ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารออมสินชี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาส 2/2562 จะชะลอจากภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่ ก.คลังปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้โตร้อยละ 3.8 จากเดิมคาดร้อยละ 4.1

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำไตรมาส 1/2562 ได้ดำเนินการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 2,186 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี GSI ไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ระดับ 46.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2561 ที่อยู่ระดับ 45.9 เนื่องจากประชาชนฐานรากมีความรู้สึกเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นเงินเดือนของผู้ที่มีรายได้ประจำในช่วงต้นปี และราคาสินค้าเกษตรบางรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น อาทิ ข้าวหอมมะลิ และสินค้าหมวดปศุสัตว์ 

สำหรับระดับ GSI ในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 51.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 47.8 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากประชาชนฐานรากมีความคาดหวังด้านเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งว่ารัฐบาลใหม่จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ/สนับสนุนผู้มีรายได้น้อยใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ด้านความสามารถในการชำระหนี้ การหารายได้ และโอกาสในการหางานทำปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการจับจ่ายใช้สอย การออม และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งศูนย์วิจัยฯ มองว่าประชาชนฐานรากมีความระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่าในไตรมาส 2/2562 (เม.ย.-มิ.ย.) ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากจะปรับตัวลดลงตามฤดูกาล เนื่องจากประชาชนมีภาระในการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงเปิดเทอม และภาคการเกษตรเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตสำคัญออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับการเมืองในประเทศยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น จึงควรมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป

คลังปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี' 62 ขยายตัวร้อยละ 3.8 อ้างปัจจัยต่างประเทศฉุด

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2562 อีกครั้ง โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัว ร้อยละ 3.8 ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 จากปัจจัยอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง เป็นหลักเกิดผลกระทบกับการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้า 

โดยเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival หรือ VOA)

ขณะที่ แรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐยังคงจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้า

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้น

"ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อจากนี้ไปจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจนระยะต่อไปผ่านการใช้จ่ายภายในประเทศ" นายลวรณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :