ไม่พบผลการค้นหา
นายกสมาคมประมง จ.สมุทรสาคร วอนรัฐเหลียวแล โอดปลดล็อกใบเหลือง IUU ให้ประโยชน์แค่รายใหญ่ส่งออกเพียง 4-5 ราย ส่วนชาวประมงในประเทศล่มจม

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยภายหลังที่รัฐบาลไทยได้รับประกาศแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรป (EU) เรื่องการทำประมงผิดกฎหมายโดยขาดการรายงานและไร้การควบคุมหรือ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ว่า มุมมองของชาวประมงขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไทยไม่ได้อานิสงส์แต่อย่างใด เนื่องจากเรือประมงหลายหมื่นลำต้องหยุดทำการไปตั้งแต่รัฐบาลจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)” ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว

“ผมไม่เข้าใจว่าภาครัฐบอกว่ามาตรฐานมากขึ้น เพราะว่าตั้งแต่ตอนยังไม่ปลด (ล็อค) มาตรฐานก็เกินอยู่แล้ว รัฐบาลเข้ามาก็มีการจัดระเบียบชาวประมงรุนแรงโดยตลอด เช่นเรื่อง พ.ร.ก. ประมง (พระราชกำหนดการประมง 2558) ก็มีโทษปรับรุนแรง เข้มงวด ผ่อนปรนน้อยมาก ทั้งการปรับและใช้กฏหมาย เพราะชาวประมงที่ทำมาก่อนหน้านี้ ทำมาโดยเสรีตั้งแต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายในอาชีพประมง พอภาครัฐบอกว่าอยากปรับระเบียบ เราก็ยินดี แต่มันรุนแรงเกินเหตุ ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงล้มหายตายจากไปเป็นครึ่ง ได้รับผลกระทบจากการทำประมง และจากการใช้กฏหมายรุนแรงจนบางครั้งออกเรือไม่ได้ ต้องเลิกไป”

นายกำจรกล่าวว่า ชาวประมงไม่ได้อานิสงส์ในการปลดใบเหลือง เพราะผู้ส่งออกจะได้อานิสงส์มากกว่า แต่ชาวประมงรับเคราะห์รับบาปมาโดยตลอดที่การส่งออกโดนกีดกัน เจอทั้งสั่งให้เรือจอดจากการใช้แรงงานไม่ถูกต้องและการจำกัดการทำการประมงปีละเพียง 200 กว่าวัน

สาเหตุที่ชาวประมงไม่ได้อานิสงส์นั้น นายกำจรอธิบายว่า ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทำประมงที่มีศักยภาพสำหรับส่งออก และสินค้าทะเลที่ใช้ส่งออกเช่น ปลาทูน่า หรือปลาโอ เป็นปลานำเข้าเพื่อแปรรูปและกุ้งเพาะเลี้ยง ส่วนกุ้งทะเลก็บริโภคในประเทศ ตอนนี้ขอวิงวอนให้รัฐบาลอย่าออกกฏหมายซ้ำซ้อนหากต้องรับรอง Convention 188 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในอนาคต และผ่อนปรนกฏหมายลูกเป็นกรณีไป โดยมีหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวใน พ.ร.ก. ประมงซึ่งปรับรุนแรงกว่าแรงงานต่างด้าวบนฝั่ง เป็นต้น

นายชัยพงษ์ วิสุทธิรานนท์ ประธานกลุ่มเกษตรทำการประมงมหาชัย กล่าวว่า ตอนนี้ขาดแรงงาน และการทำประมงยากลำบากเพราะกฏหมายไม่เอื้อชาวประมง

นางสาวจุ๋มจิ๋ม เล็กสุวรรณ แม่ค้าปลาทู ตลาดท่าเรือมหาชัย กล่าวว่า ปลาทูสดในระยะสามสี่ปีหลังมีจำนวนน้อยลง ทำให้ลูกค้าน้อยลงไปด้วย เนื่องจากเมื่อจำนวนเรือที่ออกไปจับปลาน้อยลง ผู้บริโภคจึงต้องซื้อปลาทูแช่แข็งที่มาจากน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านแทน ซึ่งรสชาติไม่อร่อยเท่าปลาทูสดของไทย