ไม่พบผลการค้นหา
ความเคลื่อนไหวของสิงคโปร์ที่ประกาศเตรียมจะขอขึ้นทะเบียนตลาดอาหารริมทางเป็นมรดกโลก จุดประเด็นให้ผู้คนในสองประเทศโต้กันหนักว่าวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นของใครกันแน่ แต่สื่อกลับชี้ความเป็นจริงว่า อาหารริมทางที่เป็นวัฒนธรรมของไทยและหลายประเทศกำลังตาย

สื่อรายงานว่ารัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศว่าในเดือน ม.ค. ปีหน้านี้ สิงคโปร์เตรียมจะยื่นขอจดทะเบียนกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เพื่อให้ตลาดอาหารริมทางในประเทศของตนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage หรือ ICH) ซึ่งลีเซียนลุง ประธานาธิบดีของสิงคโปร์ ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตลาดอาหารริมทางทำหน้าที่เป็นเหมือนห้องอาหารให้กับชุมชนชาวสิงคโปร์ และถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของชาวสิงคโปร์ 

สิงคโปร์นั้นมีตลาดอาหารริมทางที่เรียกกันว่า food hawker กระจายตัวอยู่หลายแห่ง เป็นพื้นที่กลางแจ้งที่ขายอาหารริมทางหรือแผงลอย โดยขายอาหารผสมผสานกันหลายประเภท เช่น ก๋วยเตี๋ยว สะเต๊ะ ข้่าวหน้าไก่ ฯลฯ ในราคาที่ถูกกว่าศูนย์อาหารทั่วไป ซึ่งธุรกิจแนะนำอาหารอย่างมิชลินก็ได้แนะนำไว้หลายจุดด้วยกัน เว็บไซต์อันรีเซิร์ฟมีเดียระบุประเภทอาหารที่ขายกันในตลาดอาหารริมทางของสิงคโปร์ว่ามีทั้ง ไก่ทอด ปลาทอดกับซอส และก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ

สื่อรายงานว่า ข่าวนี้ทำให้ชาวมาเลเซียหลายคนไม่พอใจเท่าใดนัก เพราะพวกเขาเห็นว่ามาเลเซียเองก็มีอาหารริมทางที่มีลักษณะคล้ายกันกับอาหารที่ขายในสิงคโปร์ จำนวนไม่น้อยยังเห็นว่าอาหารริมทางในมาเลเซียนั้นเหนือกว่าในสิงคโปร์ด้วยซ้ำ

เว็บไซต์อันรีเซิร์ฟด์มีเดียอ้างอิง เรดซัววาน อิสมาอิล เชฟชื่อดังของมาเลเซีย บอกว่า การเตรียมขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลกของสิงคโปร์นั้นเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะว่าวัฒนธรรมการกินอาหารริมทางไม่ได้มีแต่ในสิงคโปร์ ไม่จำเป็นจะต้องจดทะเบียน 'อาหารริมทางสิงคโปร์พิเศษกว่าของคนอื่นตรงไหน' เขาตั้งคำถาม ส่วนอีกราย อิสมาอิล อาหมัดบอกว่า มาเลเซียต่างหากที่เป็นสวรรค์ของอาหารริมทาง แม้แต่ชาวสิงคโปร์ก็ยังเดินทางไปมาเลเซียเพื่อไปชิมอาหารริมทางในมาเลเซีย ดังนั้นควรจะเป็นมาเลเซียมากกว่าที่ควรจะยื่นขอจดทะเบียนกับยูเนสโก 

แต่นักวิจารณ์ในสิงคโปร์ทุ่มเถียงผ่าน นสพ.ที่นั่นว่า เรื่องการขอจดทะเบียนไม่ใช่เพราะเหตุผลในเรื่องของอาหารอย่างเดียว แต่เป็นเพราะว่าอาหารริมทางในสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพราะอาหารริมทางเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐรวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารเอง ถือว่าเป็นมรดกวัฒนธรรมของสิงคโปร์ 

นสพ.เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ก็หยิบเรื่องนี้มารายงานเช่นกัน นสพ.บอกว่าอันที่จริงเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์กันไปๆมาๆ ระหว่างคนสองประเทศในเรื่องว่าอาหารใครจะดีกว่ากันนั้นเกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ที่สองประเทศนี้แยกตัวออกจากกันในปี 2508 รัฐมนตรีท่องเที่ยวของมาเลเซียถึงกับอ้างว่า ข้าวมันไก่นั้นเป็นของที่สิงคโปร์ได้ไปจากมาเลเซีย และสำหรับหนนี้ ตั้งแต่ที่สิงคโปร์ประกาศความตั้งใจจะขึ้นทะเบียนหาบเร่เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ชุมชนโซเชียลมีเดียของสองประเทศก็เริ่มปะทะคารมกันอย่างดุเดือด

วาเซีย ยาฮัน คาริม ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารของมาเลเซียบอกว่าถ้ าสิงคโปร์จะขอจดทะเบียนตลาดอาหารริมทางจริง ก็ควรจะต้องให้ชัดเจนว่าจะอ้างกรรมสิทธิ์ส่วนไหนของวัฒนธรรมอาหารแผงลอยริมทางว่าเป็นของตัวเอง แต่ก็มีบางคนที่มีปฏิกิริยาในทำนองขำและเห็นเป็นเรื่องไม่แปลกที่จะมีการแข่งขันกัน

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์อ้างผู้ใช้นามว่า คู จากนูดเดิ้ลสตอรี่บอกว่า ถึงที่สุดแล้วอาหารริมทางของทั้งสองชาติก็คล้ายกัน คือ เป็นส่วนผสมผสานระหว่างอาหารจีน มาเลย์ และอินเดีย ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ล้วนแต่เป็นสังคมที่ทำให้เกิดการผสมผสาน ส่วนลีซูกิม นักเขียนด้านวัฒนธรรมของมาเลเซียเห็นว่า เพราะความเหมือนนี้เองจึงไม่น่าที่จะนำเรื่องเช่นนี้ไปจดทะเบียน เพราะพวกเขาล้วนมีฐานอันเดียวกัน

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานด้วยว่า ที่จริงแล้วอาหารแผงลอยริมทางเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมที่พบได้ในหลายชาติ แต่ของเช่นนี้กำลังถูกขจัดออกไปจากท้องถนน เช่นในประเทศไทย ปัจจุบันอาหารหาบเร่แผงลอยหายไปจากกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ เพราะนโยบายอันเข้มงวดของทางการ ทั้งนี้ เพื่อจะแก้ไขปัญหาการจราจร ทางการในมะนิลาและโฮจิมินซิตี้ก็มีเค้าว่าจะทำตาม นสพ.ใช้คำว่า “วัฒนธรรมนี้กำลังถูกกวาดทิ้ง” พร้อมกับชี้ว่า ความพยายามของสิงคโปร์ในอันที่จะรักษาอาหารหาบเร่ไว้ควรจะได้รับการยอมรับ 

แต่ซารา เบเคอร์ ผู้อำนวยการแผนกดิจิทัลเอเชียยุโรปของแมคโดนัลบอกว่า ถึงที่สุดแล้วอาหารหาบเร่แผงลอยในเอเชียคงจะต้องหมดไปสักวัน เพราะว่าคนที่บริโภคอาหารเหล่านี้อายุมากขึ้นและมีแต่จะหมดไป คนใหม่ๆ ไม่อยากเข้าสู่ธุรกิจนี้เพราะต้องทำงานหนักและชั่วโมงทำงานยาวนาน ทั้งยังมีอาหารจากตะวันตกมาแข่งในราคาที่ถูก เธอบอกว่าน่าเสียดาย เพราะนั่นหมายถึงว่าอาหารสูตรท้องถิ่นจริงๆ จะค่อยๆ หายไป 

แต่ก็มีผู้เสนอว่ามีทางออกสำหรับอาหารหาบเร่แผงลอย เลสลีย์ เทย์ นักเขียนเรื่องอาหารของสิงคโปร์บอกว่า ที่จริงการจัดระบบของทางการสิงคโปร์ที่จัดตั้งตลาดอาหาร ควบคุมความสะอาด และให้ผู้ค้าอยู่ในตลาดเหล่านั้น ซึ่งมีเป็นร้อย ควรจะเป็นแบบอย่างให้ประเทศอย่างไทยหรือเวียดนาม เขาบอกว่าชาวสิงคโปร์เริ่มหันมาพัฒนาอาหารหาบเร่แผงลอยริมทางมากขึ้นโดยเน้นในเรื่องคุณภาพ การมีมิชลินไกด์แนะนำตลาดอาหารเหล่านี้ก็ยิ่งกระตุ้นทิศทางใหม่ๆ มีคนรุ่นใหม่ที่อยากได้รับการยอมรับในระดับโลกเข้ามาลงทุน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: