ไม่พบผลการค้นหา
สภาพัฒน์ หั่นเป้าจีดีพีปี 2564 เหลือ 1.5-2.5% หลังโควิดระบาดระลอก 3 ชี้วัคซีนตัวแปรสำคัญฟื้นเศรษฐกิจ แนะควบคุมการแพร่ระบาดและเร่งกระจายวัคซีน

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัว 2.6% ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2563 ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว การผลิต รวมถึงการส่งออกสินค้า

ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พบว่า อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.0% ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าอัตราการว่างงาน 1.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -0.5% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 7.71 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็น 1.9% ของ GDP

ด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มี.ค 2564 อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็น 53.3% ของ GDP

ทั้งนี้ สศช.ได้มีการปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลงมาเป็นขยายตัว 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้วาจะขยายตัวราว 2.5-3.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 2563

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะขยายตัว 10.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 1.6% และ 4.3% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 9.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0-2.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7% ของ GDP

 

ข้อเสนอแนะบริหารเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สศช.ได้ให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 ได้แก่ การควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วเพียงพอ รวมทั้งการกระจายวัคซีนไปยังภาคการส่งออกและความสำคัญของประเทศเพื่อปกป้องฐานการผลิตของประเทศ 

ขณะที่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยเน้นในภาคเอสเอ็มอีโดยขอให้ ธปท.และธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อให้รวดเร็ว มาตรการรักษาการจ้างงานในภาคธุรกิจ รวมทั้งการจ้างงานใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้มีการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่เพิ่มเติม 

นอกจากนี้ต้องขับเคลื่อนการส่งออก โดยเร่งการเจรจาในเรื่อง FTA กับยุโรป และสหราชอาณาจักร และลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เร่งการลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย และแก้ไขปัญหาให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นการลงทุนในอนาคต เน้นการขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยรวมต้องได้ 92% เพื่อให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ และเร่งเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเร่งกระจายวัคซีนและเตรียมความพร้อมพื้นที่ท่องเที่ยวเช่น สมุย ภูเก็ต กระบี่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวคุณภาพมีรายได้สูงเข้ามา