ไม่พบผลการค้นหา
'ชัยธวัช' นำ สส.ก้าวไกลเยือนมุกดาหาร รับฟังปัญหาถ่ายโอน รพ.สต. ให้ท้องถิ่น ด้านตัวแทน รพ.สต. อัด ให้ภารกิจเพิ่มแต่งบ-คนไม่ตามมาด้วย ทำบุคลากรลาออกไปหลายคนแล้ว ด้าน “กัลยพัชร“ ติง สธ. ไม่จริงใจกระจายอำนาจสาธารณสุข

9 มี.ค. 2567 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านหนองหลี่ ต.โชคชัย อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.พรรคก้าวไกลหลายคน ร่วมพบปะหารือกับบุคลากรสาธารณสุข ทั้ง รพ.สต. และสาธารณสุขอำเภอ รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจากการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข มายัง อบจ.มุกดาหาร

โดยในส่วนของตัวแทนบุคลากรสาธารณสุข ได้สะท้อนปัญหาจำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้น ว่าจังหวัดมุกดาหารเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ทั้ง 100% แต่ปัญหาคือภาระงานที่มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการจากส่วนกลาง เป็นไปอย่างไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ การถ่ายโอนแม้จะเป็นไปอย่างสมัครใจแต่ก็เกิดขึ้นในภาวะที่ อบจ. ไม่พร้อม โดยเฉพาะในด้านบุคลากรที่กำกับดูแล ขณะที่ระเบียบการจ้างที่กำหนดค่าตอบแทนพยาบาลไว้ต่ำเกินไป กลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้บุคลากรพยาบาลในหลาย รพ.สต. ไม่เพียงพอ

กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะทำงานด้านสาธารณสุข ที่ร่วมรับฟังปัญหาในวันนี้ด้วย ระบุว่าจากที่ตนได้รับฟังมาจากทั้งที่นี่และที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการถ่ายโอน รพ.สต. ปัจจุบันยังขาดความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุข จนนำไปสู่ภาวะสุญญากาศในการบริหารงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงปัญหาภาระงานที่หนักขึ้นของบุคลากรที่รับการถ่ายโอนไปแล้ว เพราะแม้จะมีอัตราบุคลากร แต่งบประมาณกลับไม่ตามมาด้วยหรือเติมไม่เต็ม แต่ตัวชี้วัดยังใช้แบบเดิม หรือมีตัวชี้วัดเพิ่มขึ้นมาทับซ้อนกับหน่วยงานท้องถิ่น ทำให้บุคลากรมีความกังวลต่อความก้าวหน้าในอาชีพของตน เป็นสภาพเหมือนมีเจ้านายหลายคนและต้องตอบสนองทุกคน โดยเฉพาะต่อ สธ. ที่ตัวชี้วัดมักไม่ตรงกับปัญหาจริงในพื้นที่ และยังสร้างภาระงานเพิ่มขึ้นมาอีก

จากปัญหาที่เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขควรมีความชัดเจนในเรื่องการถ่ายโอนและการบูรณาการทั้งนโยบายและข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้ รวมถึงการเติมงบประมาณให้เต็มกรอบ เติมบุคลากรให้เต็มกำลัง เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานท้องถิ่นนำไปปฏิบัติต่อได้ 

กัลยพัชรกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอน รพ.สต. ที่เต็มไปด้วยปัญหาเช่นนี้ ทำให้น่าตั้งข้อสังเกตว่าทางกระทรวงสาธารณสุขเอาเข้าจริงแล้วมีความต้องการที่จะกระจายอำนาจทางสุขภาพออกสู่ท้องถิ่นจริงหรือไม่ เพราะงบประมาณก็ไม่ไป บุคลากรก็ไม่ถ่ายโอนไปให้เต็มอัตรากำลัง KPI หรือตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลงาน ก็ให้ รพ.สต. ที่สังกัด อบจ. ได้คะแนนลดลง ความก้าวหน้าในวิชาชีพของบุคลากรก็ไม่มี สวัสดิการก็ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความสงสัยว่าจริงๆ แล้วทางกระทรวงสาธารณสุขต้องการเห็นการกระจายอำนาจจริงหรือไม่

ทางกระทรวงมหาดไทยเอง ในฐานะผู้กำกับดูแลท้องถิ่น สามารถอำนวยการให้การถ่ายโอนเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น ด้วยการปรับกฎระเบียบบางอย่างได้หรือไม่ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงาน ทำงานได้คล่องตัวขึ้น ทั้งเอกสาร การเบิกครุภัณฑ์ ที่ตนได้รับการสะท้อนมาจากทั่วประเทศว่าทำได้ยากขึ้นมาก และสุดท้ายคือ นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นคนกลาง ให้ทั้งสองกระทรวงมีข้อตกลงที่ชัดเจนได้หรือไม่ เพราะปลายทางย่อมเป็นความต้องการเดียวกัน ให้เกิดการยกระดับสาธารณสุขปฐมภูมิ (primary care) ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงนายกรัฐมนตรียังเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติอีกตำแหน่งด้วย