ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เผยฝนจะกลับมาตกต้องตามฤดูกาลอีกครั้งหลังจากทิ้งช่วงนาน ย้ำต้องเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศโลกส่งผลให้ฝนน้อยตั้งแต่ปี 2562 ต่อเนื่องถึงปีนี้ คาดมีพายุเข้าไทยทำให้มีฝนชุก 1 ลูกในเดือนส.ค.และสิ้นฤดูฝนเร็วตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.

สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวถึงสถานการณ์ฝนว่ากลางเดือนก.ค.เป็นต้นไป จะมีฝนตกชุกหลายพื้นที่ หลังจากฝนทิ้งช่วงไปตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย. โดย สสน.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คาดการณ์สถานการณ์อากาศ ฝน และการเกิดพายุเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้เป็นข้อมูลบริหารจัดการน้ำได้วิเคราะห์ว่า ปี 2563 ฝนจะน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยต่อเนื่องจากปี 2562 ทำให้น้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีน้อยกว่าความต้องการใช้ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 35 อ่าง มีอ่างเก็บน้ำที่ปริมาตรน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างซึ่งถือว่า น้ำน้อยอยู่ในขั้นวิกฤติ 25 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีน้ำร้อยละ 29 เขื่อนแม่งัดมีน้ำร้อยละ 20 เขื่อนแม่กวงมีน้ำร้อยละ 28 เขื่อนกิ่วคอหมามีน้ำร้อยละ 23 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำร้อยละ 15 เขื่อนแม่มอกมีน้ำร้อยละ 22 เขื่อนลำตะคองมีน้ำร้อยละ 28 เขื่อนลำพระเพลิงมีน้ำร้อยละ 18 เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำร้อยละ 13 เขื่อนจุฬาภรณ์มีน้ำร้อยละ 29 เขื่อนห้วยหลวงมีน้ำร้อยละ 18 เขื่อนลำนางรองมีน้ำร้อยละ 16 เขื่อนมูลบนมีน้ำร้อยละ 18 เขื่อนน้ำพุงมีน้ำร้อยละ 21 เขื่อนลำแซะมีน้ำร้อยละ 14 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำร้อยละ 10 เขื่อนกระเสียวมีน้ำร้อยละ 17 เขื่อนทับเสลามีน้ำร้อยละ 30 เขื่อนบางพระมีน้ำร้อยละ 13 เขื่อนคลองสียัดมีน้ำร้อยละ 11 เขื่อนขุนด่านปราการชลมีน้ำร้อยละ 23 เขื่อนประแสร์มีน้ำร้อยละ 16 เขื่อนนฤบดินทรจินดามีน้ำร้อยละ 27 เขื่อนแก่งกระจานมีน้ำร้อยละ 28 เขื่อนปราณบุรีมีน้ำร้อยละ 26

นายสุทัศน์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยาน่าเป็นห่วงทั้งหมด โดยน้ำในเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ มีน้ำใช้การประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษเท่านั้น ทั้งนี้ จากอัตราความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 จนถึงกลางเดือนพ.ค.2564 ในลุ่มเจ้าพระยามีความต้องการน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และการเกษตร 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เหลือเวลาอีกประมาณ 100 วัน จะสิ้นสุดฤดูฝนต้องเก็บกักน้ำเพิ่มให้ได้ 11,250 ล้านลูกบาศก์เมตร หากน้อยกว่านี้จะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ แต่ต้องงดการทำนาปรังและปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม ทาง สสน.ติดตามการเกิดพายุในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งปกติเดือนก.ค.จะมีพายุก่อตัว แล้วพัดเข้าขึ้นสู่ฝั่ง แม้พายุที่เกิดในช่วงนี้จะยังไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่หากมีพายุก่อตัวหลายลูกบ่งชี้ว่าฝนจะมาก ซึ่งปรากฏว่าเดือนก.ค.ปีนี้ยังไม่มีพายุ จึงคาดการณ์ว่าฝนช่วงปลายฤดูจะยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยต่อเนื่องจากต้นปี อีกทั้งฝนจะหมดเร็ว จากปกติจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนต.ค.แต่ปีนี้อาจสิ้นสุดประมาณปลายเดือนก.ย.เท่านั้น สำหรับพายุจากมหาสมุทรแปซิฟิกที่จะพัดเข้าสู่ไทยปกติแล้วจะมีเฉลี่ยปีละ 1-2 ลูก แต่ปีนี้คาดว่าจะมี 1 ลูกในเดือนส.ค.

นายสุทัศน์ กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการน้ำในภาวะที่ฝนน้อยและน้ำที่เก็บกักในเขื่อนต่าง ๆ น้อยนั้น หากมีฝนตกลงมาต้องเก็บกักไว้ให้มากที่สุดและระบายน้ำเท่าที่จำเป็น รวมทั้งต้องปรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่า และน้ำเก็บกัก ข้อห่วงใยอีกประการ คือ ปีนี้ฝนมาล่าช้า ทำให้เกษตรกรทำนาช้ากว่าปกติ หากฝนดีตั้งแต่ต้นฤดู สามารถทำนาได้ตั้งแต่กลางเดือนพ.ค. แล้วเก็บเกี่ยวหมดไม่เกินปลายเดือนก.ค.แต่ปีนี้หลายพื้นที่เลื่อนการปลูกข้าว โดยจะเก็บเกี่ยวปลายเดือนส.ค.ซึ่งคาดว่าจะมีพายุเข้ามาและบางพื้นที่อาจเกิดอุทกภัย ทำให้ผลผลิตเสียหาย ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด