วันที่ 29 เม.ย. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอให้รัฐบาลและการท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทย อาศัยผลกระทบจากโควิด-19 วางแผนมาตรฐานใหม่ของท้องทะเลและผลักดันโครงการอันดามันมรดกโลก เพื่อให้เกิดทะเลสมบูรณ์ สัตว์น้ำยิ้มแย้ม และผู้คนหากินได้อย่างยั่งยืน
เนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ดังนี้
ตอนบ่าย นั่งวางแผนการท่องเที่ยว new normal ทะเลไทย ผมคิดว่ามีคีย์เวิร์ด 4 คำ หากทำตามได้เริ่ดเลยครับ
#การ์ดห้ามตก
เราจะลดการ์ดดูแลทะเลไม่ได้
การลาดตระเวน/ดูแล/เครือข่าย ฯลฯ ต้องใช้งบปประมาณ แต่อุทยานขาดรายได้ถึงตอนนี้หลายร้อยล้านแล้วครับ
เพราะฉะนั้น ลดงบดึงงบอะไรก็ได้ แต่อย่าดึงงบดูแลรักษา ซึ่งเรื่องนี้จำได้ว่าท่าน รมต.ก็เคยย้ำไปแล้ว
#สอดคล้องโควิด
การเที่ยวแบบ new normal ยุคหลังโควิดจะเพิ่มระยะห่างและลดคนอยู่แล้ว
เรื่องนี้ก็ตรงกับการดูแลธรรมชาติไม่ให้แออัด หากเราปรับแผนให้เข้ากัน สองเรื่องนี้ไปด้วยกันได้เป๊ะๆ
#รุกคืบข้างหน้า
อยากไปยุคใหม่ เราต้องวางแผน แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน หากเราลงมือทำงานมันจะเกิดผล
เช่น ขีดความสามารถรองรับ พื้นที่จอดเรือ การควบคุมเรือวิ่งไปมา การดูแลท่องเที่ยวในพื้นที่บอบบาง ฯลฯ
หากไม่มีแผนในพื้นที่ รอแต่มีปัญหาแล้วค่อยแก้ เราก็คงอยู่ในยุคเดิมๆ ต่อไป
อยากเปลี่ยนต้องมีแผน ต้องปฏิบัติได้ แผนดีที่สุดจะเกิดจากพื้นที่ ค่อยนำมาปรังแต่งปรับเพิ่มจากส่วนกลาง ล่างขึ้นบน ธงเดียวกัน คืนบ้านให้สัตว์ทะเล
#ฝันให้ไกล
มองภาพรวมและน่าจะเป็นโปรเจกต์ใหญ่สุดของการท่องเที่ยวทางทะเลไทย คือโครงการอันดามันมรดกโลก
เราจมปลักกับโครงการนี้มาเกิน 10 ปี สมัยผมเป็น สปช.เคยดันผ่านสภาด้วยคะแนนเต็ม ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วยเลย คงต้องกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และถ้าทำจริงเป็นไปได้ เพราะมีข้อมูลอยู่เยอะแล้ว
จังหวะนี้ดีที่สุดหากอยากทำครับ
สี่คีย์เวิร์ดนี้แหละจะช่วยได้ แต่มันก็ขึ้นกับความเป็นจริงว่าเราอยากเดินไปข้างหน้าไหม
ผู้รับผิดชอบ/ผู้เกี่ยวข้อง อยากเห็นโลกใหม่ๆ หรือเปล่า
อยากให้วัดใจ และลองเดินไปข้างหน้า เพื่อให้สิ่งที่คนรักทะเลทุกท่านฝันไว้เกิดขึ้นสักที
ทะเลสมบูรณ์ สัตว์น้ำยิ้มแย้ม ผู้คนหากินยั่งยืน..