คณะกรรมการคัดเลือกการขนส่ง หนึ่งในคณะกรรมการนิติบัญญัติของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรออกมาให้คำนิยามต่อสายการบินแห่งชาติอย่างบริติชแอร์เวย์ว่าเป็น "ความน่าอับอายของชาติ" หลังบริษัทแสดงออกถึงความพยายามปลดคนงานและปรับเปลี่ยนสัญญากับพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม
ในรายงานจากคณะกรรมการฯ ชี้ว่า ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด สายการบินได้พยายามกระทำการเอาเปรียบพนักงานโดย "ไตร่ตรองมาก่อนแล้ว" ผ่านท่าทีที่อาจนำไปสู่การปลดลูกจ้างถึง 12,000 ราย และการปรับเปลี่ยนสัญญากับพนักงานอีกราว 30,000 คน ให้มีเงื่อนไขการจ้างงานที่แย่กว่าเดิม
แม้ว่าการปรับลดพนักงานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อยู่ดีเมื่อคำนวณว่าสายการบินได้รับเม็ดเงินช่วยเหลือถึง 300 ล้านปอนด์ (11,600 ล้านบาท) จากธนาคารกลางอังกฤษ ประกอบกับเงินอีกราว 35 ล้านยูโร/เดือน (1,360 ล้านบาท) เพื่อให้คงสถานะการลาพักงานของพนักงานไว้ อีกทั้งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทยังมีกำไรสุทธิหลังหักภาษีแล้วถึง 1,100 ล้านปอนด์ (42,700 ล้านบาท) และมีเงินสำรองถึง 2,600 ล้านปอนด์ (101,000 ล้านบาท)
รายงานระบุว่า "พฤติกรรมของสายการบินบริติชแอร์เวย์และบริษัทแม่ที่มีต่อลูกจ้างของตนเป็นความน่าอับอายของชาติ พฤติกรรมนี้ตกต่ำลงไปใต้มาตรฐานที่เราคาดหวังจากนายจ้างรายใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการสนับสนุนเงินภาษีมากขนาดนี้ ในช่วงเวลาที่เป็นวิกฤตของชาติแบบนี้"
ด้วยเหตุนี้ ทั้งฝั่งสมาชิกรัฐสภาและสหภาพแรงงานจึงออกมาเรียกร้องให้มีการปรับลดเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกจากสนามบินฮีทโธรว์ที่บริษัททำกำไรได้มากออก เพื่อเป็นการลงโทษกับการกระทำดังกล่าว
นายฮิว เมอร์รีแมน สมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรผู้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกการขนส่ง กล่าวเพิ่มว่า "การทำร้ายพนักงานที่จงรักภักดีต่อบริษัทอย่างไม่เป็นธรรมแบบนี้ไม่สามารถผ่านไปได้โดยไม่มีการลงโทษจากรัฐบาล รัฐสภา หรือผู้โดยสารที่จ่ายเงิน ผู้ซึ่งอาจจะหันไปเลือกใช้บริการสายการบินอื่น เรามองสิ่งนี้เป็นความน่าอับอายของชาติ"
'บริติชแอร์เวย์' โต้กลับ เผยรัฐบาลแทบไม่ได้ช่วยอะไร
ขณะที่สายการบินบริติชแอร์เวย์ออกมาโต้กลับว่า รายงานฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมาจากอารมณ์มากกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังชี้ว่ารัฐบาลไม่ได้มีแผนที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมการบินกลับมาเริ่มต้นใหม่และฟื้นตัวได้แต่อย่างใด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากมาตรการที่ภาครัฐสั่งให้ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และย้ำว่าขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีมา
"เราจะทำทุกอย่างที่ทำได้ตามอำนาจที่เรามี เพื่อให้มั่นใจว่าบริติชแอร์เวย์จะรอดจากสถานการณ์นี้และรักษาตำแหน่งงานให้ได้มากที่สุดในแบบที่ยังสอดคล้องกับความจริงชุดใหม่ที่อุตสาหกรรมการบิน เกิดความเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวอย่างรุนแรง" โฆษกสายการบินกล่าว
ด้านความเคลื่อนไหวจากภาครัฐ โฆษกรัฐบาลออกมาชี้แจงว่าเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะในฝั่งพนักงานที่เผชิญหน้ากับความยากลำบากในปัจจุบัน โดยรัฐบาลยังสนับสนุนให้ธุรกิจยังคงสถานะพนักงานเอาไว้ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการรักษางานที่ทำร่วมกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจไม่สามารถแบกรับภาระตรงนี้ต่อได้ รัฐบาลก็พร้อมดูแลประชาชนที่สูญเสียงาน
โฆษกรัฐบาลสหราชอาณาจักรย้ำด้วยว่า ทางการกำลังเร่งปกป้องอนาคตของธุรกิจการบิน แต่ความสำคัญเร่งด่วนที่สุดตอนนี้คือระบบสาธารณสุขและการทำให้มั่นใจว่าประเทศจะไม่เผชิญหน้ากับการระบาดระลอกที่สอง
อ้างอิง; Reuters, BBC, The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :