ไม่พบผลการค้นหา
เพราะโควิด-19 ทำให้ 'เอื้อม' ไกด์สาวแห่งเกาะมุกด์ จ.ตรัง ต้องผันตัวเอง จากผู้ประกอบการนำเที่ยวสู่การเป็นชาวประมง ขายปูให้กับตลาดมหาชัย

"หากไม่มีการท่องเที่ยว ชาวบ้านบนเกาะมุกด์จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ?" คำถามจากชาวต่างชาติ ลูกทัวร์ของ เอื้อม - รัชว์สิริ ทะเลลึก ผู้ประกอบกิจการนำเที่ยวบนเกาะมุกด์ จังหวัดตรัง หลังจากเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 กลายเป็นโจทย์ให้เธอคิดและหาทางออก

A205BB22-9CCB-4122-B2E6-E5DCE9EF764B.jpeg

(เอื้อมกำลังแก้อวนปูที่มีความยาวกว่า 300 เมตร รอนำไปวางในทะเลอีกครั้ง)

เกาะมุกด์ ตั้งอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมโดยสามารถนั่งเรือจากท่าเรือควนตุงกูในจังหวัดตรังประมาณ 30 นาที

ด้วยหาดทรายที่ขาวสะอาด น้ำใส และอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเกาะกระดาน ถ้ำมรกต สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ จ.ตรัง จึงส่งผลให้เกาะมุกด์เป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาวบ้านบนเกาะส่วนใหญ่ก็หันประกอบอาชีพด้านการบริการและท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากกว่าการทำประมงซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชน


โควิดทำพัง - พาหวนคืนอดีต

วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลชาวบ้านหลายรายขาดรายได้ ในช่วงแรกหลังเกิดวิกฤต เอื้อม เล่าว่า ได้ผันตัวเองมาทำปลาอินทรีย์เค็มแดดเดียว และปลาหมึกแดดเดียว ซึ่งรับซื้อมาจากชาวบ้านในพื้นที่ และรวมกลุ่มกันทำส่งขาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชาวบ้านในระแวกใกล้เคียง

ต่อมาลูกค้าบนฝั่ง จ.ตรัง ไหว้วานให้ช่วยหาเนื้อปูม้าส่งให้กับร้านค้าบนฝั่ง เอื้อมจึงออกไปรับซื้อปูจากชุมชนในระแวกเกาะมุกด์ที่ตอนนั้นไม่มีตลาดส่งออกขายเช่นกัน ก่อนที่จะขยายยกระดับธุรกิจกลายเป็น ‘แพรับซื้อปู’ จากชาวบ้านในเกาะมุกด์ในเวลาต่อมา

"ก่อนที่จะมาทำอาชีพด้านท่องเที่ยวก็โตมากับอาชีพประมงของพ่อ ต่อมาพ่อเข้าไปรวมกลุ่มโฮมสเตย์และถูกโกง พี่เลยเข้ามาช่วยพ่อและปรับเปลี่ยนเป็นทำทัวร์เกาะมุกด์ รวมถึงเปิดร้านอาหารขายอาหารทะเลที่มาจากชาวประมงในระแวกนี้ เลยพอมีต้นทุนในการทำประมงมาก่อน" เอื้อมเล่าสิ่งที่ซึมซับมาในอดีต

ปัจจุบัน 'แพปู' ของพี่เอื้อมได้กลายเป็นแหล่งรับซื้อปูจากชาวบ้านในเกาะมุกด์และเกาะในระแวกใกล้เคียง โดยปูที่รับซื้อมานั้นจะนำไปต้มก่อนที่จะส่งออกไปยังฝั่ง จ.ตรังและ จ.กระบี่ รวมถึงตลาดมหาชัยที่ จ.สมุทรสาครด้วยเช่นกัน

หลายครั้งยังจ้างงานให้ชาวบ้าน แกะส่งเนื้อปูก้อน ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อช่วยให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง

ปู อาหารทะเล.jpeg

(ปูม้าสดที่รับซื้อมาจากชาวบ้านในพื้นที่ก่อนจะนำไปต้มเพื่อส่งขาย)


ถูกรับน้องในตลาดปู

เอื้อม กล่าวว่า ในช่วงแรกที่ส่งเนื้อปูม้าแกะและปูม้าต้มให้กับลูกค้า ถูกรับน้องด้วยการอ้างว่า "ปูไม่สด เนื้อเหลว" และเรียกร้องขอคืนเงิน

"ครั้งที่ 2 เราเลยใส่น้ำแข็งลงไปครึ่งลัง ไปถึงฝั่งยังไงก็ต้องสดแน่นอน เพราะเราเพิ่งจับขึ้นจากเรือและต้มในวันเดียวกัน แต่ยังได้รับการร้องเรียนอีก จึงวานให้เพื่อไปช่วยดูว่าใช่สินค้าที่เราส่งไปหรือป่าว และพบว่าไม่ใช่ จึงเข้าใจในตอนนั้นว่าถูกรับน้องแล้ว"

การถูกโกงในครั้งนั้น ทำให้อดีตไกด์สาวต้องปรับการขายกับลูกค้ารายย่อยให้รัดกุมยิ่งขึ้น และเลือกเปลี่ยนมาขายในช่องทางออนไลน์และส่งให้ตลาดบุฟเฟ่ต์อาหารทะเลในกรุงเทพฯ ที่ต้องการปูม้าสดและเนื้อปูจำนวนมาก

เอื้อมบอกว่า ปูของเกาะมุกด์นั้นมีความสดหวาน เนื้อแน่น ทำให้กลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก

ปัจจุบัน 'แพปูเกาะมุกด์' วางแผนจะส่งสินค้าอาหารทะเลไทยไปขายยังประเทศจีน โดยเพื่อนชาวจีนของเอื้อมเคยเกริ่นไว้ก่อนหน้าที่จะปิดเกาะว่า แดนมังกรยังต้องการลิ้มลองอาหารทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะปูม้า

ท่องเที่ยว ทะเล.jpeg

(หาดชาลี หนึ่งในหาดที่มีชื่อเสียงของเกาะมุกด์)


ทะเล คือ ธนาคารของเรา 

ปัจจุบันธุรกิจแพปูของเอื้อมได้เข้าร่วม "โครงการธนาคารปู" ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้จัดการและดูแลทรัพยากรต่างๆ ในทะเล

'พ่อเสรี ทะเลลึก' บิดาของเอื้อมกล่าวว่า เมื่อราวประมาณ 2 เดือนก่อน ตอนนั้นเราเพิ่งทำแพปู และได้รับการติดต่อมาจากมหาวิทยาลัยราชมงคลเทคโนโลยีภาคใต้ให้เข้าร่วมโครงการ

“หากแพปูเข้าโครงการดังกล่าว จะทำให้สามารถคัดปูไข่เพื่อนำไปปล่อยได้มากกว่า” พ่อเสรีกล่าว

พ่อเสรีบอกว่า นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.ปล่อยปูไปแล้ว 50 ตัว แต่ละตัวคาดว่ามีไข่ประมาณ 4 แสน - 1 ล้านเม็ด อย่างไรก็ตามอัตราการรอดของไข่ปูเหล่านี้มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

“ลูกปูติดอวนก็มีบ้างแต่ไม่เยอะ เพราะอวนที่เราวางเป็นอวนตาใหญ่ ลูกปูไม่ค่อยติด แต่ส่วนใหญ่จะติดปลาหมึก ติดปลา ติดหอยมาบ้าง” พ่อเสรีกล่าว

หนุ่มใหญ่ กล่าวทิ้งท้ายกับวอยซ์ออนไลน์ว่า “เราเป็นชาวประมง ทะเล คือ ธนาคารของเรา ถ้าไม่ช่วยกันดูแลรักษา ความยั่งยืนของทรัพยากรก็จะหร่อยหรอ เพราะคนมาหาของทะเลมากขึ้น”

พวงพรรณ ภู่ขำ
25Article
0Video
0Blog