ไม่พบผลการค้นหา
สภาพัฒน์ ชี้แรงงานภาคเอสเอ็มอี-ท่องเที่ยว-เด็กจบใหม่ ยังเสี่ยงตกงานสูง จากผลกระทบโควิดและเศรษฐกิจที่โตต่ำ ส่วนหนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 14.02 ล้านล้าน

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า กำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5% จากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้อยู่นอกกำลังแรงงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% จากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับแรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่นมาตั้งแต่ปี 2563 ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก

ขณะที่ชั่วโมงการทำงานรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 129.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน


ว่างงาน 7.6 แสนคน

ส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 7.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96% สูงขึ้นอีกครั้งหลังจากชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการว่างงานของแรงงานในระบบ พบว่า ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีจำนวน 3.46 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 3.1% ของผู้ประกันตนมาตรา 33 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่การระบาดยังไม่รุนแรง แต่ปรับตัวลดลงจากครึ่งปีหลัง โดยเป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ประมาณ 0.8 แสนคน ในเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง และลูกจ้างของสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 82,346 คน ลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน


แรงงานภาคเอสเอ็มอี-ท่องเที่ยว-เด็กจบใหม่ ยังน่าห่วง

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) อาจตกงานมากขึ้นหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน โดยธุรกิจ MSMEs ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งทำให้ GDP ของ MSMEs ปรับตัวลดลงสูงถึง 9.1% หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจฯ อาจไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้ รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน และโอกาสการกลับมาฟื้นตัวอาจใช้เวลานานมากขึ้น

ส่วนแรงงานในภาคการท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่ โดยศูนย์วิจัยด้านการตลาดท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2569 ซึ่งผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้การกลับเข้าสู่ภาวะปกติต้องเลื่อนออกไป และส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคน โดยหากแรงงานถูกเลิกจ้างจะไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในสาขาเดิมได้ในระยะเวลาอันใกล้ และอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ

และตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะรองรับนักศึกษาจบใหม่ โดยเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย จะทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนการขยายตำแหน่งงานใหม่ออกไป กระทบกับการหางานของนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และแรงงานคืนถิ่นภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ในปี 2563 ซึ่งมีระยะเวลาการจ้างงานประมาณ 12 เดือนกำลังจะสิ้นสุดลง อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานภายใต้โครงการประมาณ 1.4 แสนตำแหน่ง


หนี้ครัวเรือนแตะ 14.02 ล้านล้าน

ในขณะที่ภาวะหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2563 มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จาก 4.0% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็น 89.3% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่หดตัว

สำหรับปี 2564 ปัญหาหนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มสูง เห็นได้จากเงินฝากต่อบัญชี หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก พบว่า บัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100,000 บาท ลดลงอย่างต่อเนื่อง