ไม่พบผลการค้นหา
แถลง การจับตาคะแนนเลือกตั้ง 66 ในวันที่ประชาชนลุกขึ้นยืนถือกล้อง ถอดบทเรียนการสังเกตุการณ์ในวันเลือกตั้ง วันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงภาพรวมการมีส่วนร่วมของประชาชน และข้อเสนอของ กกต.

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดการแถลงสรุป "การจับตาคะแนนเลือกตั้ง'66 ในวันที่ประชาชนลุกขึ้นยืนถือกล้อง" โดยมีการถอดบทเรียนการสังเกตุการณ์ในวันเลือกตั้ง วันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงภาพรวมการมีส่วนร่วมของประชาชน และข้อเสนอของ กกต.

อานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่ iLaw กล่าวว่า ในวันเลือกตั้ง มีอาสาสมัครแจ้งปัญหาเข้ามา 1,075 ราย จาก 74 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็น 

  • การรวมคะแนนผิด 285 กรณี (เป็นปัญหาที่มากที่สุด) เมื่อมีการทักท้วงแล้วเจ้าหน้ามีการที่แก้ไข 132 กรณี และ เจ้าหน้าที่ไม่แก้ไข 153 กรณี 
  • เจ้าหน้าที่ไม่ให้ถ่ายภาพ/วิดีโอ ทั้งตอนนับคะแนนและกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้ว ถูกรายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้มีการสื่อสารและยืนยันมาจาก กกต. เอง
  • กรณีอื่นๆ เช่น  มีการขู่ว่าจะดำเนินคดีผู้บันทึกภาพ, กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่ตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล ไม่ขอให้เปิดหน้ากากอนามัยเพื่อดูใบหน้า, บอร์ดแนะนำผู้สมัครไม่ครบ, มีบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วหลายปี แต่ยังมีรายชื่อเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น  

"ถ้าไม่มีระบบอาสาสมัครนี้เกิดขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ถูกแก้ไข เหมือนดังข้อมูลที่เราได้มาว่า ในแต่ละปัญหาเจ้าหน้าที่มีการแก้ไขหรือไม่ แก้ไขเท่าไร ไม่แก้ไขเท่าไร แต่มากไปกว่านั้นคือกรณีของการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่สุดแล้วเราไม่รู้เลยว่าซองบัตรลงคะแนนที่มีปัญหามีจำนวนเท่าไรกันแน่ ถูกส่งไปที่ไหนบ้าง และมีการแก้ไขอย่างไร” สันติชัย อาภรณ์ศรี จาก Rocket Media Lab กล่าว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 เกิดปรากฏการณ์ใหม่ คือการจับตานับคะแนนโดยประชาชน ประชาชนรวมคะแนนกันเองโดยไม่ต้องรอ กกต. ช่วงเวลา 20.00 น ของวันเลือกตั้ง เว็บ กกต.ล่มไปพักหนึ่ง ปรากฏว่าเว็บไซต์ Vote62.com ได้ทำหน้าที่แทน และได้นับคะแนนแซมจากคะแนนดิบของ กกต. มีประชาชนยืนอยู่หน้าหน่วยถ่ายรูปและส่งคะแนนมาให้เรารวม แล้วสามารถช่วยได้ถึงประมาณ 12-13% ในขณะที่กกต.ได้เพียง 7-8-9% ก่อนที่ คะแนน กกต.และอาสาสมัครจะเท่ากันในช่วงประมาณ 22.00 น 

ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เราหยุดอยู่ที่ 30% เพราะมีภาพถ่ายเพียงเท่านี้ และได้รายงานไปทั้งหมดแล้ว ถ้ามีอาสาสมัครไปหน้าหน่วยครบ เราอาจจะได้ 100% ก่อนกกต.ด้วยซ้ำไป เพราะเราพบว่าหลายหน่วยเลือกตั้ง คะแนนไปที่เขตด้วยรถยนต์จริงๆ ไม่ได้มีการใช้เทคโนโลยีช่วยแต่อย่างใด จึงทำให้คะแนนของ กกต.เกิดความล่าช้ากว่าของภาคประชาชน 

ยิ่งชีพ ยังกล่าวขอบคุณอาสาสมัครการเลือกตั้งทุกคนแบบสมัครใจโดยธรรมชาติหลายหมื่นคน 

"ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ประชาชนตื่นตัวแล้ว ไม่ว่าคุณจะเลือกพรรคอะไร แต่คุณไปยืนดูการนับคะแนนในเวลา 3-4 ชั่วโมง พบความผิดพลาดก็ทักท้วงและเจ้าหน้าที่ยอมแก้ไข โดยมีสถิติการแก้ไขให้เห็นชัดเจนและประชาชนรายงานกลับมายังเว็บไซต์ของเรา ยังมีคนอีกเยอะที่ไปยืนอยู่หน้าหน่วยเลือกตั้ง ช่วยกดเครื่องคิดเลข ช่วยจับกระดาน เปิดไฟหน้ารถเพื่อให้หน่วยเลือกตั้งสว่าง เพียงเพื่อต้องการให้การนับคะแนน เป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส คนเหล่านี้มีจำนวนมาก โดยในปีนี้มีปัญหาเรื่องบัตรเขย่งน้อยมาก เพราะคนเหล่านี้ทำให้เกิดความถูกต้องตั้งแต่หน้าหน่วย"

"นี่คือวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นแล้วและมันจะคงอยู่กับประชาชนชาวไทยไปอีกยาวนาน ไม่ว่าจะเกิดการเลือกตั้งอีกกี่ครั้ง เรารู้แล้วว่าสิ่งที่ควรทำคือการไปยืนดูการนับคะแนนเพื่อให้ทุกคะแนนถูกต้องโปร่งใส ตั้งแต่ตรงนั้นเลย" ยิ่งชีพ กล่าวตอนหนึ่ง

สำหรับข้อเสนอต่อ กกต. จาก iLaw มีทั้งข้อเสนอเร่งด่วนเฉพาะหน้า และข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยมีรายละเอียดทั้งหมด ดังนี้

ข้อเสนอเฉพาะหน้า 

1. เร่งรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด 

แม้ในระเบียบข้อ 215 จะให้เวลา กกต.ถึง 60 วัน แต่หากอบตตรวจสอบแล้วว่าการเลือกตั้งในพื้นที่ใดไม่มีข้อสงสัยเรื่องทุจริตก็ควรประกาศรับรองภายในวันจันทร์ที่ 22 พ.ค. 2566 เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่สามารถเดินหน้าไปได้โดยไม่ได้เปิดช่องว่างให้เกิดการเจรจาต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลให้แตกต่างไปจากที่ประชาชนได้ออกเสียงมา

2. กรณีนับคะแนนมีปัญหา สั่งนับใหม่โดยเร็ว 

สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีข้อร้องเรียนว่า ผลคะแนนรวมไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งระเบียบข้อที่ 177 วรรค 4 และข้อที่ 223 ให้อำนาจกกต.สั่ง "นับคะแนนใหม่" ได้และควรสั่งโดยเร็ว เมื่อมีข้อครหาเกี่ยวกับการนับคะแนน และ การรายงานผลคะแนนการสั่งให้นับคะแนนใหม่ควรเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม และ ความโปร่งใสไม่ใช่การเพิ่มภาระและไม่ใช่การทำให้ กกต.เสียหน้า

3. กรณีมีการร้องเรียน ตรวจสอบและชี้แจงเร็วที่สุด 

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ยังมีข้อสงสัยและมีข้อร้องเรียนต่อกกต. ควรเร่งตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณะให้เร็วที่สุด เช่นกรณีการรวมคะแนนแล้วมีผู้สมัครบางคนมีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, กรณีข้อมูลที่แสดงผลจากระบบ Ectreport มีลักษณะ "บัตรเขย่ง" คือคะแนนของผู้สมัครทุกคนรวมกันมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง, เลิกพฤติกรรม "การกาหัวประชาชน" ที่แสดงความคิดเห็นโดยกล่าวหาว่าไม่เป็นความจริง แต่ให้ใช้การอธิบายข้อเท็จจริง จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ชัดเจนแทน

ข้อเสนอสำหรับจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป  
  1. กกต.ควรเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นอย่างเป็นระบบและเป็นกิจจะลักษณะ เช่น ข้อมูลสถานที่หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ, ข้อมูลจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในแต่ละพื้นที่, ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการหาเสียง, ข้อมูลเรื่องร้องเรียน, ผลการพิจารณาต่างๆ เป็นต้น ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ และสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งได้สะดวกขึ้น และสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง
  2. กกต. ควรให้ความเห็นให้ความรู้และจัดอบรมให้กับ "กรรมการประจำหน่วย" (กปน.) ให้เข้าใจระบบการจัดการเลือกตั้งมากขึ้น เช่น ขั้นตอนการปฏิบัติและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด, เข้าใจและเคารพประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมสังเกตการนับคะแนน, เปิดให้ประชาชนตรวจสอบ สอบถาม ถ่ายภาพถ่ายวีดีโอได้อย่างเต็มที่, ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น
  3. กกต.ควรถอดบทเรียนจาก ระบบรายงานผลคะแนนในการเลือกตั้งรอบนี้ และพัฒนาระบบที่ดีขึ้นโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมายระเบียบและพัฒนาเทคโนโลยี 

ทั้งนี้ แคมเปญนี้ใช้เวลา 6 เดือน มีอาสาสมัครกระจายตัวช่วยส่งข้อมูลจากทั่วทั้งประเทศ กว่า 1 ใน 3 ของหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศ ซึ่งมีจำนวน 95,249 หน่วย แบ่งเป็น

  • มีการส่งภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วของ ส.ส. แบบแบ่งเขตเข้ามาทั้งหมด 148,359 ภาพ คิดเป็นหน่วยเลือกตั้งกว่า 30,890 หน่วย 
  • มีการส่งภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กว่า 255,775 ภาพ คิดเป็นหน่วยเลือกตั้งกว่า 28,714 หน่วย