ไม่พบผลการค้นหา
หนังสือ 99.5 เปอร์เซ็นต์สูญสลายตามกาลเวลา เหลือเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ยังคงดำรงอยู่ในความทรงจำทุกวันนี้ แล้วอนาคตข้างหน้าล่ะ หากหนังสือทั้งหมดถูกหลงลืม และสูญหายไป โลกจะเป็นเช่นไร?

‘กิตติพล สรัคคานนท์’ นักเขียน และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี เลือกนำเสนอข้อเท็จจริงน่าตกใจ ว่าด้วยการหายไปของหนังสือส่วนใหญ่ในโลก ผ่านนิทรรศการเหนือจินตนาการ ‘หนังสือสาบสูญ 3018’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23

‘หนังสือสาบสูญ 3018’ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมร่วมสวมบทบาทเป็นมนุษย์ในปี 3018 เมื่อโลกไม่มีหนังสือ หลงเหลือเพียงห้องจำลองที่เก็บข้อมูลของหนังสือในอดีตไว้ ที่ที่นักอ่านจะได้ย้อนรอยกลับไปสืบสาวสาเหตุว่า หนังสือทั้งหมดหายไปได้อย่างไร?

กิตติพล
  • กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการหนังสือสาบสูญ 3018

กิตติพลเล่าความจริงอันน่าเศร้าให้ฟังว่า ไม่ใช่หนังสือทุกเล่มที่ตีพิมพ์จะได้รับการหยิบขึ้นมาอ่าน บนชั้นวางยังมีหนังสืออีกจำนวนไม่น้อยถูกหลงลืม หนังสือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันทุกวันนี้เป็นเพียงส่วนน้อย วรรณกรรมคลาสสิกที่ผ่านการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งนั้นคิดเป็นเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ และหนังสือที่สาบสูญไปตามกาลเวลามีมากถึง 99.5 เปอร์เซ็นต์

ตัวนิทรรศการหนังสือสาบสูญ 3018 ตั้งใจย่อยข้อมูลให้เข้าถึงง่าย และน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็พยายามพิสูจน์ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างหนังสือถึงสาบสูญไป โดยนำข้อมูลมาแปลงให้สนุกด้วยบรรยากาศของโลกอนาคต เนื่องจากงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23 จัดพร้อมกับเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน

กิตติพลยกตัวอย่างเรื่องราวของนักสืบ ‘เชอร์ล็อก โฮมส์’ จากนวนิยายสืบสวนชื่อดังของเซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ที่ศึกษาแล้วพบว่า ความจริงเกิดงานเขียนยุคเดียวกันจำนวนมหาศาล ทว่ามีเพียงแค่ 'เชอร์ล็อก โฮมส์' เท่านั้นที่คนส่วนใหญ่รู้จัก นิทรรศการจึงสอดแทรกทฤษฎีความคิดที่อธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ ละหนังสือ เพื่ออธิบายเหตุผลที่หนังสือตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน

91.jpg92.jpg93.jpg

ในนิทรรศการจะพาผู้เข้าชมค่อยๆ ย้อนเวลาจากปี 3018 ซึ่งไม่มีหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษเป็นรูปเล่มหลงเหลืออยู่แล้ว ย้อนเวลากลับไปยังยุครุ่งเรืองของหนังสือ กระทั่งถึงจุดกำเนิดของหนังสือ และปลายทางของนิทรรศการยังมีตู้ถ่ายสติกเกอร์ไทม์แมชชีนให้ผู้อ่านย้อนเวลาไปถ่ายรูปคู่กับนักเขียนในอดีตผู้เป็นเจ้าของผลงานที่ชื่นชอบอีกด้วย

ข้อสรุปที่ตัวนิทรรศการต้องการสื่อสารคือ ผู้อ่านมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของแนววรรณกรรมที่จะคงอยู่ต่อไปมากกว่าที่ตัวเองคิด ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หรือรางวัลการันตี แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า หนังสือที่สาบสูญไปจะไร้คุณค่า

กิตติพลเล่าว่า บางครั้งการสาบสูญของหนังสือก็เกิดจากปัจจัยบางอย่างที่อธิบายได้ยาก ผู้อ่านเพียงแค่ไม่อ่านหนังสือเล่มนั้นกันอีกต่อไป เช่นกรณีของ ‘ฌอง ฌาค รุสโซ’ นักเขียน และนักปรัชญา ที่เป็นที่รู้จักจากแนวคิดสัญญาประชาคม (The Social Contract) ในหนังสือชื่อเดียวกัน ทั้งที่ครั้งหนึ่งจูลีย์ (Julie) นวนิยายรักของเขาเคยขายดีจนตีพิมพ์ไม่ทันถึงขนาดต้องมีบริการให้เช่าหนังสือเป็นวันต่อวัน แต่ปรากฏว่าเมื่อผ่านพ้นศตวรรษกลับไม่มีใครจำชื่อของจูลีย์ได้ มีเพียงสัญญาประชาคมเท่านั้นที่ยังคงถูกพูดถึง

แม้หนังสือในอดีตจำนวนมากอาจเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ปัจจุบันนั้นคือทางเลือกของเรา ชมนิทรรศการ ‘หนังสือสาบสูญ 3018’ และร่วมกันกำหนดชะตาของหนังสือไม่ให้สาบสูญกันได้ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 17-28 ตุลาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

On Being
198Article
0Video
0Blog