ไม่พบผลการค้นหา
พื้นที่เปราะบางอย่างสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดำเนินมามากกว่าทศวรรษ ยิ่งวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเจอสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2562 ทั้งการปิดประเทศและการเลิกจ้างงานทำให้หลายครอบครัวที่เคยพึ่งพารายได้จากสมาชิกในครอบครัวที่ย้ายไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ต้องขาดรายได้ และขาดความมั่นคงทางการเงิน แม้วันปัจจุบันสถานกาณ์โดยรวมจะคลี่คลาย แต่ประชาชนในพื้นที่ยังเจอปัญหาขาดรายได้ต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนหญิง พวกเธอยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคม และวัฒนธรรมที่จำกัดงานบางประเภทไว้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น เช่น งานก่อสร้าง และงานด้านเทคนิค หรือหากพวกเธอแต่งงานแล้ว สังคมจะมองว่าพวกเธอควรดูแลครอบครัว ทำงานเป็นเพียงลูกจ้างภายในบ้าน ทำงานในสวน หรืองานที่ไม่ต้องเดินทางไกล หรือทำงานในช่วงกลางคืนเท่านั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะและรายได้ของพวกเธอ หากไม่มีญาติที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงจะต้องก้าวเข้ามามีความรับผิดชอบในการดูแลครอบครัว แม้ว่าพวกเธออาจจะไม่ได้มีความรู้หรือทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน 

รายงานหลายฉบับชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 มากกว่าผู้ชายถึง 1.8 เท่า (McKinsey, 2020) เนื่องจากมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่า และมีภาระที่เพิ่มขึ้นจากการต้องดูแลลูกและทำงานบ้าน ผลจากการวิจัยตลาดปัตตานี โดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2563 พบว่าประชากร 160,195 คนไม่ได้อยู่ในตลาดแรงงานเพราะกำลังเรียนหนังสือ มีหน้าที่ทำงานบ้าน หรืออื่นๆ โดยจาก 54,024 คนที่ให้เหตุผลว่าต้องดูแลครอบครัว 99% (53,356 คน) เป็นผู้หญิง และมีเพียง 1% (668 คน) ที่เป็นผู้ชาย นอกจากนี้ มีผู้หญิงเพียง 53% เท่านั้นที่สามารถหางานได้ เทียบกับ 76% ของผู้ชายในจังหวัดปัตตานี

มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) เห็นความสำคัญของการส่งเสริมอาชีพและทักษะชีวิตแก่เยาวชนหญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเพิ่มโอกาสให้เยาวชนหญิงและคุณแม่อายุน้อยได้เข้าถึงการอบรมทักษะอาชีพ โดยได้ร่วมมือกับบริษัท Avery Dennison ในโครงการ WE Achieve ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2565 เพื่อเข้ามาสนับสนุนห้องสำหรับปั๊มนมแม่และดูแลเด็กเล็ก อุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับเด็ก รวมไปถึงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในฝากเลี้ยง กรณีที่ลูกไม่มีผู้ดูแลระหว่างที่มาเรียน

โครงการ WE Achieve เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมอาชีพและทักษะชีวิตเยาวชนเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (USAID Achieve) เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ เสริมพลัง และสร้างคุณค่าในตัวเองผ่านการพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชนที่มีภูมิหลังที่แตกต่างให้สามารถอยู่ร่วมกัน ซึ่งมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ได้ร่วมมือกับ THE LOOKER สถาบันอาชีวะและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัดปัตตานี เพื่อจัดอบรมวิชาชีพให้เยาวชน เช่น สาขาการทำอาหาร สาขาตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ และสาขาทาสีและปูกระเบื้อง รวมถึงให้ความรู้ในด้านทักษะชีวิต การเงิน และการทำธุรกิจขนาดเล็ก เมื่อเรียนจบ โครงการยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมส่งแผนธุรกิจเพื่อสมัครรับเงินทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพอีกด้วย ในปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 500 คน โดยมากกว่า 85% ของผู้เข้าร่วมเป็นผู้หญิง

"การเสริมพลังให้กับผู้หญิง เป็นสิ่งหนึ่งที่ Avery Dennison ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมันจะนำมาซึ่งโอกาสที่ดีขึ้นในการที่ผู้หญิงจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ในปัจจุบัน บทบาทของผู้หญิงมีทั้งที่เป็นแม่บ้านดูแลลูก และเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ช่วยหารายได้เพื่อครอบครัว องค์กรของเราเองก็ได้มีการสนับสนุนและมีความพยายามที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้หญิงมาตลอด โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการเรียนรู้ทักษะวิชาชีพที่ตรงกับตลาดแรงงาน ซึ่งในโครงการของมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) นั้น เราได้ทราบมาว่าเยาวชนหญิงและคุณแม่อายุน้อยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนต้องพบกับความท้าทายหลายอย่างและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาและวิชาชีพ เราจึงสนใจที่จะเข้ามาสนับสนุนในด้านนี้เพื่อเป็นการมอบโอกาสและเสริมพลังให้กับพวกเธอได้ต่อยอดในอนาคต" ภูวดล วงศ์แสงทรัพย์ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท เอเวอรี่ เดนนิสสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว 

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเยาวชน 4 คน ที่เข้าร่วมโครงการ WE Achieve เริ่มจาก ฮัซนี อาแว และอักรัน สาแม คู่สามี-ภรรยา หนุ่มสาว ที่เพิ่งแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้ไม่นาน ทั้งคู่อาศัยอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย คือ อักรัน ซึ่งพ่อของเขาเปิดร้านรับตัดเสื้อผ้าบุรุษ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีมาราวครึ่งชั่วโมงโดยรถยนต์

ฮัซนี อาแว ระหว่างทำงานตัดเย็บภายในบ้าน.jpg

ฮัซนี แม่บ้านวัย 20 ปี ได้ยินคำบอกเล่าจากญาติที่เคยเข้าร่วมโครงการว่าสอนจริง ได้งานจริง ฮัซนี ซึ่งเพิ่งเรียนจบชั้นม.6 จึงไม่รอช้า รีบติดต่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการ ด้วยความหวังว่าเธอจะมีทักษะและมีงานทำ 

ฮัซนีเข้าร่วมโครงการได้ไม่นาน ก็ชวนอักรันไปลงสมัครเรียนด้วยกัน เขาเองก็อยากพัฒนาทักษะเพื่อมาช่วยพ่อ และสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัวซึ่งอยู่รวมกัน 9 คน

สำหรับอักรัน เขาพอจะมีพื้นฐานการตัดเย็บจากการช่วยพ่อมาอยู่บ้าง การเข้าไปเรียนตัดเย็บ อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่หรือยากลำบากเมื่อเทียบกับฮัซนีที่เพิ่งมาลองจับงานนี้เป็นครั้งแรก งานชิ้นแรกของเธอคือการทำกระเป๋า ตามด้วยเสื้อแขนสั้น และเสื้อแขนยาว 

แต่การไปเรียนนั้นมีความท้าทายพอสมควร  คู่สามี-ภรรยาเล่าว่าบางครั้งก็เหนื่อย และแทบถอดใจอยากเลิกเรียน ด้วยระยะการเดินทางจากบ้านไปตัวเมืองปัตตานีนั้นกินเวลากว่า 2 ชั่วโมงด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งไปและกลับ แต่เมื่อนึกถึงโอกาสและรายได้ที่จะได้รับหากจบการศึกษาในโครงการ ทั้งฮัซนีและอักรันก็พยายามเข้าเรียนให้ครบทุกครั้ง และขาดเรียนไปเพียงแค่ครึ่งวันเท่านั้น

อักรัน สาแมในชั้นเรียน.JPG

นอกจากหลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ทั้งสองสามี-ภรรยาพร้อมเพื่อนๆ อีก 20 คนได้เรียน ฮัซนีและอักรันยังได้เรียนรู้ทักษะชีวิตด้านอื่นๆ เช่น การออมเงิน และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทักษะที่รวมอยู่ในหลักสูตรของโครงการ

“เรามาจากโรงเรียนหญิงล้วน พอได้มาเรียน ก็ได้เจอเพื่อนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ก็พบว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้องแบ่งว่าใครเชื้อชาติอะไร ศาสนาอะไร  ได้มุมมองที่หลากหลายมาก” ฮัซนีบอก

ความฝันของฮัซนีและอักรัน คือ การมีร้านรับตัดเสื้อผ้าในแบรนด์ของตัวเอง ฮัซนีและสามี ตั้งใจจะตั้งชื่อแบรนด์ว่า “Anakees” ตามชื่อร้านเดิมของพ่ออักรัน ทั้งคู่เชื่อว่า หากมีร้านออนไลน์ เขาจะช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และสามารถสร้างอาชีพ และกระจายรายได้ไปยังช่างตัดเย็บมีฝีมือคนอื่นๆ ในชุมชนได้อีก 

คอดีเยาะห์ ฮะซา.jpg

คอดีเยาะห์ ฮะซา คุณแม่วัย 25 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้มาเข้าร่วมโครงการ WE Achieve ในสาขาอาหารและการบริการ คอดีเยาะห์เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ส่วนสามีของเธอรับงานกรีดยางที่รัฐกลันตัน ในมาเลเซีย ลำพังงานกรีดยางไม่พอเลี้ยงครอบครัวที่มีลูกอีก 2 คน

“สามีไปเจอโครงการในเฟซบุ๊ก เลยถามเราว่าสนใจไหม ตอนนั้นเราเข้าไปดูในเพจ ก็เห็นมีผู้หญิงเรียนช่างไฟ รู้สึกว่าน่าสนใจนะ เลยลองเข้าไปดู อยากหาประสบการณ์ จะได้มาต่อยอดให้ตัวเอง ทำอะไรที่บ้าน หารายได้โดยที่ได้เลี้ยงลูกไปด้วย” คอดีเยาะห์ เล่าถึงจุดเริ่มให้เธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “แค่สามีหาเงินคนเดียว ลูกของเราโตขึ้นคงไม่พอ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ก็คงไม่ได้”  

หลังจากได้รับเลือกให้เข้าเรียนในสาขาวิชาชีพอาหารและการบริการ เธอต้องไปเรียนทุกๆ วันเสาร์และอาทิตย์เป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน 

จากที่เลี้ยงลูกเอง เธอต้องฝากลูกไว้กับพี่สาวและจ้างคนมาช่วยดูแล การสนับสนุนเรื่องค่าเดินทางจากบ้านไปเรียนในตัวเมืองปัตตานีและค่าเลี้ยงดูลูกบางส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของเธอได้มาก 

แม้ช่วงที่เรียนจะค่อนข้างหนักสำหรับแม่ที่มีลูกเล็ก แต่คอดิเยาะห์ก็ตั้งใจเรียนจนจบ ปัจจุบัน เธอนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมาทดลองทำซาโมซา ส่งขายโรงเรียนในชุมชน สถานที่ราชการใกล้เคียง และฝากขายตามร้านต่างๆ แม้รายได้จะยังไม่มาก แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เธอภูมิใจในตัวเองที่สามารถเลี้ยงลูกได้แม้สามีไม่อยู่ และยังได้เริ่มต้นหารายได้เสริมให้กับครอบครัวอีกด้วย แถมลูกของเธอเองก็ชอบซาโมซาและมักจะขอให้เธอทำให้ทานบ่อยครั้ง

“ดีใจที่ตัวเองพัฒนามากขึ้น ชอบทำอาหารมากขึ้น ตอนนี้ลูกอยากกินอะไร ก็สามารถทำให้กินได้ เมื่อก่อนเราเป็นคนที่ถ้าลูกอยากกินอะไรก็ออกไปซื้อ ตอนนี้ โอเค ถ้าแม่ทำได้ แม่ก็จะทำ”

นูรีฮัน หะ ในชั้นเรียน.JPG

นูรีฮัน หะ เป็นอีกคนที่เข้าเรียนในสาขาอาหารและการบริการ เธอเป็นลูกคนที่สองของพี่น้องทั้งหมด 5 คน สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้นูรีฮัน ซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนด้านศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย ต้องเดินทางกลับไทย 

ด้วยสถานการณ์ทางการเงินของบ้าน แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะกลับมาเปิดสอนอีกครั้ง แต่ครอบครัวก็ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับไปเรียนต่อที่อินโดนีเซียของนูรีฮันได้อีก เธอตัดสินใจทำงานเฝ้าร้านรองเท้าของญาติเพื่อหารายได้ และสมัครเข้าร่วมโครงการ WE Achieve เพื่อหวังว่าจะสามารถนำความรู้มาหารายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง

“พ่อทำงานเป็นรปภ.อยู่หาดใหญ่ แม่อยู่บ้าน พี่ชายผ่อนรถ และมีลูกที่ดูแล 2 คน อยากให้พ่อหยุดทำงาน มาอยู่บ้าน แต่ตอนนี้ ยังไม่ลงตัว ครอบครัวยังต้องเช่าบ้าน ต้องผ่อนมอเตอร์ไซค์อยู่” นูรีฮันเล่าถึงภาระทางบ้าน และการที่เธอกลายมาเป็นอีกกำลังหลัก และความหวังของครอบครัว

นูรีฮันใช้เวลาสมัครเข้าร่วมโครงการถึงสองหนกว่าจะได้รับคัดเลือก เธอเล่าว่าตื่นเต้นมาก เพราะชื่อของเธออยู่ในลำดับสุดท้ายของคนที่ได้รับคัดเลือก 

“พอเข้าไป ได้ลองเรียนทั้ง 4 ประเภทอาหาร คือ อาหารไทย ขนมไทย เบเกอรี่ และการบริการ ก่อนหน้านี้เคยทำขนม เช่น บราวนี่ขายมาก่อนแล้ว เพราะชอบกินขนม แต่พอได้มาเรียน ก็ได้หัดทำเมนูใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ อย่างเค้กช็อกโกแลตหน้านิ่ม บานอฟฟี่ หรือบลูเบอรี่ชีสพาส ของพวกนี้ ถ้าต้องซื้อมาฝึกทำเอง ก็หลายบาทอยู่ แต่ที่นี่ เราได้ฝึกทำรายการอาหารใหม่ๆ โดยไม่ต้องเสียเงิน เขามีเตรียมไว้ให้หมดเลย”

ไม่เพียงแต่รายการอาหารใหม่ๆ ที่นูรีฮันได้ฝึกหัด โครงการ WE Achieve ยังสอนทักษะการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็น การคำนวณต้นทุน กำไร ตลอดจนการจัดการเงิน ซึ่งจำเป็นต่อการต่อยอดทางธุรกิจของผู้เรียนต่อไป 

“เราต้องฝึกคำนวณต้นทุน กำไร เขาก็จะสอนให้เราคิดว่าทำขนมแต่ละครั้ง เรามีต้นทุน กำไร ค่าแรงของเราเท่าไหร่ ขายของแต่ละครั้ง มีกำไรเท่าไหร่ ซึ่งมันมีประโยชน์มาก เราจะได้จัดการระบบของเราได้ ถ้าเราไม่รู้เรื่องการเงิน เราจะขายๆไปอย่างเดียว เงินจะไปรวมกันหมด ไม่รู้ว่าเงินต้นทุน กำไร ค่าแรงอยู่ไหน”

หลักเรียนจบ นูรีฮันได้ขายบราวนี่ออนไลน์ ทำคัพเค้กให้งานแต่งงาน รวมถึงรับออเดอร์ขนมจากเพื่อนและคนรู้จัก ในอนาคต เธอฝันที่จะมีร้านขนมเป็นของตัวเอง

“อยากมีร้านแบบไม่ต้องใหญ่ก็ได้ แต่มีหน้าร้านแบบน่ารักๆ กลุ่มเป้าหมายของร้าน คือ กลุ่มวัยรุ่นวัยทำงาน มีที่นั่งหน้าบ้าน หน้าร้าน จะมีเสริมเครื่องดื่มเข้าไปด้วย ทำน้ำเป็นขวด ปรับหน้าร้านเป็นแบบวินเทจ เป็นสไตล์ญี่ปุ่น” นูรีฮัน เล่าถึงร้านในจินตนาการของเธอ

ปัจจุบัน นูรีฮัน ค่อยๆ ก้าวเข้าใกล้ความฝันของเธอมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแผนธุรกิจของเธอได้รับเลือกให้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการ WE Achieve ให้นำไปต่อยอดธุรกิจ

“โครงการนี้เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราอยากไปต่อ เราสามารถเรียนไป ปฏิบัติจริงไปได้ เราไม่ต้องไปซื้อวัตถุดิบมาทำเอง มาเรียนไม่ต้องเตรียมอะไร แค่เตรียมตัว เตรียมใจมาตั้งใจเรียนอย่างเดียว ดีใจที่ได้มาเข้าโครงการนี้ แต่ก่อนไม่กล้าคิดจะเปิดร้านส่วนตัว เพราะฐานะการเงินไม่อำนวย แต่พอมาโครงการนี้ ก็เริ่มมีความหวังว่าจะเปิดร้านได้” นูรีฮัน ปิดท้ายด้วยแววตาสดใส และมีความหวัง

ในมุมมองของคนทำงาน ที่เห็นน้องผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนตั้งแต่วันแรกที่สมัครจนวันที่เรียนจบ ลัดดา นิเงาะ เจ้าหน้าที่โครงการฝึกอาชีพ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) เล่าว่า เธอดีใจที่ได้เห็นความสดใสในตัวน้องๆกลับมา

“วันแรก เขายังกล้าๆกลัวๆ ลูกก็ห่วง แต่พอมีคนดูแลให้ เขาก็มาเรียนได้อย่างสบายใจ เหมือนเราได้คืนความสดใสให้น้อง เขาได้กลับมาใช้ชีวิต ได้ทำตามความฝัน ได้เห็นว่าโลกข้างนอกเป็นยังไง ได้ความมั่นใจกลับมา ได้เจอเพื่อน เขายังเห็นช่องทางอาชีพและสร้างเครือข่ายกับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน มีการจ้างงานระหว่างกัน”

ลัดดาเล่าต่อว่า “ถ้าไม่นับเรื่องที่กลุ่มเยาวชนเหล่านี้มีลูกแล้ว น้องเหล่านี้ก็คือผู้หญิงคนหนึ่ง หลายคนยังมีความฝัน อยากมีรายได้เป็นของตัวเอง ซึ่งการอยู่บ้านเลี้ยงลูกไม่ได้ทำให้ศักยภาพของเขาหายไป พอเรียนจบจากเรา บางคนเริ่มประกอบอาชีพ น้องมาเล่าให้ฟังว่ามีรายได้ของตัวเองแล้วรู้สึกดี อยากได้อะไรหรือจะซื้อของให้ลูกก็ไม่ต้องรอเงินของสามี มีน้องคนนึงเล่าให้เราฟังว่าเขาซื้อนมกระป๋องแรกให้ลูกจากเงินที่หาได้ด้วยตัวเอง บอกว่าจะเก็บไว้ให้ลูกดูตอนโตว่านมกระป๋องนี้ แม่ซื้อจากเงินที่แม่หาเอง มันคือความภูมิใจของเขา”

“ต้องขอขอบคุณ Avery Dennison ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเยาวชนหญิงกลุ่มเปราะบางนี้ เราได้เห็นสถานการณ์และความต้องการ ว่ายังมีอะไรที่เราต้องทำอีกมาก และอยากขยายโอกาสไปให้คนอื่นๆอีก มีน้องหลายคนที่เสียโอกาสในการเข้าโครงการก่อนหน้านี้ เพราะไม่มีคนดูแลลูก และยังติดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พอมี Avery Dennison เข้ามาช่วยเรื่องค่าเดินทาง ค่าดูแลลูก ห้องปั๊มนม ก็เหมือนมาอุดช่องว่าง เป็นโอกาสที่ตรงกับความต้องการของน้องๆ” ลัดดาบอก

แม้ก้าวเดินของพวกเขาทั้งสี่และเยาวชนคนอื่นๆในโครงการนี้ ยังเป็นเพียงก้าวแรกๆ แต่จากบทสนทนาที่เราได้พูดคุยนั้น ทำให้ได้เห็นว่า แม้แต่ละคนจะมีหลากหลายที่มา และเรื่องราว แต่มนุษย์นั้นมีความต้องการที่แทบจะไม่แตกต่างกัน นั่นคือ ความปรารถนาที่จะได้มีชีวิตตามความฝัน และความหวัง 

หากได้รับ ‘โอกาส’  ‘ความฝัน’ จะไม่ต่างอะไรกับต้นไม้ที่ได้น้ำ อากาศ แสงแดด และปุ๋ยที่เหมาะสม พร้อมเติบโต เบิกบาน มั่นคง ให้ร่มเงา เป็นชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมตามที่ต้นไม้หนึ่งต้นควรจะได้เป็น