ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา' แถลงมาตรการจัดการหนี้ทั้งระบบ ครอบคลุมลูกหนี้ 4 กลุ่ม ต่อลมหายใจลูกหนี้ 10.3 ล้านราย

ปัญหาหนี้สิน เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะหนี้ในระบบที่ถือว่ามีปัญหาไม่น้อยกว่าหนี้นอกระบบ ส่งผลต่อการทำงานและการประกอบอาชีพ ดังนั้นการดูแลลูกหนี้ในระบบจึงถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่ให้ความสำคัญกับแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะการกวาดล้างหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ ให้ประชาชนได้รับสินเชื่ออย่างเป็นธรรม

ในการแถลงข่าวการจัดการหนี้ทั้งระบบวันนี้ (12 ธันวาคม 2566) รัฐบาลได้แบ่งลูกหนี้เป็น 4 กลุ่ม พร้อมแจกแจงมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้

409406378_762021685956006_4383318657176620796_n.jpeg
กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19

นายกฯ กล่าวว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้ โดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ หรือบางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิด เพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้

มาตรการช่วยเหลือเน้นไปที่กลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน โดยรัฐบาลกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้การช่วยเหลือกับลูกหนี้กลุ่มนี้ รวมถึงการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว

โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงค์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย

กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ

แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และแนวทางสุดท้าย คือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งทั้งสามแนวทางนี้ จะต้องทำ ‘พร้อมกัน’ ทั้งหมด

สำหรับกลุ่มครู และบุคลากรทางการศึกษา เศรษฐา ระบุว่า ปัจจุบันมีครู 9 แสนรายที่มีภาระหนี้หนักจนกระทบต่อการทำงาน โดยกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ครูมีเงินเหลือจ่าย อย่างน้อย 30% สำหรับการตัดหนี้ โดยขอให้กำชับให้ระเบียบดังกล่าวบังคับใช้อย่างทั่วถึง ให้กระทรวงอื่นมีหลักเกณฑ์นี้เช่นเดียวกัน

ส่วนหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล รัฐบาลแนะนำให้เข้าคลินิกแก้หนี้ผ่าน deptclinicbysam.com เพื่อนำเงินต้นคงค้างมาทำตารางผ่อนชำระให้ยาวถึง 10 ปี ลดดอกเบี้ยให้เหลือร้อยละ 3-5 ต่อปี

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้ชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง

เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยจะได้รับการช่วยเหลือผ่านการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ลดดอกเบี้ยหรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต

เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 ผู้ที่มีภาระหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นเวลานาน

กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

ในส่วนหนี้บัตรเครดิต ปัจจุบันมียอดรวม 5.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจมีปัญหาประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท โดยจากจำนวนผู้ถือบัตรเครดิต 23.8 ล้านใบ และมีผู้ที่น่าห่วงอยู่ 1.1 ล้านใบ ทั้งนี้จากลูกหนี้ 4 กลุ่ม มีปัญหาอยู่ประมาณ 5 ล้านคน หรือประมาณ 12 ล้านบัญชี

ที่มา: สไลด์จากการแถลงข่าวการจัดการหนี้ทั้งระบบ 12 ธ.ค. 2566