ไม่พบผลการค้นหา
'ผู้ป่วย' พุ่งสามเท่าตัว แม้ร่างกายและจิตใจของ 'ด่านหน้า' พร้อมรับมือ แต่เมื่อเจอซ้ำกับระลอกใหม่ คำตอบเดียวที่จะยับยั้งได้นั่นคือ 'วัคซีน'

รอบนี้ถือว่าหนักมากในพื้นที่ชายแดนใต้...ล่าสุดเราตรวจ 21 ติดเชื้อ 18 ราย...คาดว่า 10 ล้านโดสที่รัฐจัดหามาต่อเดือน อาจจะไม่เพียงพอ

หลากทัศนะของ 'นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ' หรือ 'หมอจุ๊ก' ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ฉายภาพในพื้นที่ต่อการรับมือกับ 'วอยซ์'

ต่อกรณีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ประกอบไปด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา โดยเฉพาะ 'คลัสเตอร์มัรกัส' ซึ่งเป็นศูนย์กลางรวมตัวกันของนักเรียนโรงเรียนสอนศาสนาพื้นที่ยะลา ล่าสุด (28 มิ.ย.) พบผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 643 ราย กระจายไปยัง 12 เมือง

อาทิเช่น ยะลา, นราธิวาส, ปัตตานี, สงขลา, สตูล, กระบี่, พัทลุง, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, พังงา, ตรัง และภูเก็ต

ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 5,406 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,397 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 9 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย โดยผู้ป่วยสะสมระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มีจำนวน 220,990 ราย และเสียชีวิตถึง 1,840 รายแล้ว

นำไปสู่การประกาศยกระดับคุมเข้มเฝ้าระวัง ปิดแคมป์คนงานและห้ามจัดกิจกรรมรวมตัวกันพร้อมตรวจเชิงรุกโดยเฉพาะสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) และ เดลตา (อินเดีย) ที่อาจทะลักเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย

สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
  • นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

'ผอ.โรงพยาบาลจะนะ' ยอมรับว่าสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ขณะนี้ ถือว่าระบาดหนักมากกว่าทุกครั้ง โดยชี้ว่าสาเหตุหลักมี 2 ปัจจัย คือ 1.คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง เนื่องจากคนงานมักอาศัยอยู่กันในชุมนุม พอเสร็จงานก็เดินทางกลับที่พักอาศัย อีกทั้งเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่ในพื้นที่แออัดทำให้เกิดรอยต่อจุดเชื่อมการระบาด

2.กิจกรรมทางศาสนาที่มีการรวมตัวกันของประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่ โดยพิธีกรรมมักจะอยู่ในพื้นที่ปิด ง่ายต่อการเป็นอีกหนึ่งสาเหตุครั้งนี้

"ล่าสุดที่โรงเรียนศาสนาระบาดมันคล้ายกับกรณีเรือนจำ เพราะเป็นโรงเรียนประจำ เด็กเขาใช้ชีวิตร่วมกันมันเลยทำให้ แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว"

ด้วยเหตุข้างต้น 'หมอสุภัทร' กล่าวเสริมว่าจากคลัสเตอร์โรงเรียนศาสนา ตรวจกลุ่มเสี่ยง ไป 21 ราย พบว่ามีผู้ติดเชื้อถึง 18 ราย ถือเป็นสัญญานที่ไม่ดีนัก หากไม่เร่งระงับสกัดการเพาะเชื้อไปยังพื้นที่อื่น

อีกข้อวิตกและถูกพูดถึงคือการระบาดของสายพันธุ์แอฟฟริกาใต้และอินเดีย แต่ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ มองว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้น คือสายพันธุ์อังกฤษ เนื่องจากกระจายเร็ว และยังไม่แน่ชัดว่าสายพันธ์เบตาได้รุกเข้ามาในพื้นที่หรือไม่


ความแร้นแค้นของแพทย์ชนบท

"ตอนนี้เตียงไม่พอแล้ว" หมอจุ๊ก ให้คำตอบทันทีเมื่อถูกเอ่ยถามว่า เวลานี้ผลกระทบมันรุนแรงอย่างไรบ้าง ก่อนเล่าย้อนไปเมื่อการระบาดระลอกแรก ปี 2563 สถานการณ์ขณะนั้น เตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดจำนวน 40 เตียง ถือว่าเพียงพอ เนื่องจากในพื้นที่สามารถจัดการและควบคุมยอดผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดี

แรงงาน.jpg
  • ฝ่ายมั่นคงเข้าควบคุมแคมป์คนงานใน กทม.

แต่ความรุนแรงในรอบล่าสุด กลับทวีคูณด้วยยอดผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ปัจจุบันแม้เพิ่มจำนวนเป็น 140 เตียง แต่ไม่สามรถรับมือได้ ผลจากการระบาดอย่างรวดเร็ว จึงต้องใช้พื้นที่ในชุมนุมเปิด 'รพ.สนาม' โดยตั้งเป้าไว้อย่างน้อยจำนวน 500 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

""ที่ผานมาพวกเราแพทย์ชนบทในแต่ละพื้นที่ ได้สู้กันอย่างเต็มที่ ทั้งตรวจเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อวนลูปไปมา จนมาถึงปัจจุบันผมมองว่าทางรอดเดียวคือการมีวัคซีน"

คงปฏิเสธไม่ได้หากนิยามว่า 'ความล่าช้าคือความตาย' เมื่อสิ่งจำเป็นที่ต้องถูกนำเข้ามายังคงไร้ประสิทธิภาพ

"ผมคิดว่าในพื้นที่น้อยกว่า 10 % สำหรับผู้ที่ได้วัคซีน" นพ.สุภัทร ตอกย้ำความเหือดแห้งของอาวุธที่จะใช้ป้องกันโรค โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่อย่างสงขลา ที่มีประชากรทั้งหมด (ปี2563) 1,428,609 คน

แม้ว่าตอนนี้รัฐบาลประกาศว่าจะจัดหาวัคซีนได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่มุมมองของด่านหน้าผู้เผชิญการรักษา ยืนยันว่าไม่เพียงพอแน่นอน เพราะอย่างน้อยต้องมี 15 ล้าน ถึงจะพอเพียงต่อสถานการณ์

ก่อนสิ้นสุดบทสนทนา นพ.สุภัทร ทิ้งท้ายให้ชวนเวทนาว่า "แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่า ในพื้นที่จะได้วัคซีนเพิ่มเมื่อไหร่และจำนวนเท่าใด" เป็นอีกหนึ่งปัญหาของความไม่ชัดเจนจากส่วนกลาง ต่อการจัดสรรปันส่วนวัคซีนตามพื้นที่ต่างๆ แม้ว่าประเทศไทยนั้นจะเผชิญโควิดมาแล้วร่วม 2 ปี

ภาพประกอบข่าว:เพจนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog