ไม่พบผลการค้นหา
1. 10 ธันวาคม เป็นวัน 'รัฐธรรมนูญ' ของประเทศไทย โดยนับเอาวัน 'พระราชทาน' รัฐธรรมนูญของ ร.7 เมื่อ 10 ธ.ค.2475 เป็นหมุดหมาย แต่เรื่องนี้มีข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์มากมายหลายจุด และมีรายละเอียดต่างๆ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้

รัฐธรรมนูญ 10 ธันวา ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่เป็นฉบับที่ 2 ฉบับแรกนั้นเป็นเวอร์ชั่นของคณะราษฎร ยกร่างโดยปรีดี พนมยงค์ ส่วนฉบับที่ 2 นักประวัติศาสตร์ชี้ว่าเป็นเวอร์ชั่น 'ประนีประนอม' ระหว่างสถาบันกับคณะราษฎร และนัยของสองฉบับมีความต่างกันอยู่มาก 

2.

หลังการปฏิวัติ 1 วันคณะราษฎร นำ พ.ร.บ.ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม พร้อมพ.ร.ก.นิรโทษกรรมคณะราษฎร ทูลเกล้าฯ ให้ ร.7 ลงนาม พระองค์ลงนามให้แค่กฎหมายนิรโทษกรรม ส่วนธรรมนูญปกครองแผ่นดินนั้นทรงขอพิจารณาก่อน หลังจากนั้นอีก 2 วัน พระองค์เติมคำว่า 'ชั่วคราว' ลงไปในธรรมนูญฯ และนั่นทำให้ต้องตั้งกรรมการเพื่อยกร่างฉบับไม่ชั่วคราว ก็คือ ฉบับ 10 ธันวา

ทำไมฉบับแรกไม่เรียก ‘รัฐธรรมนูญ’ - เพราะตอนนั้นยังไม่มีคำนี้ในสารบบ หลังจากนั้นไม่นานถึงมีการบัญญัติคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ เพื่อใช้แทนคำว่า ‘ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน’ โดยคนคิดคือ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

3.

นักประวัติศาสตร์หลายคนยืนยันว่า คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวามีการหารือกับ ร.7 ตลอดการร่าง และเป็นฉบับที่พระองค์พึงพอใจ ภูริ ฟูวงศ์เจริญ เคยเขียนวิเคราะห์ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2557 ว่า

"พระยามโนปกรณ์นิติธาดาติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสม่ำเสมอ เฝ้าปรึกษาหารือ และมักดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชประสงค์ นับตั้งแต่เรื่องใหญ่โตอย่างการให้เจ้านายอยู่เหนือการเมือง ไปจนถึงเรื่องปลีกย่อยอย่างการเลือกใช้คำ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกเมื่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเอนเอียงไปในทางอนุรักษนิยม ซึ่งนี่ส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ทรงแสดงท่าทีเชิงบวกอย่างเด่นชัด"

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร เขียนไว้หนังสือ ‘คณะราษฎรผู้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ ว่า คณะราษฎรได้ขอให้เป็นพระราชภาระของพระองค์ในการยกร่างเพื่อให้สมประสงค์ พระองค์จึงใส่พระทัยมากทั้งในเชิงประเด็นหรือแม้แต่ถ้อยคำ เช่น ทรงขอให้แก้คำว่า "กษัตริย์" เป็น "พระมหากษัตริย์" ทั้งหมด และทรงเห็นชอบข้อเสนอพระยาพหลฯ กับหลวงประดิษฐ์ฯ ที่ให้กษัตริย์เป็น ‘จอมทัพ’ ด้วย ส่วนเรื่องจะมีการบัญญัติว่า กษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พระองค์เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะเมื่อได้พระราชทานรัฐธรรมนูญก็เท่ากับทรงให้สัตยาธิษฐานแล้ว

4.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนไว้ในหนังสือ ‘ปฏิวัติ 2475’ ว่า คณะกรรมการยกร่าง 9 คน (เพิ่มสัดส่วนตัวแทนสถาบันในภายหลัง) ส่วนใหญ่เป็นข้าราชาการอาวุโสจบกฎหมายจากอังกฤษ ทำให้ปรีดี พนมยงค์ มันสมองคณะราษฎรเป็นเสียงส่วนน้อยและด้อยอาวุโสกว่า กล่าวโดยภาพรวมคณะกรรมการร่างจึงเป็น ‘ตัวแทนของพลังข้าราชการผู้ใหญ่’

การต่อสู้กันระหว่าง ใหม่-เก่านี้ เริ่มกันตั้งแต่คำปรารภของรัฐธรรมนูญ หากไปค้น google ดูจะพบว่าความยาวและเนื้อหาของคำปรารภในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับต่างกันมาก โดยฉบับที่สองนี้ส่วนหนึ่งเป็นพระราชปรารภของ ร.7 ชาญวิทย์ชี้ว่า

"ถ้อยคำในพระราชปรารภ นอกจากนอกจากกจะเต็มไปด้วย "ภาษามคธและสันสกฤต" ตามวิธีการประกาศพระบรมราชโองการตราบทกฎหมายแบบในระบอบเก่าแล้ว ยังได้ลดถอนถ้อยคำที่สั้นและตรงไปตรงมาในคำปรารภของธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ทรงถูกบังคับให้ 'ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร' ให้มีความหมายเพียง 'ข้าราชการพลเรือนและอาณาประชาราษฎรของพระองค์ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามราชอาณาจักรได้มีการปกครองตามวิสัยอารยประเทศในสมัยปัจจุบัน"

และ

"ทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชจักรีวงศ์ได้เสด็จเถลิงถวัลราชย์ผ่านสยามพิภพ ทรงดำเนินพระราโชบายปกครองราชอาณาจักรด้วยทำนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมาครบ 150 ปีบริบูรณ์ ประชาชนชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว มีข้าราชาการประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบายสามารถนำประเทศชาติของตนในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกโดยสวัสดี สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบในการจรรโลงประเทศสยามให้วัฒนาการในภายภาคหน้า จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์....."

5.

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนไว้ในหนังสือ 'นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง' ว่า ศึกทางความคิดระหว่างใหม่-เก่า ปรากฏในการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก เมื่อต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวา

  • มีการเปลี่ยนแปลงกันตั้งแต่มาตราแรกซึ่งมีฐานคิดคนละแบบ ฉบับคณะราษฎรพูดตรงๆ ง่ายๆ ว่า "อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" ฉบับ 10 ธันวากลายมาเป็น "อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" ในการอภิปรายของสภายุคแรกมีการถกเถียงกันถึงความหมายที่เปลี่ยนไป โดยข้าราชการปีกอนุรักษนิยมยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องเขียนแข็งกร้าวแบบเดิม แต่เวอร์ชั่นใหม่นี้เป็นการสร้าง 'ความต่อเนื่อง' ระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ เพราะในโบราณราชประเพณีก็มีแนวคิด 'เอนกนิกรสโมสรสมมต' อยู่แล้ว อันแสดงว่า พระมหากษัตริย์เถลิงราชสมบัติก็ด้วยประชาชนอันเชิญ มิใช่โดยอำนาจจากสวรรค์อย่างคติของต่างประเทศ
  • ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับกำหนดการใช้อำนาจอธิปไตยไว้ต่างกันด้วย โดยฉบับคณะราษฎรกำหนดให้บุคคล 4 ประเภทใช้อำนาจแทนราษฎรคือ 1.กษัตริย์ 2.สภาผู้แทนราษฎร 3.คณะรัฐมนตรี 4.ศาล ขณะที่รัฐธรรมูญฉบับ 10 ธันวาทำให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นสถาบันเดียวที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนแม้จะกำกับไว้ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในความเห็นของเดือน บุนนาค และไพโรจน์ ชัยนาม เห็นว่า แตกต่างกันมาก
  • ประเด็นที่เถียงกันอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาอำนาจอธิปไตยที่ต่างกันชัดเจน คือ ร่างฉบับ 10 ธันวาจะเขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจนิติบัญญัติ พระราชอำนาจบริหาร พระราชอำนาจตุลาการ ก่อนจะปรับแก้เป็น ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนฯ ใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย
  • นอกจากนี้ยังถกเถียงกันเรื่องคำอีกคำหนึ่งที่สำคัญ ในรัฐธรรมนูญคณะราษฎรเขียนคำว่า 'กรรมการราษฎร' ขณะที่ร.7 เห็นว่าคำไม่ไพเราะจึงเสนอคำว่า ‘รัฐมนตรี’ สมาชิกสภาฯ บางส่วนก็เห็นว่าคณะราษฎรใช้คำเหมือนสหภาพโซเวียตมากเกินไป แต่ปรีดียืนยันว่าต้องการให้เข้าใจง่าย ตรงความหมายว่าผู้บริหารงานแทนราษฎร ถกเถียงกันหนักจนกระทั่งโหวตใช้คำว่า ‘รัฐมนตรี’ (ซึ่งแปลว่า ที่ปรึกษาแผ่นดิน) และจึงต้องเปลี่ยนยกชุด จากประธานคณะกรรมการราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรี  จากคณะกรรมการราษฎร เป็นคณะรัฐมนตรี
  • ประเด็นที่โต้เถียงกันหนักที่สุดและลามไปยังแวดวงหนังสือพิมพ์ด้วยคือ การกีดกันไม่ให้พระราชวงศ์ชั้้นสูง 'ลงเล่นการเมือง' ด้วยการกำหนดในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาว่า หม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง (เช่นเดียวกับกษัตริย์) เนื่องจากผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังกังวลมากกว่าจะมีการ 'สู้กลับ' ของอำนาจเก่า ขณะที่บางส่วนเห็นว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันโดยกฎหมาย จึงไม่ควรจำกัดสิทธิหรือให้สิทธิพิเศษ (แล้วแต่มุมมอง) เช่นนี้ แต่ท้ายที่สุด เรื่องนี้ ร.7 ก็ทรงเห็นชอบด้วยจึงมีการบัญญัติไว้ ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2489 จึงตัดเรื่องนี้ออก อย่างไรก็ตาม กว่าจะได้ข้อสรุปนี้ สภาก็ถกเถียงกันมากถึงคำว่า "เหนือการเมือง" ว่ามีความหมายอย่างไรแน่ มีการเสนอให้พูดให้ชัดเจนไปเลยด้วย เช่น พ้นไปจากการเมือง นอกวงการเมือง ฯลฯ

6.

ชาญวิทย์ ระบุถึงรัฐธรรมนูญ 10 ธันวา (มี 68 มาตรา) ที่แตกต่างจากธรรมนูญฉบับแรก (มี 39 มาตรา) เพิ่มเติมในหลายประการ อาทิ

  • มีการตัด มาตรา 6 ในธรรมนูญชั่วคราวออกไป ที่ระบุว่า "กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย
  • เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้แก่พระมหากษัตริย์ในการยับยั้ง พ.ร.บ.ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ยาวนานขึ้น
  • ว่าด้วยการเลือกตั้ง ธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่าการเลือกตั้งช่วงแรกไว้ 3 ขั้น คือ ราษฎรเลือกผู้แทนหมู่บ้าน ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎร แต่รัฐธรรมนูญ 10 ธันว่า กำหนดเหลือ 2 ขั้น ราษฎรเลือกผู้แทนตำบล เพื่อไปเลือกผู้แทนราษฎร
  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกำหนดเหมือนกัน คือ 20 ปี ส่วนคนที่จะลงรับสมัครเลือกตั้ง เวอร์ชั่นคณะราษฎรกำหนด 20 ปี เวอร์ชั่น 10 ธันวากำหนด 23 ปี ให้พ้นเกณฑ์ทหารและได้บวชเสียก่อน
  • อำนาจของสภาผู้แทนฯ ธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้อำนาจสภาไว้สูงมาก โดยมีอำนาจถอดถอนฝ่ายบริหาร หรือข้าราชกาารได้ และฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจ 'ยุบสภา' ส่วนรัฐธรรมนูญ 10 ธันวา สภามีอำนาจตั้งกระทู้ถาม ลงมติไม่ไว้วางใจ ถ้าโหวตไม่ไว้วางใจ ครม.ต้องออกทั้งคณะ ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารก็ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ได้

7.

นักวิชาการหลายคนระบุว่า อันที่จริงแล้ว คณะราษฎรไม่ได้ตั้งใจให้ธรรมนูญฉบับแรกเป็น 'ฉบับชั่วคราว' เพราะหากดูเนื้อหาในนั้นจะพบว่าวางจังหวะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งทางตรง 100% ภายใน 10 ปี โดยวางแผนเป็นขั้นๆ เลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ และกำหนดให้ราษฎรต้องจบชั้นประถมศึกษาให้ได้ครึ่งหนึ่งของประเทศให้ได้ภายในเวลานั้น เพราะบริบทในยุคนั้นการศึกษายังไม่เป็นที่แพร่หลาย

8.

เรื่องรูปแบบการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็สำคัญ และกลายเป็นภาพจำมาจนปัจจุบัน ภูริระบุไว้ว่า งานวันที่ 10 ธ.ค.2475 “ถูกออกแบบมาด้วยความระมัดระวังช่วยให้พระมหากษัตริย์ครองสถานะเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับถาวร กฎหมายสูงสุดเป็น ‘ของพระราชทาน’ จากเบื้องบนจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หาใช่คณะราษฎร”

เช่นกันกับที่ทูตฝรั่งเศสในขณะนั้นก็ได้แสดงความชื่นชมในพระปรีชาสามารถของ ร.7 ในรายงานที่ส่งไปยังกรุงปารีส เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ว่า

“พระราชอำนาจถูกเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่ง…วัตถุประสงค์ของพระราชพิธีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมคือ เพื่อทำให้เชื่อ (Faire croire) ว่า ได้ถูกพระราชทาน (Octroyée) จากองค์อธิปัตย์…หลังทรงลงพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ทรงยื่นรัฐธรรมนูญให้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับมันไปขณะกำลังคุกเข่าอยู่กับพื้น"

“ดังนั้น ในหลายวาระตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พระราชอำนาจที่เพิ่มพูนขึ้นของพระองค์ได้ถูกยืนยัน พระองค์…ทรงก้าวเดินออกจากวิกฤตินี้พร้อมด้วยพระเกียรติที่ถูกฟื้นฟู และ…อำนาจทั้งปวงในประเทศนี้ที่ยังผูกอยู่กับแนวคิดว่าด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”

9.

โดยสรุป รัฐธรรมนูญฉบับแรก เวอร์ชั่นคณะราษฎร มีอายุ 6 เดือน ตามมาด้วยฉบับ 10 ธันวา แต่ผ่านไปไม่เท่าไร ก็เกิดสิ่งที่ชาญวิทย์เรียกว่า 'การรัฐประหารทางกฎหมาย' ครั้งแรก เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ และยุบสภาเพื่อขจัดและลอดทอนอิทธิพลของคณะราษฎรที่มีอยู่ในรัฐบาล เหตุสืบเนื่องมาจากเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งพระยามโนฯ และฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นว่าเป็น 'คอมมิวนิสต์'

หลังจากกนั้นการเมืองไทยก็ช่วงชิงอำนาจกันไปมาไม่หยุดหย่อนและมีรายละเอียดอีกมากกมายเกินจะกล่าวไหวในที่นี้