ไม่พบผลการค้นหา
อัยการสูงสุดอ้างเหตุผลผู้ต้องสงสัยไม่ได้อยู่ในเยอรมนี ด้าน 'ฟอร์ตี้ฟายไรต์' - ผู้รอดชีวิตที่เป็นผู้ร้องในคดีนี้ระบุ จะมุ่งมั่นทำงานยุติการลอยนวลพ้นผิดต่อไป

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งสหพันธรัฐเยอรมนีมีคำสั่งไม่ดำเนินการสืบสวนกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ตามคำร้องความยาว 215 หน้า ที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์และผู้ร้องจากเมียนมา 16 คน ได้ยื่นต่อพนักงานอัยการเมื่อเดือนมกราคม 

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุว่า ตามคำร้องที่ยื่นเมื่อเดือนมกราคม 2566 ภายใต้หลักการเขตอำนาจศาลสากล (Universal Jurisdiction) กล่าวหาว่า นายพลทหารระดับสูงของกองทัพเมียนมาและบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง มีส่วนรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงครามต่อชาวโรฮีนจาในปี 2559 และ 2560 รวมถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นทั่วประเทศภายหลังการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

“การตัดสินใจของพนักงานอัยการเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง” แมทธิว สมิธ ประธานคณะกรรมการบริหารของฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว 

“เรายังคงมั่นใจในน้ำหนักของพยานหลักฐาน และเหตุผลทางกฎหมายที่สนับสนุนคำร้องนี้ อันที่จริงแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดเยอรมนีได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การตัดสินใจของพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารัตถะหรือน้ำหนักของพยานหลักฐานในคดี” สมิธกล่าว

สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งเยอรมนีได้แจ้งให้ฟอร์ตี้ฟายไรต์ทราบเมื่อเดือนที่แล้วถึงคำสั่งไม่ทำการสืบสวนคดี โดยอ้างเหตุผลหลักคือ กลุ่มผู้ต้องสงสัยไม่ได้อยู่ในเยอรมนี และมีความเชื่อว่าการสืบสวนจะเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับกลไกสอบสวนอิสระกรณีเมียนมา (IIMM) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน

“ตอนที่ยื่นคำร้อง เรารู้อยู่แล้วว่า พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย และบุคคลอื่นที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมอันโหดร้ายในเมียนมา ไม่ได้อยู่ในเยอรมนี ซึ่งตามกฎหมายเยอรมนีไม่ได้กำหนดให้ที่อยู่ของผู้ต้องหาเป็นเงื่อนไขในการสืบสวนคดี เราไม่คาดคิดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้พนักงานอัยการตัดสินใจไม่สืบสวนข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ได้นำเสนอไปแล้ว”  

“เรายังตระหนักว่า กลไก IIMM นั้นกำลังดำเนินการอย่างแข็งขัน เพื่อรวบรวมและเก็บรักษาพยานหลักฐาน และเราก็คาดหวังว่าทางการเยอรมนีจะใช้ และให้น้ำหนักกับการทำงานของกลไก IIMM เพื่อการสั่งฟ้องคดีในอนาคต ซึ่งนั่นเป็นจุดประสงค์หลักของกลไก IIMM คำสั่งอัยการบางส่วนดูเหมือนว่าจะขัดกับเป้าหมายของหลักการเขตอำนาจศาลสากลของเยอรมนีเสียเอง” สมิธกล่าว

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ย้ำว่า พนักงานอัยการได้ยกกรณีที่มินอ่องหล่ายและผู้กระทำผิดที่มีรายชื่อในคำร้องไม่ได้อยู่ในเยอรมนีเป็นปัจจัยชี้ขาดในคำตัดสิน อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่า บุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมอันโหดร้าย มักลอยนวลรอดพ้นจากการจับกุม กระทั่งเมื่อลมทางการเมืองเปลี่ยนทิศ และเงื่อนไขต่างๆ เปลี่ยนไป จึงจะนำตัวพวกเขาเข้าสู่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน กระบวนการไต่สวน ตลอดจนได้รับโทษในชั้นศาลได้ 

กฎหมายเยอรมนียังมีช่องทางที่จำกัดในการอุทธรณ์คำสั่งตามดุลพินิจของพนักงานอัยการ ที่จะไม่สั่งสืบสวนหรือไม่สั่งฟ้องคดี ตามนัยของมาตรา 153f ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อย่างไรก็ดี กลุ่มรณรงค์หลายฝ่ายในเยอรมนี เช่น ศูนย์ยุโรปเพื่อรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน (ECCHR) ต่างมีข้อเสนอแนะให้ปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้สามารถทำการอุทธรณ์ทบทวนคำสั่งของอัยการได้

“แม้เราจะผิดหวังอย่างมาก แต่การตัดสินใจของพนักงานอัยการเน้นให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการดำเนินงานระหว่างประเทศอย่างแท้จริง เพื่อจะนำมาซึ่งการฟ้องคดีต่ออาชญากรรมที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา” 

“เราขอขอบคุณพนักงานอัยการที่ชี้แจงว่า รัฐบาลเยอรมนีอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อรวบรวมและเก็บรักษาพยานหลักฐานเกี่ยวกับอาชญากรรมในเมียนมา และการตัดสินใจของพนักงานอัยการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำหนักของพยานหลักฐานที่เราได้เสนอไป เราจะยังคงดำเนินงานต่อไปเพื่อให้เกิดความรับผิดต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา ซึ่งตอนนี้ เรากำลังอยู่ระหว่างการผลักดันยุทธศาสตร์ใหม่ร่วมกับผู้รอดชีวิตและบุคคลอื่น ๆ ในประเด็นดังกล่าว ทีมของฟอร์ตี้ฟายไรต์กำลังขยายตัว และเรามีความแน่วแน่มากขึ้นที่จะยุติและเยียวยาแก้ไขความทารุณโหดร้ายเช่นนี้” แมทธิว สมิธกล่าว 

ในบรรดาผู้ร้อง 16 คนซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องนี้ต่อเยอรมนี ร่วมกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ ครึ่งหนึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา และ “ปฏิบัติการกวาดล้าง” ของกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่ในปี 2559 และ 2560 ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากอาชญากรรมอันโหดร้ายภายหลังการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นตามรัฐและภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศระหว่างปี 2564 และ 2565  

ทั้งนี้ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลมีส่วนปลุกความเกลียดชังต่อชาวโรฮีนจาในเมียนมา การยื่นคำร้องตามหลักการเขตอำนาจศาลสากลคดีนี้ จึงถือเป็นความพยายามแสวงหาความยุติธรรมครั้งแรกๆ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างชาวโรฮีนจาและผู้รอดชีวิตจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในเมียนมา โดยผู้ร้องประกอบด้วยผู้หญิงหกคน และผู้ชาย 10 คน รวมทั้งชาวอาระกัน (รัฐยะไข่), ชาวพม่า, ชาวชิน, ชาวกะเหรี่ยง, ชาวคะเรนนี, ชาวมอญ และชาวโรฮีนจา โดยหากสำนักงานอัยการสูงสุดเริ่มการสอบสวนและสั่งฟ้องคดีนี้ กระบวนการดังกล่าวย่อมจะถือเป็นการฟ้องคดีเป็นครั้งแรกต่ออาชญากรรมที่กองทัพกระทำต่อชาวโรฮีนจาในปี 2559 และ 2560 และอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ภายหลังการทำรัฐประหารที่โหดร้ายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ผู้ยื่นคำร้อง 2 คนในคดีนี้ ได้แก่ “M.K.” (ไม่ใช่ตัวย่อของชื่อจริง) และนิกกี ไดอามอนด์ ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเยอรมนี และมีทนายความชาวเยอรมันที่ช่วยว่าความตามคำร้องนี้ ไม่มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่า การตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการยื่นคำร้องตามเขตอำนาจศาลสากล ทั้งในเยอรมนีหรือที่อื่น ๆ ในอนาคต 

ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวว่า อาชญากรรมที่ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดอย่างสิ้นเชิงในเมียนมา ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการสังหาร การข่มขืนกระทำชำเรา การทรมาน การคุมขัง การทำให้สูญหาย การประหัตประหาร และการกระทำอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ในวันนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์เรียกร้องให้รัฐภาคีสหประชาชาติ “ใช้มาตรการที่เป็นผล รวมทั้งประสานงานระหว่างรัฐบาล ยุติอาชญากรรมที่โหดร้ายเหล่านี้เพื่อจับกุมบุคคลที่รับผิดชอบ และเพื่อเอาผิดกับพวกเขา”

พยานหลักฐานที่รวบรวมและมีบันทึกข้อมูลในคำร้องที่ถูกยกครั้งนี้จะไม่สูญเปล่า ฟอร์ตี้ฟายไรต์จะนำส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กับกลไก IIMM และช่องทางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งหมดจะต้องได้รับคำอนุญาตจากผู้ร้องและจะดำเนินการด้วยความเหมาะสม เพื่อให้มีการเก็บรักษา และหากเป็นไปได้เพื่อเอาผิดกับผู้ก่ออาชญากรรมที่โหดร้ายเหล่านี้

อนึ่ง เขตอำนาจศาลสากล เป็นหลักการด้านกฎหมาย ซึ่งให้อำนาจกับรัฐในการสั่งฟ้องคดีต่อบุคคลที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ทารุณในวงกว้าง รวมทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม ไม่ว่าอาชญากรรมนั้นจะเกิดขึ้นที่ใด หรือไม่ว่าผู้กระทำความผิดหรือผู้เสียหายเป็นบุคคลสัญชาติใด เขตอำนาจศาลสากลเป็นหลักการที่มักใช้กับ “อาชญากรรมระหว่างประเทศ” ซึ่งมีความร้ายแรงอย่างมาก จนถือได้ว่าเป็นความผิดต่อประชาคมระหว่างประเทศทั้งมวล 

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ และผู้รอดชีวิต 16 คนจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มในเมียนมา ได้ยื่น คำร้องคดีอาญาต่อสำนักงานอัยการสูงสุดของเยอรมนี ตามหลักการเขตอำนาจศาลสากล เพื่อเอาผิดกับนายพลทหารระดับสูงของเมียนมาและบุคคลอื่น ในข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ คำร้องความยาว 215 หน้า และภาคผนวกความยาวกว่า 1,000 หน้าครอบคลุมพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนการสอบสวนและการฟ้องคดีของสำนักงานอัยการสูงสุด ต่อผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงครามต่อชาวโรฮีนจาในปี 2559 และ 2560 รวมทั้งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารของรัฐบาลหทารเมียนมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 สำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งต่อฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า จะไม่ดำเนินการสอบสวนตามอาชญากรรมที่กล่าวหาในคำร้อง ในจดหมายของพนักงานอัยการระบุถึงเหตุผลสำคัญสองประการที่ไม่ดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ ซึ่งล้วนแต่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักของพยานหลักฐานที่เราได้เสนอไป

โดยหลักแล้ว พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมต่อกฎหมายระหว่างประเทศเยอรมนี ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรา 153f ย่อหน้า 1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกล่าวว่า พนักงานอัยการอาจไม่รับฟ้อง กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้อยู่ในเยอรมนี และไม่คาดว่าจะได้มาอยู่ในเยอรมนี นอกจากนั้น พนักงานอัยการยังกล่าวถึงการสอบสวนที่กำลังดำเนินอยู่ของกลไก IIMM และมีข้อสังเกตว่า การสอบสวนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเยอรมนีจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติม พนักงานอัยการมีข้อสังเกตเป็นการเฉพาะว่า เยอรมนีได้ให้ความสนับสนุนต่อการดำเนินงานสอบสวนของ IIMM มาตลอด