ไม่พบผลการค้นหา
เดิมที รัฐวาเลส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นหุบเขาที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ แต่ปัจจุบันกลับถูกแทนที่ด้วย 'กระบองเพชร' เนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของพวกมัน

วาเลส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีทิวทัศน์ภูเขาสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยทั่วไป พื้นที่จะถูกปกคลุมไปด้วยหิมะในฤดูหนาว และดอกเอเดลไวส์ในฤดูร้อน

แต่ทุกวันนี้ เมื่อปัญหาภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น "ชนิดพันธุ์รุกราน" อย่าง 'กระบองเพชร' ได้เข้ามาแทนที่ และกลายเป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ดังกล่าว โดยมีรายงานว่า กระบองเพชรตระกูล Opuntia ได้ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนตอนนี้ประชากรของมันคิดเป็น 23-30% ของพืชพันธุ์เตี้ยในพื้นที่แล้ว

โดย ยานน์ ตริโปเนซ นักชีววิทยาประจำหน่วยพิทักษ์ธรรมชาติของวาเลส์ คาดว่า ในบางพื้นที่ กระบองเพชรสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกินพื้นที่ราวหนึ่งในสามของขนาดพื้นที่ทั้งหมด ทั้งนี้ กระบองเพชร Opuntia พบได้ในวาเลส์ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 โดยถูกนำเข้ามาจากอเมริกาเหนือ

"วาเลส์ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในสวิตเซอร์แลนด์เรามีพืชอยู่ราว 3,000 ชนิด โดยกว่า 2,200 ชนิดนั้นอยู่ในวาเลส์” ยานน์ ระบุ

ทางการสวิตเซอร์แลนด์ เชื่อว่า สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นในเทือกเขาแอลป์ ทำให้กระบองเพชรมีระยะเวลาเติบโตนานขึ้น และหิมะที่ปกคลุมน้อยลง มีส่วนในการสร้างสภาวะที่เหมาะสมที่สุดในการแพร่พันธุ์ของมัน

ปีเตอร์ โอลิเวอร์ บามการ์ตเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาซึ่งมีความสนใจด้านพฤกษศาสตร์ กล่าวว่า “กระบองเพชรเหล่านี้ทนอุณหภูมิ -10 หรือ -15 องศาเซลเซียสได้โดยไม่มีปัญหา เพียงแต่ต้องอยู่ในที่แห้งและไม่มีหิมะ”

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา สวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ขณะนี้ หิมะถือว่าเป็นสิ่งที่พบได้ยากขึ้น แม้เป็นพื้นที่ระดับความสูงต่ำก็ตาม อาทิ ในพื้นที่ระดับความสูงต่ำกว่า 800 เมตรทั่วประเทศ พบว่า จำนวนวันที่หิมะตกลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี ค.ศ. 1970

ขณะเดียวกัน สวิตเซอร์แลนด์ร้อนเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่า โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในสวิตเซอร์แลนด์อุ่นกว่าค่าเฉลี่ยปี ค.ศ. 1871-1900 ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 2.4 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ การป้องกันไม่ให้กระบองเพชร Opuntia เพิ่มจำนวนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พวกมันขยายพันธุ์ได้ง่าย เติบโตได้แม้ถูกโค่น หรือถูกเหยียบโดยนักปีนเขา หรือปล่อยให้แห้งเป็นเวลาหลายเดือน และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากถูกถอนรากออก

ที่มา: The Guardian