ไม่พบผลการค้นหา
'รวยสุดโต่ง' และ 'ยากจนสุดขีด' พุ่งสูงพร้อมกันครั้งแรกในรอบ 25 ปี

ท่ามกลางการประชุมระดับนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่าง World Economic Forum (WEF) ที่กำลังดำเนินอยู่สกีรีสอร์ตในดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์ องค์กรนานาชาติที่ทำงานเพื่อขับเคลื่อนให้โลกรอดพ้นจากความยากจนอย่าง Oxfam ได้เปิดเผยว่า หลังการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกำลังห่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ

Oxfam ชี้ว่า 'ความรวยสุดโต่ง' และ 'ความยากจนสุดขีด' พุ่งสูงขึ้นอย่างมากพร้อมๆ กัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี โดย Oxfam ได้เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกให้เร่งรับมือด้วยการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมมากขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงของปรากฏการณ์ 'ความเหลื่อมล้ำ' นี้

นาบิล อาห์เม็ด ผู้อำนวยการด้านความยุติธรรมทางเศรษฐกิจของ Oxfam America กล่าวกับสำนักข่าว VOA ว่า "ดาวอสกลับมาอีกครั้งในเดือน ม.ค. เทศกาลของความมั่งคั่งหวนคืนมาอีกครั้ง เราจึงได้นำผลการศึกษาที่น่ากังวลอย่างยิ่งมาเผยแพร่ซึ่งมันชี้ชัดเจนว่ากลุ่มคนร่ำรวยที่สุดระดับ 1% ของโลกกำลังกุมความมั่งคั่งเกือบ 2 ใน 3 ของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นใหม่ของทั้งโลก ซึ่งเป็นความมั่งคั่งใหม่ที่ได้มาหลังปี 2563"


ความมั่งคั่งจาก โควิด-19

สำนักข่าว VOA และ AP รายงานอ้างอิงการเปิดเผยจาก Oxfam โดยระบุว่า 'โควิด-19' คือที่มาของความมั่งคั่ง การประกาศล็อกดาวน์ของทั่วโลกทำให้เม็ดเงินมหาศาลจากรัฐบาลนานาประเทศถูกเทลงไปยังการจัดซื้อที่มีความเร่งด่วนและจำเป็นเพื่อรับมือกับโรคระบาด 

แน่นอนว่าการลงทุนจากภาครัฐส่งผลให้ราคาหุ้นหลายตัวพุ่งทะยาน บวกกับการจัดเก็บภาษีที่ไม่ได้ก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็น ทำให้กลุ่มร่ำรวย 1% สามารถ 'ดื่มด่ำ' ไปกับความรุ่งโรจน์ของสินทรัพย์นี้ตลอดช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา 


อัตราเงินเฟ้อ

ผลการศึกษาจาก Oxfam ชี้ว่า ผู้คนมากกว่า 1,700 ล้านคนทั่วโลกกำลังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่เงินเฟ้อพุ่งทะยานเร็วกว่ารายได้ ทำให้พวกเขาเผชิญความยากจนที่มากขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่ทำให้ราคาข้าวของ อาหาร และพลังงานพุ่งสูงขึ้น ทำให้คนรวยที่รวยมากอยู่แล้ว "รวยมากขึ้นไปอีก"

Oxfam ยังเปิดเผยด้วยว่า วิกฤตค่าครองชีพทำให้เห็นว่าบรรดาผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารและพลังงานต่างกวาดรายได้กันอย่างชื่นมื่น โดยเป็นการเพิ่มเม็ดเงินในกระเป๋าให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นไปเต็มๆ พร้อมยังชี้ว่า "บริษัทด้านอาหารและพลังงานรายใหญ่ของโลก 95 แห่งสร้างกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปี 2565 ที่ผ่านมา" 


ข้อเรียกร้องด้าน "ภาษีที่เป็นธรรม"

Oxfam กำลังเรียกร้องให้ 'ภาษีลาภลอย' (Windfall Taxes) ที่ถูกเรียกเก็บจากบริษัทด้านพลังงาน ถูกเรียกเก็บด้วยในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางอาหารที่ทำกำไรในระดับที่สูงมากเช่นกัน พร้อมยังมีการเรียกร้องด้วยว่าควรมีการเก็บภาษีที่ระดับ 5% กับกลุ่มอภิมหาเศรษฐีของโลก

นาบิล อาห์เม็ด ผู้อำนวยการด้านความยุติธรรมทางเศรษฐกิจของ Oxfam America กล่าวกับสำนักข่าว VOA เพิ่มเติมอีกด้วยว่า "ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงไม่ใช่สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ... นี่ไม่ใช่ปัญหาของพยาบาล ครูอาจารย์ หรือชนชั้นกลาง นี่คือเรื่องของคนที่อยู่บนสุด เป็นสิ่งที่ต้องแน่ใจให้ได้ว่าพวกเขากำลังจ่ายภาษีในระดับที่เป็นธรรมกว่าที่เป็นอยู่"