ไม่พบผลการค้นหา
รองโฆษก ตร.สรุปผลการดำเนินคดีม็อบราษฎร 5 พ.ย. 140 คดี ใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ ยืนยันการจับกุมของเจ้าหน้าที่ยึดหลักนิติศาสตร์

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง โดย พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมา บช.น.ได้จับกุมผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 86 คดี รวมผู้ต้องหาทั้งหมด 79 ราย แยกเป็น 1. ความผิดมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมด 68 ราย 2.ความผิดประทุษร้าย ตามมาตรา 110 ทั้งหมด 3 ราย 3. ความผิดการกระทำผิด ตามมาตรา 116 ทั้งหมด 13 ราย และ 4. ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การเปรียบเทียบปรับ อาทิ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ หรือ พ.ร.บ.อื่นๆ อีกทั้งหมด 2 ราย

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีการรวมตัวชุมนุมของกลุ่มต่างๆ แน่นอนว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ภาพรวมทั้งประเทศตำรวจได้มีการดำเนินคดีไปแล้ว 140 คดี ใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ ในเรื่องการชุมนุมนั้นอยากให้ยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นหลัก โดยเฉพาะการแจ้งการชุมนุมกับตำรวจที่รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากเพื่อให้ตำรวจรับทราบ และจัดกำลังไปอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.เพื่อชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ โดยเฉพาะการใช้อำนาจในการจับกุม หรือปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการ ในส่วนการชี้แจงคงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายกฎหมายก็ต้องไปดูซึ่งเป็นขั้นตอนในการชี้แจงตามปกติ และในส่วนอื่นๆ ที่ต้องไปชี้แจงมีผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยตรง

สำหรับ บช.น.หรือส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีความกังวลอะไร ยืนยันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ทุกส่วน ยึดหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ไม่ได้มุ่งบังคับ ใช้กฎหมายจับกุมเป็นหลักมีการเจรจาต่อรอง มีขั้นตอน มีพัฒนาการจนไปถึงในจุดที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเรามีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยยึดถือกฎหมายเป็นที่ตั้ง