ไม่พบผลการค้นหา
สำรวจเส้นทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องการยกเลิกผ้าภาษีของผู้หญิงแต่ละประเทศทั่วโลกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และมีผลลัพธ์เป็นอย่างไรในปัจจุบัน

“ผ้าอนามัย” จัดเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิงทุกคนบนโลก ในช่วงชีวิตหนึ่งของผู้หญิงจะมีประจำเดือนเฉลี่ยประมาณ 2,535 วัน หรือเฉลี่ยแล้วหากสตรีมีประจำเดือนต่อเนื่องกันทุกวันจะกินเวลารวมกันถึงประมาณ 6 ปี ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านผ้าอนามัยเป็นหนึ่งในภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะเกี่ยวเนื่องกับอนามัยเจริญพันธุ์ ผ้าอนามัยจึงมีความสำคัญในแง่ของสิทธิทางเพศ และจัดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้หญิงทุกคน “ต้องเข้าถึงได้” การเข้าถึงในมิติด้านราคาจึงกำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง รวมถึงประเด็นที่ว่ารัฐควรจัดสรรให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการที่ผู้หญิงทุกคนควรได้รับแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย

ปัญหาด้านราคาและการเข้าถึงเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่เป็นการต่อสู้ของผู้หญิงในทั่วทุกมุมโลกเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมีก็คือการเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย หรือที่เรียกว่า ภาษีเลือด เพราะนี่คือสินค้าจำเป็น ไม่ใช่สินค้าปกติทั่วไปในแต่ละประเทศก็จะจัดสรรสินค้าชนิดนี้ไว้ในหมวดหมู่ที่ต่างกัน เช่น ในประเทศไทยจัดสินเป็นเครื่องสำอาง ในหมวดสินค้าควบคุม ในออสเตรเลีย มาเลเซีย อังกฤษ ถูกจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขอนามัยที่เป็นสินค้าจำเป็น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมของข้อเรียกร้องคือ การยกเลิกภาษีผ้าอนามัย แม้จะมีหลายประเทศที่กำลังต่อสู้เรียกร้องอยู่ แต่ก็มีหลายๆประเทศที่การเรียกร้องนั้นประสบความสำเร็จแล้ว

ประเทศอังกฤษ เป็นประเทศล่าสุดที่พึ่งประกาศยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยเพราะพึ่งประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ในอดีตตั้งแต่ปี 2516 นั้นอังกฤษได้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 17.5% กับผลิตภัณฑ์สุขอนามัย แต่จากการรณรงค์กันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในยุคนั้นอย่าง ดิวส์เบอร์รี่ แอน เทย์เลอร์ (Dewsbury Ann Taylor) ได้หยิบยกประเด็นนี้มาอภิปรายในรัฐสภา ทำให้ทางการลดอัตราภาษีลงไปอยู่ที่ 5 % จนมาถึงการรณรงค์ในปี 2557 ลอว์รา คอรีตัน (Laura Coryton) หนึ่งในนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี ผนึกกำลังกับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างดิวส์เบอร์รี่ พอลลา เชอร์ริฟฟ์ ( Dewsbury Paula Sherriff) เพื่อดำเนินข้อเรียกร้องนี้ให้เป็นรูปธรรม จึงมีการผลักดันข้อกฎหมายนี้เข้าสู่การประชุมสภาอีกครั้ง ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายจะไม่ผ่านในรอบแรก แต่หลังจากนั้นก็มีการชุมนุมประท้วงกันอย่างกว้างขวาง เพื่อเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำและยุติการกีดกันทางเพศ โดยในปี 2558 มีวัยรุ่นสาวชาวอังกฤษ ชาร์ลี เอดจ์ ได้ไปแสดงออกทางสัญญะที่บริเวณหน้ารัฐสภา ด้วยการไม่ใส่ผ้าอนามัยขณะมีประจำเดือน ประท้วงที่สภาลงมติไม่ยกเลิกภาษีอนามัยร้อยละ 5 และยังคงจัดให้ผ้าอนามัยอยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย

ผ้าอนามัย-ค้าปลีก-สินค้า

เอดจ์ได้กล่าวไว้ว่า “การที่หลายคนทำท่ารังเกียจใส่เธอนั้นแสดงให้เห็นถึงการเหยียดเพศและสองมาตรฐานอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่มีใครเก็บภาษีผู้ชายที่ปล่อยอสุจิออกมาเลย เธอยังบอกอีกด้วยว่าต้องการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่แค่ทางสังคม แต่ทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย” หลังจากนั้นในปี 2559 รัฐบาลอนุรักษ์นิยมประกาศว่าภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดที่จัดเก็บจากผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์จะมอบให้กับองค์กรการกุศลที่ทำงานกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่อ่อนแอ นั่นแปลว่ายังคงการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยไว้ที่ 5 % เช่นเดิม แต่การเรียกร้องก็ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องแม้จะเจอกับสถานการร์โควิด ก็ยังมีการเรียกร้องทางออนไลน์จากการทำแคมเปญล่ารายชื่อ เพื่อเรียกร้องในประเด็นนี้ จนเมื่อต้นปี 2564 ผู้หญิงทั่วเกาะอังกฤษก็ได้รับข่าวดีว่าทางการประกาศยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว 

สหรัฐอเมริกา มี 18 รัฐจาก 50 รัฐที่ไม่ได้เก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว ได้แก่ อลาสก้า เดลาแวร์ แมรีแลนด์ แมสซาชูเซตส์ มินนิโซตา มอนแทนา นิวแฮมป์เชียร์ อิลลินอยส์ คอนเนตทิคัต ฟลอริดา เนวาดา นิวยอร์ก โอไฮโอ โอเรกอน เพนซิลเวเนีย โรดไอแลนด์ วอชิงตัน ดีซี ความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งมาจากการทำแคมเปญรณรงค์กันอย่างกว้างขวาง นอกจากนั้นประเด็นนี้จะถูกบรรจุไว้ในบัตรลงคะแนนเลือกตั้งกลางเทอมของแต่ละรัฐอีกด้วย มีการประท้วงแบบออนไลน์ด้วยพลังของเทคโนโลยีมีขั้นตอนง่ายๆ ทางเว็บไซต์ให้ผู้ประท้วงร่วมกันปฏิบัติ คือการซื้อผ้าอนามัยแบบใดก็ได้จะแบบสอด หรือแบบแผ่น หลังจากนั้นเก็บใบเสร็จไว้และ ดำเนินการเรียกร้องเงินขอเงินคืน เพื่อโต้แย้งว่าภาษีการขายในใบเสร็จว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยการส่งแบบฟอร์มพร้อมกับใบเสร็จรับเงินไปที่กรมสรรพากรของรัฐเพื่อเป็นการประท้วง และยังมีการตั้งซุ้มเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดส่งจดหมายขอคืนภาษี ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมไม่สันทัดทางอินเตอร์เน็ต และจัดส่งไปที่กรมสรรพากรด้วยเช่นกัน และในปี 2562 ก็มีการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ ฝูงชนร่วมกันโบกป้ายพร้อมกับต่อสู้เช่น "หยุดเก็บภาษีจากช่องคลอด” และ “นี่คือความไม่เป็นธรรม” แคมเปญรณรงค์ส่งจดหมายไปที่สรรพากรยังคงดำเนินการอยู่เพราะยังเหลืออีกหลายรัฐที่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม และยังมีผู้หญิงในบางรัฐที่ยังไม่ได้รับความเท่าเทียม 

ผ้าอนามัย-ค้าปลีก

ออสเตรเลีย สินค้าสุขภัณฑ์ถูกเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) 10% มาตั้งแต่ปี 2543 และมีการณรงค์ต่อเนื่องมาเช่นเดียวกัน และใช้วิธีการเรียกร้องคล้ายกันกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในปี 2543 มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม "menstrual avengers" ด้วยการแต่งกายสีแดงเพื่อสื่อถึงสีเลือด ในปีนั้นมีวุฒิสมาชิกของรัฐควีนส์แลนด์ อแมนด้า สโตเกอร์ (Amanda Stoker) เป็นคนเดียวที่พูดต่อต้านร่างกฎหมายที่จะใช้ GST 10 % กับผ้าอนามัยในการประชุมสภา และยังมีการล่ารายชื่อ ในแคมเปญ Stop Taxing My Period ในปี 2558 มีการลงนามในคำร้องต่อต้านภาษีโดยผู้คนมากกว่า 90,000 คน รวมถึงมีการแต่งเพลงแร็พเพื่อประท้วงอีกด้วย มีการเดินขบวนหลายต่อหลายครั้งนานเกือบ 20 ปี จนมาถึงปี 2561 ที่ทางการได้ประกาศยกเลิกภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์สุขอนามัย ถึงแม้ว่ากฎหมายนี้จะทำให้รัฐบาลสูญรายได้กว่า 30 ล้านดอลลาร์ต่อปี ด้านโทนี่ แอ็บบอร์ต (Tony Abbott) นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียในขณะนั้นกล่าวว่า “นี่เป็นการตัดสินใจที่ชอบธรรมและถูกต้องทางการเมือง”

มาเลเซีย มีการประกาศเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) 6% มาตั้งแต่ปี 2558 ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ได้แสดงความไม่พอใจต่อการจัดเก็บภาษี GST ในสิ่งที่ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นสินค้าจำเป็น เนื่องจากประจำเดือนนั้นเป็นหน้าที่ของร่างกายตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงมีการยื่นคำร้องเพื่อให้รัฐบาลมาเลเซียยกเลิกภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์สุขอนามัยของผู้หญิง กว่า 14,000 รายชื่อจากทั่วประเทศ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน เพื่อส่งเสียงให้ทางการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสินค้าชนิดนี้ และล่าสุดในปี 2561 ทางการมาเลเซียก็ได้ประกาศยกเลิกการจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์สุขอนามัยอย่างเป็นทางการแล้ว 

AFP-ประจำเดือน-menstruation-period-ระดู-เมนส์-bleed with dignity-ผ้าอนามัย.jpg

อินเดีย ประกาศใช้การจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย 12% ในฐานะสินค้าฟุ่มเฟือยในปี 2560 และถูกยกเลิกหลังการประกาศใช้ 1 ปีเท่านั้น ถือเป็นชัยชนะสำหรับผู้มีประจำเดือนในอินเดีย เมื่อรัฐบาลยอมถอยหลังจากกฎหมายฉบับนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และนักเคลื่อนไหวรณรงค์ติดต่อกันมานานหลายเดือน และเกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ นักรณรงค์กล่าวว่า ภาษีนี้จะทำให้ผู้คนเข้าถึงผ้าอนามัยยากขึ้นในอินเดีย ซึ่งประเมินว่ามีผู้หญิงและเด็กหญิงราว 4 ใน 5 ที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้

เมื่อขึ้นภาษีนี้จะทำให้การเข้าถึงผ้าอนามัยของชาวอินเดียจะยากขึ้นไปอีก การไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้นั้นทำให้เด็กสาวจำนวนมากต้องละทิ้งการศึกษา ขณะที่อีกหลายคนจำต้องอยู่แต่ที่บ้าน เพราะไม่มีผ้าอนามัยใช้ในยามมีประจำเดือน ซูร์บี ซิงห์ ผู้ก่อตั้งซาคี ซาเฮลี (Sachhi Saheli) องค์กรการกุศลที่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขอนามัยของการมีประจำดือน กล่าวกับมูลนิธิทอมป์สัน รอยเตอร์ ว่า "นี่เป็นเรื่องที่จำเป็น และเฝ้ารอมานาน เพื่อช่วยให้เด็กหญิงและผู้หญิงยังคงเรียนหนังสือในโรงเรียนหรือทำงานต่อไปได้ " ดังนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายภาษีฉบับนี้ จึงทำให้เกิดการรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกการเก็บภาษีขึ้นในทันที รวมถึงมีการฟ้องศาลและร้องเรียนจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณากฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็มีคนสนใจร่วมลงชื่อมากถึง 4 แสนคน และเหล่าผู้ประท้วงเรียกภาษีชนิดนี้ว่า ลาฮู กา ลูกาน (Lahu ka Lagaan) ซึ่งแปลว่า "ภาษีเลือด"

ผ้าอนามัย

นอกจาก 5 ประเทศที่กล่าวมาแล้วนั้นยังมีอีกหลายประเทศที่การเรียกร้องในประเด็นนี้ประสบผลสำเร็จ อย่างใน สกอตแลนด์นอกจากจะไม่เก็บภาษีแล้วจะมีการผ่านกฎหมายให้ผู้มีประจำเดือนใช้ภาอนามัยฟรีเป็นประเทศแรกของโลก และยังมีเคนยา ประเทศแรกที่เดินหน้าเรื่องการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยตั้งแต่ปี 2547 และตั้งแต่ปี 2554รัฐบาลมีงบประมาณ 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อแจกจ่ายผ้าอนามัยให้โรงเรียนและชุมชนยากไร้ นอกจากนี้ก็มีประเทศที่ยกเลิกภาษีสำหรับผ้าอนามัยแล้วคือ แคนาดา,ไอร์แลนด์, จาไมก้า, นิการากัว, ไนจีเรีย, แทนซาเนีย, เลบานอน และ เยอรมนี

ส่วนประเทศที่เปลี่ยนการจัดผ้าอนามัยอยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยมาเป็นสินค้าอุปโภคคือ เบลเยียม, ฝรั่งเศส, สวิสเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์,ไซปรัส และโปรตุเกส

แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังเดินอยู่บนถนนของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องในประเด็นยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัย ทั้ง ๆ การเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธ์เป็นสิทธิพึงมีเช่นเดียวกันสิทธิในชีวิตตามรัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นคำถามที่ไร้ซึ่งคำตอบว่า ทำไม “ผ้าอนามัย” ถึงไม่ถูกจัดเป็นบริการด้านสุขภาพทางเพศ ที่ผู้มีประจำเดือนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้ง ๆ ที่ การมีประจำเดือนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นภาวะหนึ่งของร่างกายที่ผู้หญิงต้องเผชิญในทุกๆ เดือน แต่ “ผ้าอนามัย” กลับถูกจัดให้เป็นสินค้าที่ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องซื้ออย่างไร้เงื่อนไขและไร้ซึ่งทางเลือก 

เรื่องโดย: ชนิกานต์ มะโหรา

ตรวจโดย: ชยพล พลวัฒน์

ที่มา: BBC1 , Refinery29 , Politico , ABCNews1 , BBC2 , ABCNews2 , Globalcitizen