ไม่พบผลการค้นหา
15 ก.พ.2566 ที่อาคารรัฐสภา มีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 วันแรก วอยซ์รวมรวมการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนที่พูดถึงประเด็นเศรษฐกิจรวมถึงการชี้แจงของรัฐบาล
ทศวรรษที่สูญหาย : พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล
  •  รัฐบาลประยุทธ์ใช้งบประมาณไปแล้ว 28 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับการเติบโดของ GDP กลับสวนทาง IMF ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 7 ของอาเซียน (10 ประเทศ) คาดการณ์ปีหน้าไทยขยับขึ้นมาได้แค่อันดับ 6 
  • ช่วงรัฐประหาร 2549 ไทยเติบโตแข่งกับอินโดนิเซีย-มาเลเซีย ต่อมาเกิดรัฐประหาร 2557 ไทยตกชั้นลงมาแข่งกับเวียดนาม-พิลิปินส์ ตอนนี้ไทยกำลังแข่งกับลาว- เมียนมา 
  • เมื่อดูตัวเลขย้อนไปปี 2562 โดยเอา GDP ของทุกประเทศในอาเซียนมาเป็นดัชนีที่ 100 เท่ากันหมด แล้วดูการฟื้นตัวต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 พบว่ามีเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด คือ ประเทศไทย  
  • FDI หรือการลงทุนจากต่างประเทศ ก่อนรัฐประหารปี 2549 ไทยอยู่อันดับ 1 นำอินโดนีเซีย-เวียดนาม รัฐประหารปี 2557 ไทยตามหลังอินโดนีเซีย แข่งกับเวียดนาม-มาเลเซีย ตอนนี้ไทยนำแค่พิลิปปินส์ ตามหลังทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย
  • ช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ถั่วเหลืองแพง ปุ๋ยแพง แทนที่จะเป็นโอกาสของภาคเกษตรกรรมไทย แต่จากสถิติ 2557-2563 ไทยแพ้ทั้งเวียดนาม กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน ซึ่งล้วนเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าว ประสิทธิภาพการเกษตรหรือดัชนีสัดส่วนผลผลิตต่อต้นทุนของภาคการเกษตร ไทยได้คะแนน 98 ประเทศอื่นได้ 110 - 118 
  • ‘เวลาที่หยุดนิ่ง’ ของไทยทำให้ไล่ตามชาติอื่นไม่ทัน แบ่งเป็น 3 เรื่องหลักคือ 
  • 1.การศึกษา อันดับการศึกษาโลกด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเป็นพลเมืองโลก Education First (EF) พบว่า ปี 2561 ไทยนำเมียนมา-กัมพูชา แต่ในปี 2565 ทั้งสองประเทศขึ้นนำไทยแล้ว
  • 2.คอร์รัปชัน อันดับดัชชนีการคอร์รัปชั่นปี 2557 ไทยอยู่อันดับ 85 ของโลก แต่ในปี 2565 ไทยอยู่อันดับ 110 ของโลก ร่วงลงมา 25 อันดับในช่วง 8 ปี แม้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะอ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบโกง
  • 3.การจัดการภัยแล้ง รัฐบาลมีคำขวัญว่า “มีลุงไม่มีแล้ง” ในข้อเท็จจริง 8 ปี ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแสดง ‘พื้นที่แล้งซ้ำซาก’ ภาคกลางพบว่าในปี 2560 มีพื้นที่แล้งซ้ำซากทั้งหมด 4 ล้านไร่ ปี 2565 เพิ่มเป็น 14 ล้านไร่ ส่วนภาคอีสานพบว่าปี 2557 มี 40 ล้านไร่ ปี 2563 เพิ่มเป็น 49 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวนครั้งที่เกิด ‘ภัยแล้ง’ เพิ่ม จากเดิม 10 ปีเกิดภัยแล้ง 3 ครั้ง กลายเป็น 6 ครั้ง 
หนี้พุ่ง : มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศิวิไลซ์
  • ข้อมูลทุนสำรองระหว่างประเทศ (ก.พ. 66) มีอยู่ 8.28 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะมีอยู่ 10.59 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60.67% ต่อ GDP
  • ย้อนไปรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ หนี้สาธารณะเดิมมีอยู่ 5.53 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.5 % ต่อ GDP
  • เรียกได้ว่า 13 นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมารของไทย ก่อหนี้สาธารณะเดิมไว้ 5.53 ล้านล้านบาท แต่ในยุคประยุทธ์คนเดียว ได้ก่อหนี้ถึง  5.05 ล้านล้านบาท
  • ‘หนี้สาธารณะ’ ช่วงรัฐบาลประยุทธ์ 5.05 ล้านล้านบาท มาหารเฉลี่ยหัวประชากร จะพบว่าประชาชนเป็นหนี้เฉลี่ยคนละ 76,383 บาท
  • ‘หนี้ครัวเรือน’ ก่อนรัฐบาลประยุทธ์ ไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 10.22 ล้านล้านบาท แต่ในช่วง 8 ปี 5 เดือน 26 วัน ที่ประยุทธ์ครองอำนาจ ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนพุ่งไปที่ 15 ล้านล้านบาท หากนับเฉพาะยุคประยุทธ์เฉลี่ยแล้ว 8 ปีกว่าประชาชนมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยคนละ 148,621 บาท
  • ดังนั้น นับเฉพาะในยุคประยุทธ์ หนี้สาธารณะ+หนี้ครัวเรือน ประชาชนมีหนี้เฉลี่ยติดตัวคนละ 386,685 บาท
  • วิธีก่อหนี้ของรัฐบาล คือ การขายพันธบัตรต่างๆ  ข้อมูล 31 ม.ค.2566 พบว่า มียอดรวม 10.89 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น -หนี้พันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ 7.34 ล้านล้านบาท -หนี้พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 5.87 แสนล้านบาท -หนี้พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 2.43 ล้านล้านบาท -หนี้ตั๋วเงินคลังและตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ 5.35 แสนล้านบาท

ย่ำแย่ทุกภาคส่วน : จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย  
  • Asian Development Bank ปี 2022 คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศรั้งท้ายในภูมิภาคอาเซียน 
  • ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประชากรไทยมีรายจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 18,000 บาท แต่รายได้ของคนไทยกว่าครึ่งประเทศไม่ถึง 16,000 บาท รายงานล่าสุดจากสภาพัฒน์ยืนยันว่า ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลงถึง 3.1%
  • ปี 2565 อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยพุ่งสูงถึง 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปี นอกจากเศรษฐกิจจะไม่โตแล้ว เงินเฟ้อยังพุ่งสูงขึ้น นี่คือสาเหตุที่คนไทยจำนวนมากเข้าสูาสภาวะ ‘ชักหน้าไม่ถึงหลัง’ 
  • ราคาด้านพลังงานช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2 เท่า ขณะที่บริษัทน้ำมัน บริษัทไฟฟ้า แถลงผลกำไรพุ่งสูงขึ้น 
  • ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนภาคเกษตรกร ปี 2565 มูลค่าสูงถึง 3.1 แสนล้านบาท 
  • SME ทยอยล้มตายลง ห่วงโซ่ผลิตใกล้ขาด แรงงานตกงาน เพราะ  SME จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้อีก ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับเอื้อทุนใหญ่กลายเป็น ‘ทุนนิยมผูกขาด’ ธุรกิจขนาดเล็กและกลางไม่สามารถเข้าสู่ตลาดการแข่งขันได้
  • ครูกว่า 900,000 คน คิดเป็น 80% ของครูทั้งประเทศ มีหนี้สินรวม 1.4 ล้านล้านบาท เทียบเท่าเงินครึ่งนึงของงบประมาณแผ่นดิน เจ้าหนี้รายใหญ่คือสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 
  • ประชาชนต้องเอาบ้านและรถไปกู้ไฟแนนซ์ดอกเบี้ยสุดโหด และเมื่อหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยไม่ทัน เครื่องมือทำกินก็ถูกยึด ตัวเลขที่น่ากลัวมากคือ จำนวนรถยนต์และมอเตอร์ไซต์ที่ถูกยึดเข้าลานประมูลมีประมาณ 3-4 แสนคัน 
  • มูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้เงินช่วยเหลือผู้ชราถูกนำไปจ่ายหนี้ แทนที่จะนำไปใช้เพื่อการยังชีพ
  • เมื่อมาตรการผ่อนผันหนี้เริ่มหมดลง ลูกหนี้ที่กลายเป็นหนี้เสียจากช่วงโควิด-19 ในไตรมาส 2 ของปี 2565 เริ่มกลับมาสู่ภาวะ ‘หนี้บวม’ อีกครั้ง และส่งผลให้ จำนวน  4.3 ล้านบัญชี  วันนี้มีสถานะเป็นหนี้เสีย มูลค่าหนี้กว่า 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 80 % คนเหล่านี้กำลังเข้าสู่เครดิตรบูโรสีดำ และไม่สามารถกู้หนี้ยืมสินได้อีก นั่นหมายความว่า พวกเขาอาจจะไม่สามารกลับมายืนได้อีก
  • สถานการณ์ดอกเบี้ย พบว่า ธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหลายรอบ ทำให้สุดท้ายแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อย แต่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาค ไม่ว่าจะการลงทุน การจ้างงาน การบริโภค หนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจในกลุ่มเปราะบาง ดังเช่นล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยต้องสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นล้านบาท 
  • ภาคการส่งออกในเดือนธันวาคม 2565  มีตัวเลขติดลบไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ด้วยเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่องหลายเดือน และมีแนวโน้มสูงมากที่ปี 2566 ตัวเลขส่งออกจะปิดบัญชีดด้วยการติดลบ อีกประเด็นที่น่าห่วงคือ ประเทศไทยเสียดุลการค้าไปกว่า 6.5 แสนล้านบาทในปี 2565 
  • สาเหตุที่ทำให้การส่งออกมีปัญหา ส่วนหนึ่งคือการรัฐประหาร ที่ทำให้การเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปต้องชะงัก นักลงทุนหันไปลงทุนที่อื่น 
  • ประชาชนเกือบ 20 ล้านคน เข้ารับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นั่นแปลว่า คนเหล่านี้มีรายได้ไม่ถึง 1 แสนต่อปี ประชาชน 1 ใน 3 ของประเทศ หรือประมาณ 20 ล้านคน มีรายได้ไม่ถึง 1 แสนบาทต่อปี 
  • ประชากร 90% ในประเทศ มีเงินในบัญชีไม่ถึง 50,000 บาท แต่คนที่รวย 50 อันดับแรกของประเทศ มีทรัพย์สินขั้นต่ำ 20,000  ล้านบาท นี่คือช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ที่ยิ่งสูงมากขึ้นภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 
ชี้แจง : ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
  • พลเอกประยุทธ์ชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ ส.ส. จุลพันธ์กล่าวมานั้น รัฐบาลได้ทำมาทั้งหมดแล้ว เพียงแต่ยังไม่เกิดผล และย้อนตำหนิว่า เวลารัฐบาลและกระทรวงการคลังชี้แจง กลับไม่มีใครฟัง หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลก็ทำตามนโยบายของพรรคเลย “ถ้าท่านได้เป็นนะ” 
  • ที่มีการบอกว่า การพัฒนา 8 ปีสูญเปล่านั้น สาเหตุที่มันไปไม่ค่อยได้เพราะเกิดปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองจึงทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่น ก่อนปี 2557 มีเพียงแค่การ กระจายงบประมาณย่อยๆ ไปสู่จังหวัดต่างๆ โดยไม่ได้มีความเชื่อมโยงกันด้วยซ้ำ
  • ปี 2558-2562 มีการลงทุนขยายตัว ประเทศมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น รวมถึงการคมนาคมที่มีเส้นทางรถไฟครอบคลุม 47 จังหวัด ประเทศไทยไม่ได้ล้มเหลวเชิงเศรษฐกิจเพราะได้รับรางวัลต่างๆ ในแง่ของการควบคุมเงินเฟ้อ รวมถึงมีการลงทุนทางเทคโนโลยีค่อนข้างมาก และยังมีการพัฒนาแรงงานให้ทำงานกับเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ได้ 

ชี้แจง : จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์
  • เรื่องเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ก่อนหน้าเฟ้อ 6-7% เดือนม.ค.เหลือ 5% ทั้งนี้ IMFคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 6.5% แต่ของไทยจะอยู่แค่ 2.8% เราสามารถกำกับราคาต้นทุนการผลิตบางอย่าง และราคาสินค้ากำกับได้พอสมควร 
  • ที่บอกว่าแพงทั้งแผ่นดินไม่จริง สินค้าอย่างน้อย 58 รายการปรับลดลง เช่น หมูเนื้อแดง ตอนนี้อยู่ที่ 165 บาท/ก.ก. ผักชีปรับลดลง 27% น้ำมันปาล์มลด 11% ATKลด 28% ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยปรับลด 13% ฯลฯ 
  • พืชเกษตรตกต่ำก็ไม่จริง ราคาเฉลี่ยนั้นดีเกือบทุกตัว โดยเฉพาะพืนเกษตรที่มีการประกันรายได้ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้ก็ราคาดีขึ้นทั้งทุเรียน มังคุด ลำใย 
  • การส่งออกไม่ได้ถดถอย ปีที่แล้วเป็นบวก ขยายตัว 5.5% แม้ตลาดสำคัญของเราหลายตลาดชะลอตัว แต่ยังมีตลาดที่น่าสนใจ คือ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และลาว-กัมพูชา-เมียนมา เราจะบุกตลาดอย่างเข้มข้น
  • ที่บอกไทยตามหลังเวียดนามนั้น จริง แต่ไม่ใช่ในรัฐบาลนี้ ตอนนี้รัฐบาลนี้กำลังพยายามไล่กวดเวียดนามอยู่ ไทยมีเอฟทีเอกับทั้งโลก 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ขณะที่เวียดนามมีเอฟทีเอกับ 54 ประเทศ ปัจจุบันเรากำลังพยายามทำ FTA กับอียู ถ้าทำสำเร็จ เราจะได้เพิ่ม 27 ประเทศ  ตอนนี้ของไทยผ่าน ครม.แล้ว รอให้อียูตอบรับขอคำรับรองประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ภายในปีกว่าเรายังจะมี FTA กับตุรกี, ศรีลังกา,ปากีสถาน และ BIMSTEC 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 2 : 'ฮั้ว' เฟื่องฟู หลานนายกฯ ถึงปลัดมหาดไทย-ขบวนการ E-Bidding

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 3 : กำไรปตท.ภาระค่าไฟประชาชน โรงไฟฟ้าชุมชนก็ปลอม

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 4 : ทุนยาเสพติดเมียนมา-ทุนจีนสีเทาเต็มเมือง เพราะ 'ไทยเทา'

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 5 : ส่วนต่างรถไฟฟ้าสีส้ม 6.8 หมื่นล้าน-เร่งขยายสัมปทานทางด่วน

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 6 : ความไม่คืบหน้า ‘จ่าคลั่ง’ กราดยิงโคราช-เค้กเรือหลวงสุโขทัย

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 7 : กอ.รมน.รัฐซ้อนรัฐ รัฐประหารวางรากฐานจนปัจจุบัน