ไม่พบผลการค้นหา
พรรคอนาคตใหม่จัดสัมมนา ส.ส. เปิดพื้นที่ถกเข้ม-แนะเทคนิคผลิตสื่อ ด้าน 'เกษียร' ระบุในเวทีสัมมนายก รธน. 2560 กำลังคุกคามมรดก 24 มิ.ย. 2475 และ 14 ต.ค. 2516 ที่ปฏิวัติให้มีการกระจายอำนาจให้ประชาชน ขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทำให้พรรคเป็นชีวิตส่วนหนึ่งของประชาชน

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ จ.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่จัดสัมนา ส.ส. ระหว่างวันที่ 6-8 ต.ค. กิจกรรมในวันแรก มีการสัมมนาหัวข้อเทคนิคการสื่อสารทางการเมือง โดยฝ่ายสื่อและสื่อสังคมออนไลน์ของพรรค การถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานสภาผู้แทนราษฏรพรรคอนาคตใหม่ โดยเปิดเวทีให้ ส.ส.แต่ละคนได้เปิดใจพูดคุยถึงการทำงานที่ผ่านมา และการเสวนาในหัวข้อ ประเมินผลงานพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเชิญนักวิชาการ 3 คน ได้แก่ นายเกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมให้ความเห็นและประเมินการทำงานที่ผ่านมาด้วย

นายเกษียร กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดสภาหลังเลือกตั้งสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนตื่นตัวขึ้นมากต่อปัญหาต่างๆ คำถามคือพรรคอนาคตใหม่โตทันหรือไม่ ถ้าพรรคโตไม่ทัน ประชาชนจะหมดหวัง นี่จะไม่ใช่แค่ชะตากรรมของพรรค แต่อาจหมายถึงการหมดหวังต่อระบบรัฐสภาด้วย และในสถานการณ์ปัจจุบัน ระบอบที่กำลังเป็นอยู่แปลกมาก อ้างอิงจากนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์คือระบอบที่ไม่มีชื่อ นี่คือสิ่งที่ตนคิดว่ากำลังเป็นอันตรายต่อมรดกที่มาจากการปฏิวัติ 2 ครั้ง คือการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ซึ่งสร้างระบอบรัฐธรรมนูญ และการปฏิวัติ 14 ต.ค. 2516 ซึ่งเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยที่กระจายอำนาจของประชาชน

“มรดกจากการปฏิวัติทั้งสองครั้งกำลังถูกคุกคามโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รับรองความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง คสช. ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ เกิดเป็น ‘ระบอบ คสช.ที่ไม่มี คสช. ซึ่งมีลักษณะประหนึ่งระบอบเสมือนรัฐธรรมนูญครึ่งใบ’ เป็นระบอบที่ผู้ใช้อำนาจไม่ต้องรับผิดชอบ ทำให้การใช้อำนาจแบบ คสช.กลายเป็นแบบแผนสถาบัน ทำให้อำนาจพิเศษกลายเป็นแนวปฏิบัติปกติ ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พร้อมกับไม่แยกเขตอำนาจสาธารณะออกจากเขตอำนาจของส่วนบุคคล มรดกของการปฏิวัติทั้ง 2 ครั้งที่กำลังถูกคุกคามนี้ และพรรคอนาคตใหม่คือผู้แบกรับภาระทางประวัติศาสตร์ในการปกป้อง โดย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่มีเวทีต่อสู้ที่ถูกกฎหมายและสันติในระบบรัฐสภา ประสานการต่อสู้ในสภากับนอกสภา ที่ผ่านมามีทั้งการต่อสู้ปกป้องระบอบรัฐธรรมนูญในสภา และการต่อสู้ปกป้องพื้นที่กระจายอำนาจของประชาชนนอกสภา ซึ่งผมยังไม่ขอประเมินผลเพราะยังเป็นการสอบที่ยังไม่จบสิ้น” นายเกษียร กล่าว

ให้ 'อนาคตใหม่' สอบผ่านชูธงประชาธิปไตย

ด้าน นายพิชิต กล่าวว่า ถ้ามองการทำงานที่ผ่านมาหลายๆเรื่อง ตนเห็นว่าสอบผ่านในระดับที่ดี เห็นชัดว่าพรรคอนาคตใหม่มีความแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร ไม่เคยมีมาก่อน เป็นตัวประหลาด ไม่ใช่เฉพาะต่อฝั่งตรงข้าม พรรคฝ่ายค้านด้วยกันเองก็รู้สึกว่าเป็นตัวประหลาด เป็นข้าวนอกนาแม้กระทั่งในหมู่พรรคฝายค้านกันเอง เพราะมีการชูธงประชาธิปไตยที่ชัดเจน เป็นลักษณะพิเศษที่มีมาตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งแล้ว พรรคคู่แข่งหาเสียงด้วยเศรษฐกิจนำหมด มีพรรคอนาคตใหม่ที่ชูธงประชาธิปไตยชัดเจน การเมืองนำเศรษฐกิจ และที่ได้ผลเพราะเผด็จการทหาร 5 ปีที่ผ่านมาทำให้คนรู้แล้วว่าการเมืองส่งผลมีผลต่อเศรษฐกิจโดยตรง จึงทำให้คนเลือก นอกจากนี้หลังเลือกตั้งยังมีกิจกรรมนอกสภาอย่างต่อเนื่อง รับสมาชิก ขายของ หารายได้ ลงพื้นที่พบประชาชนทั่วประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้นำทางวาระตั้งแต่เลือกตั้งแล้ว ชูประเด็นปฏิรูปกองทัพเป็นคนแรกให้คนอื่นทำตาม เรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ชูเป็นคนแรก เข้าในสภาแล้วก็ยังสามารถทำได้

“อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อน่าห่วงคือน้ำหนัก บทบาท และผลกระทบของพรรคอนาคตใหม่มันใหญ่เกินกว่าขนาดจำนวนคนที่มีอยู่จริง ซึ่งตอนนี้ยังเป็นช่วงสอบกลางภาค ยังไม่ตัดเกรด ตนให้ B+ ส่วนโจทย์ข้อสอบในอนาคต คือจะทำอย่างไรที่จะทำให้พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ประชาชนเห็นในชีวิตของเขาทุกวัน ถ้าประชาชนเห็นพรรคว่าเป็นของเขา ใครทำร้ายพรรคก็เท่ากับทำร้ายตัวเขาด้วย” นายพิชิต กล่าว

ด้าน นายเดชรัตน์ ระบุว่าการประเมินของตนทำในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่สังเกตการณ์เข้ามา ที่ผ่านมาตนเห็นว่า การลงพื้นที่ของพรรคมีความน่าสนใจมาก การอภิปรายในสภาก็ทำได้ดี แต่ข้อสอบใหม่คือพรรคมีทางออกไหม จะพาประเทศพ้นไปได้ไหม สิ่งที่พรรคเสนอและคนชื่นชมหลายครั้งคือความคิด (idea) ที่ดี แต่แผนปฏิบัติ (framework) หรือโมเดลต้องชัดด้วย ตัวอย่างที่ดีคือเรื่องกระดุมห้าเม็ดของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เวลาพูดแจกแจงเป็น 5 องค์ประกอบ ทำให้คนสามารถเชื่อมโยงกับแต่ละขั้นตอนได้ว่าเกี่ยวกับตนอย่างไร ทำอย่างไรให้ประชาชนแต่ละคนสามารถยกมาแล้วพูดในมุมของตัวเองได้ ในฐานะโมเดลที่ประชาชนจะส่งเสียงร่วมกันผลักดัน พรรคจำเป็นต้องไปสร้างแบบจำลองเหล่านี้ ต้องเตรียมตอบโจทย์เรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมอีก 2 วันที่เหลือยังมีการบรรยายทางวิชาการ, กิจกรรมเวิร์คช็อปงานคณะกรรมาธิการ, งานในสภา งานนอกสภา และวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง, ก้าวต่อไปพรรคอนาคตใหม่ รวมถึง การถ่ายทอดประสบการณ์การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเปิดประชุมสภาที่จะมาถึงด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง