้อายุ 51 จะไปหางานที่อื่นก็หาไม่ได้แล้ว คิดว่าจะทำจนที่นี่จนเกษียณ”

ค่าแรงขั้นต่ำ

เนื่องจากทำงานสหภาพฯ เซียเล่าว่า เจอแรงกดดัน ถูกย้ายมาอยู่แผนกปัจจุบัน เหมือนกลั่นแกล้ง แต่ก็สู้ ทำงาน เพราะถ้าตกงานก็ไม่มีรายได้ ตอนนั้นลูกก็ยังเรียนอยู่ บ้านก็ต้องผ่อน ปัจจุบ้านผ่อนหมดแล้ว ลูกเรียนจบและทำงานแล้ว ด้านภาระส่วนตัว คลี่คลายขึ้นหลังลูกชายเรียนจบ ตอนนี้เหลือผ่อนรถกระบะอย่างเดียว

หากถามว่าชีวิตตอนนี้แฮปปี้มั้ย เซียบอกว่า รวมๆ ถือว่าดีขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับแฮปปี้ ยังห่วงตอนที่เกษียณอายุ ถ้าไม่มีเงินออมแล้วรัฐไม่มีบำนาญมาดูแล ก็คงจะลำบาก ปัจจุบันมีทั้งออมเงินกับสหกรณ์ และมีทั้งหนี้ที่กู้สหกรณ์ “ถึงมีออมแต่ก็ไม่เยอะ เพราะไม่มีเยอะให้ออม”

ในบทบาทของผู้นำแรงงาน เขามองเห็นปัญหาที่เป็นรูปธรรม เช่น ในขบวนการแรงงานมีการพูดถึงเรื่อง สาม 8 คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง นอน 8 ชั่วโมง แต่ตอนนี้ไม่มีใครมีเวลาขนาดนั้น เขาฉายภาพว่า “เพื่อนผมทำงาน 7 โมง แต่ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อขึ้นรถรับส่งไปทำงาน เพราะอยู่ไกล เลิกงานกว่าจะกลับถึงบ้านก็ราวสองทุ่ม เขาไม่มีโอกาสไปไหน เพราะใช้เวลาเดินทางอยู่บนรถ เช้าสองชั่วโมง เย็นสองชั่วโมง คุณภาพชีวิตมันไม่ได้ ค่าแรงวันละสามร้อยกว่าบาท หากไม่พอกิน ก็ต้องทำโอที ไม่มีโอทีก็ต้องหารายได้เสริม ทุกคนมีภาระทั้งค่าบ้านเช่า พ่อแม่ที่ต้องดูแลส่งเสีย ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน ถามว่าอยู่ได้มั้ย มันต้องอยู่ให้ได้ แต่ว่าเรื่องคุณภาพชีวิตมันก็ไม่ดี หมูกิโลละเกือบสองร้อย ผักก็แพง ทุกอย่างมันแพงมากขึ้น หรือคนที่อยู่ในเมือง ถ้าขึ้นรถไฟฟ้า มันก็แพง”

และความแตกต่างระหว่างแรงงานในระบบกับนอกระบบ เช่น เขามีเพื่อนที่รับงานเย็บ เรียกว่า sub-contract ทำงานที่บ้าน ถ้ารับงานยอะ ก็ทำตั้งแต่เช้ามืด ที่บอกว่าทำเยอะได้เยอะ แต่ที่ได้ มันไม่ได้เยอะเท่าไหร่ และมีความเสี่ยงในการทำงานทุกอย่างที่ต้องดูแลตัวเอง ไม่มีใครรับผิดชอบ ต่างกับในโรงงานถ้าเกิดอุบัติเหตุ นายจ้างก็ต้องดูแล ถ้าไม่สบาย ทำงานไม่ได้ ก็ไม่ได้ค่าจ้าง

ค่าแรงขั้นต่ำ

“ถามว่าจะอยู่ได้ยังไง ก็ต้องดิ้นรนอยู่ให้ได้ แต่ว่าคุณภาพชีวิตมันแย่ แม้คนที่ไร้บ้าน ก็ยังต้องอยู่ให้ได้ เขาก็มีกิน แต่กินเพื่อประทังชีวิต เรายังมีงานทำ มีรายได้ ก็ยังมีโอกาสเลือกกินบ้าง ถึงแม้สิ่งที่เราเลือกจะไม่ใช่อาหารเกรดเอ ถ้าคนมีตังค์เยอะๆ ก็จะซื้ออาหารเกรดเอกิน ของเราก็ซื้ออาหารเกรดที่มันลดลงมา เพราะมันไม่มีเงินไปซื้อเกรดเอกิน”

“อาหารเกรดเอสำหรับผม กินจิ้มจุ่ม ร้านหมูกระทะ ก็ถือว่าเกรดเอแล้วนะ สำหรับคนงานอย่างพวกผม กินจิ้มจุ่ม ลาบก้อย ถือว่าเกรดเอแล้ว แต่คนรวยเขาไม่ได้กินแบบนี้ ล่าสุดกินมาเมื่อสองอาทิตย์ เดือนหนึ่งจะกินแบบนี้สักครั้งหนึ่ง ถ้ามีเงินก็จะคิดว่าจะออมยังไง เอาไว้สำหรับอนาคต ถ้าไม่ออมก็ลำบาก”

เสกสรร โรจนเมธากุล
ผู้สื่อข่าวภาพ Voice Online
6Article
0Video
0Blog