นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสมัยพิเศษของผู้นำอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) เพื่อหารือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านระบบ Video Conference เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 โดยถ้อยแถลงตอนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ระบุว่าไทยได้มอบน้ำยาชุดตรวจโควิด-19 ให้ประเทศอาเซียนประเทศละ 10,000 ชุด รวม 90,000 ชุด นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงน้ำใจที่ไทยเรามีให้ประเทศเพื่อนบ้าน และยังแสดงให้เห็นว่าเรามีน้ำยาชุดตรวจ RT-PCR เพียงพอที่จะดูแลตรวจคนไทยได้อย่างทั่วถึง
แต่น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้ ศบค. จะมีการรายงานจำนวนการตรวจเชื้อโควิด-19 ทุกวัน โดยจะมีจำนวนการตรวจคงค้างรอผล และจำนวนการตรวจสะสม แต่ในระยะหลังรายงานส่วนนี้หายไป รายงานล่าสุดตัวเลขที่ปรากฏบอกว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 3 เมษายน 2563 มีจำนวนการตรวจสะสมรวม 84,008 ตัวอย่าง และในวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเชิงรุกในการจัดการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกำหนดยุทธศาสตร์ “1 จังหวัด - 1 แล็บ - 100 ห้องปฏิบัติการ” เพื่อเร่งตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ตามแนวทางการปรับเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค เพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้เร็วและมากที่สุด โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เร่งทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ การตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 เพิ่มขึ้นอีก 30 แห่งทั่วประเทศ เมื่อรวมกับห้องปฏิบัติการเดิมที่ผ่านการรับรองแล้วจำนวน 80 แห่ง ทำให้ในเดือนเมษายนนี้จะมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 รวม 110 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ รองรับความสามารถในการตรวจสูงสุดถึง 20,000 ตัวอย่างต่อวัน แต่จากตัวเลขจำนวนการตรวจระหว่างวันที่ 4 ถึง 10 เมษายน 2563 ที่มีการตรวจแค่ 16,490 ตัวอย่าง เฉลี่ย 2,355.7 ตัวอย่างต่อวันเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนการตรวจที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับศักยภาพและจำนวนประชากรที่มีอยู่
ในส่วนของตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวัน ในช่วง 8 วันที่ผ่านมา อยู่ในระหว่าง 29-54 ราย แต่มาตรการป้องกันการนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศโดยการปิดสนามบิน โดยคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศทุกคนต้องผ่านการคัดกรอง และต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วันอย่างเข้มงวดยังต้องดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับการควบคุมจำนวนการติดเชื้อในประเทศที่จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดด้วยเช่นเดียวกัน รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการที่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ต่อไป แล้วรีบแยกออกมารักษา
ศูนย์ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 พรรคเพื่อไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องปูพรมตรวจให้สิ้นเปลืองทรัพยากรและค่าใช้จ่าย ดังที่รัฐบาลมักจะใช้เป็นข้ออ้าง โดยการเลือกตรวจในกลุ่มเสี่ยงที่มีความเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่การกักตัว 14 วัน ดังนี้
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อสม. ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง สัมผัส กับผู้ติดเชื้อ
2. บุคคลทุกคนที่อยู่ในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือมีความสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ
3. กลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ
4. กลุ่มที่มีความเสี่ยงอื่น เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นต้น
โดยวิธีการตรวจ ให้ใช้ Rapid Test ตรวจ Antibody เป็นเบื้องต้น เพราะโควิด-19 ได้อุบัติขึ้นในประเทศไทย มาเป็นเวลานานพอสมควร ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อสามารถสร้างแอนติบอดี้ในร่างกายให้ตรวจพบได้ และถ้าเป็นผลบวกจึงจะไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง ซึ่งนอกจากค้นหาผู้ที่มีเชื้อในร่างกายมารักษาไม่ให้แพร่เชื้อต่อไปได้แล้วยังมีประโยชน์ในการศึกษาระบาดวิทยา เพื่อให้รู้ว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อ มีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่มากน้อยแค่ไหนภายในประเทศ เพื่อจะได้หาวิธีการรักษาและป้องกันต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :