ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ สรุปปมคดีหุ้น 'บุรีเจริญฯ' ที่เกี่ยวโยงกับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว. คมนาคม ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 17 ม.ค. นี้
  • ศักดิ์สยาม ชิดชอบ คือน้องชายของเนวิน ชิดชอบ และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็น สส. ครั้งแรกในปี 44 
  • ศักดิ์สยาม ระหกระเหินบนทางการเมืองเรื่อยมา ตั้งแต่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีคดียุบพรรคไทยรักไทย สู่การเป็น รมว.คมนาคม ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันโอชา สังกัดพรรคภูมิใจไทย 
  • ช่วงที่เขาเป็น รมว. คมนาคม ได้เกิดประเด็นใหญ่ขึ้น หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อ 19 ก.ค. 65 โดยศักด์สยาม ถูก สส.พรรคร่วมฝ่านค้านอภิปรายหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.ก้าวไกล ได้เปิดประเด็นกล่าวหา เรื่องการตั้งนอมินีเพื่อซุกหุ้นใน ‘หจก.บุรีเจริญ’ พร้อมนำมาเป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งล้วนแต่ได้มาด้วยความไม่ปกติ ทั้งชนะประมูลต่ำกว่าราคากลาง หรือมีคู่เทียบเพียงรายเดียว 
  • การอภิปรายดังกล่าว ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ว่า หจก.บุรีเจริญ ก่อตั้งในปี 2539 โดยมีตระกูลชิดชอบ ถือหุ้น 80% และที่ตั้งสำนักงานก็คือบ้านของศักดิ์สยาม และเมื่อมีตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น หจก. ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น แต่พอยุค คสช. ศักดิ์สยาม ก็กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ ‘บุรีเจริญ’ ในปี 2558 โดยเพิ่มทุนเป็น 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง จนเมื่อปี 2561 ที่มีการเลือกตั้ง ศักดิ์สยาม ก็โอนหุ้นทั้งหมดไปให้ ‘ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์’ (ศักดิ์สยามอ้างว่าเป็นเพื่อน) ในวันรุ่งขึ้นทันที และย้ายที่ตั้งสำนักงานบุรีเจริญออกจากบ้านของตัวเอง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน 
  • 20 ก.ค. 2565 ศักดิ์สยามออกมาชี้แจงว่า มีการซื้อหายหุ้นจริงตั้งแต่ 15 ม.ค. 2561 มีการโอนเงินและมีหลักฐานการโอน 3 ครั้ง รวม 119.5 ล้านบาท และจดเปลี่ยนหนังสือรับรอง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2561 และยังยืนยันว่า หลังจากนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ หจก.บุรีเจริญฯ อีก ส่วนข้อสงสัยที่ว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่แจ้งไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ศักดิ์สยามชี้แจงว่า เพราะเป็นไปตามหลักเกณฑ์คือ กรณีที่ต้องยื่นมีเรื่องเดียวคือมีการเพิ่มเงินลงทุนหรือจดใหม่ กรณีโอนหุ้นไม่ต้องยื่น ส่วนกรณีที่ไม่มีรายงานในบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นขณะที่เขายังไม่เข้าสู่ตำแหน่ง
  • ปกรณ์วุฒิ สส.ก้าวไกล แถลงโต้คำชี้แจงของศักดิ์สยามว่า หากมีการแสดงหลักฐานว่า มีการจ่ายเงินโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จริงในราคา 120 ล้านบาท โดยประมาณ ซึ่งตนได้อภิปรายไปว่า หจก.ที่มีสินทรัพย์มีรายได้มากขนาดนี้ การซื้อขายกันแค่ 120 ล้านบาท เป็นราคาทุนที่ดูไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งเมื่อขายไปแล้ว หจก. แห่งนี้ก็กลับมาได้งานของกระทรวงคมนาคม ในขณะที่ศักดิ์สยามดำรงตำแหน่งอยู่ มูลค่าเป็น 1,000 ล้านบาท โดยเขาตั้งคำถามว่า การกระทำธุรกรรมครั้งนี้  ส่อเป็น ‘นิติกรรมอำพราง’ หรือไม่
แวะคดี ‘เขากระโดง’ โยงคดีซุกหุ้น
  • เพื่อทำความเข้าใจคดีนี้ เราอาจต้องแวะไปยัง ‘เขากระโดง’ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาตั้งแต่ ปี 2562-2564 โดยมีการสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาผ่านบุรีรัมย์ ไปสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี แต่เนื่องจากต้องหาแหล่งหินเพื่อนำมาสร้างทางจึงทำการจัดซื้อที่ดินแถวนั้น
  • ที่ดินเขากระโดงนี้ การรถไฟอ้างว่ามี 5,083 ไร่ ซึ่งมีผู้บุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยกันจำนวนมาก และทยอยถูกฟ้องเพิกถอนสิทธิ์ แต่ปรากฏกว่ามีที่ดิน 2 แปลงเลขที่ 3466 กับ 8546 ของ ‘ตระกูลชิดชอบ’ กลับไม่ถูกฟ้องเพิกถอน 
  • ย้อนไป 18 ก.ค. 2540 จังหวัดบุรีรัมย์ได้ส่งเรื่องข้อพิพาทปัญหาที่ดินระหว่าง  รฟท. กับประชาชน ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 7 วินิจฉัยว่าที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. 
  • ปี 2552  รฟท. ส่งเรื่องไปยัง ‘กรมที่ดิน’ เพื่อขอให้เพิกถอนที่ดินของผู้บุกรุกที่ได้มีการออกโฉนดโดยมิชอบ โดยเฉพาะที่ดิน 2 แปลงของ ‘ตระกูลชิดชอบ’ ปรากฏว่ากรมที่ดินพิจารณาแล้วมีความเห็น ‘แย้ง’ กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่ดำเนินการ ‘เพิกถอน’ โฉนดดังกล่าว โดยอ้างว่าการ รฟท. ส่งหลักฐานไม่ครบ ทำให้กระบวนการเพิกถอนโฉนดต้องยุติลง
  • ส่งผลให้ต่อมา ประชาชนหลายรายซึ่งอาศัยในพื้นที่เขากระโดง ได้นำเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่มีอยู่ เช่น น.ส.3 ไปออกเป็นโฉนดที่ดินกับกรมที่ดิน แต่กรมที่ดินไม่ออกโฉนดให้ เนื่องจากมีการคัดค้านจาก รฟท. กระทั่งประชาชน 35 ราย ยื่นฟ้อง รฟท.และกรมที่ดินต่อศาลแพ่ง และมีการต่อสู้กันถึงศาลฎีกา จนในปี 2560 ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินและ น.ส.3 ของผู้ฟ้อง 35 ราย เนื่องจากที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของ  รฟท. 
  • จากคำพิพากษาศาลฎีกา รฟท. จึงมีหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ที่ดินทุกแปลงบริเวณเขากระโดง แต่กลายเป็นว่า มีที่ดินหลายแปลงที่ยังไม่มีการฟ้องศาลฯ ขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ เช่น สนามช้างอารีน่า, โฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ของกรุณา ชิดชอบ และโฉนดที่ดินของ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เคยเป็นที่ปรึกษาฯ รวมทั้งโครงการ 'บุรีรัมย์ คาสเซิล' ของ บริษัท ศิวะ บาร์ณา จำกัด ที่มีเนวิน ชิดชอบ เป็นประธานกรรมการ 
  • จากประเด็นเขากระโดง กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. ประชาชาติ นำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ 19 ก.ค.2565 ว่า ที่ดินสองแปลงของตระกูลชิดชอบ เป็นที่ตั้งที่พักของศักดิ์สยาม และยังเป็นที่บริษัทและ หจก. อีกหลายแห่ง เช่น บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ และ และ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งบริจาคให้พรรคภูมิใจไทย 4.7 ล้านบาทและ 4 ล้านบาทตามลำดับ  โดยตั้งคำถามว่า นี่คือความเชื่อมโยงระหว่างรัฐมนตรีกับพวกพ้องหรือเปล่าที่ไม่ดำเนินการ
  • ขีดเส้นใต้ว่า ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินีของศักดิ์สยาม และถือหุ้นใหญ่ใน ‘หจก.บุรีเจริญ’ คือหนึ่งในผู้บุกรุกที่ดินเขากระโดงของ รฟท. ที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ขับไล่และชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2561
  • ด้านศักดิ์สยาม ได้โต้ในประเด็นที่ดินเขากระโดง ยืนยันว่า ไม่เคยแทรกแซงการทำงานของหน่วงานภายใต้สังกัดคมนาคม ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่าไปสั่งการหน่วงเวลา ไม่ให้บังคับคดีของศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์  ขอชี้แจงว่าการรถไฟดำเนินการตามกระบวนการสืบทรัพย์สิน ขณะนี้อยู่ในกระบวนการของกรมบังคับคดี ไม่มีการละเว้นหรือเลือกปฏิบัติต่อใคร
กลับมาที่คดีซุกหุ้น 
  • ศักดิ์สยาม เคยเป็นผู้ก่อตั้ง และเคยเป็นหุ้นใหญ่ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก่อนโอนให้ ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จำนวน 119.4 ล้านบาท เมื่อปี 2561 แต่ยังใช้ที่อยู่ของศักดิ์สยามเป็นที่ตั้งบริษัท จนกระทั่งเป็น สส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2562 ก่อนที่ หจก.ดังกล่าวจะแจ้งย้ายที่ตั้ง ก่อนศักดิ์สยาม รับตำแหน่ง รมว.คมนาคม เพียง 23 วัน
  • คำถามคือ การโอนหุ้นระหว่างศักดิ์สยามและศุภวัฒน์ จำนวน 119.4 ล้านบาท ในปี 2561 นั้น  มีการจ่ายเงินกันหรือไม่ หากเป็นการโอนหุ้นให้เปล่า ศุภวัฒน์มีการเสียภาษีในส่วนนี้หรือไม่? และหลังการโอนหุ้น เหตุใดจึงใช้ที่อยู่บ้านศักดิ์สยามเป็นที่ตั้ง หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จนกระทั่งเพิ่งเปลี่ยนที่ตั้งก่อนหน้านั่งเก้าอี้ รมว.คมนาคม เพียง 23 วัน?
  • หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ระหว่างปี 2558-2562 อย่างน้อย 60 รายการ รวมวงเงินกว่า 1,261.72 ล้านบาท เกิดขึ้นในช่วงที่ หจก.แห่งนี้ใช้ที่อยู่ของศักดิ์สยามเป็นที่ตั้ง โดยมีอย่างน้อย 4 โครงการ ที่ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ชนะการประกวดราคาของ 2 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม คือ กรมทางหลวงชนบท 2 โครงการ และกรมทางหลวง 2 โครงการ รวมวงเงิน 122.18 ล้านบาท โดยพบว่า มีคู่เทียบหน้าเดิมเป็นผู้ยื่นเสนอราคาทุกครั้ง นั่นคือ บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด 
  • สำหรับ บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด คือหนึ่งในผู้บริจาคเงินเข้าพรรคภูมิใจไทย เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน และบริจาคในช่วงเวลาเดียวกับ ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ (ผู้ถือหุ้นใหญ่ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น) ด้วย
  • ประเด็นเหล่านี้ถูก สส. พรรคฝ่ายค้านนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2565 และหลังจากนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องถึง ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ เป็นทางการ 
  • 3 มี.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจากการยื่นคำร้องของฝ่ายค้าน กรณีการถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น 
  • วันพรุ่งนี้ 17 ม.ค. 67 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ขาดคำร้องคดีซุกหุ้นบุรีเจริญ ว่าจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สิ้นสุดลงหรือไม่
  • 13 มี.ค. 2566 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ยื่นเอกสารร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. กรณีต้องสงสัยมีหุ้นในบริษัทรับเหมาก่อสร้างเอกชนแห่งหนึ่ง โดยให้นอมินีถือครองหุ้นแทน จากนั้นบริษัทดังกล่าวได้เข้าประมูล ประกวดราคาโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม มูลค่าหลักพันล้านบาท ซึ่งนายศักดิ์สยามนั่งตำแหน่ง รมว.คมนาคม อยู่ด้ว
  • 11 เม.ย.2566  ศักดิ์สยาม ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี แต่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยกคำร้อง โดยพิจารณาแล้ว เห็นว่ากรณียังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อันจะเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เดิม
  • หลังศาล รธน. มีมติรับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และมีคำสั่งให้ศักดิย์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ต่อมา ศักดิ์สยาม ได้ส่งเอกสารและพยานหลักฐานต่างๆชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหักล้างข้อกล่าวหา ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้ขอให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลฯ 
  • 28 มิ.ย.66 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในฐานะผู้เข้าชื่อเสนอคำร้องฯ ได้ยื่น ‘บัญชีระบุพยานบุคคล’ และ ‘บัญชีระบุพยานเอกสาร’ รวม 31 รายการ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการวินิจฉัย โดยมีบัญชีระบุพยานบุคคล จำนวน 22 ปาก
  • คดีนี้ถือเป็นคดีใหญ่ และเป็นที่จับตามองจากหลายฝ่าย โดยขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาและรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้วจำนวน 48 ครั้ง ก่อนไต่สวนพยาน และกำหนดนัดวันวินิจฉัยออกมาแล้วคือวันที่ 17 ม.ค. 67  ซึ่งหากดูจากสถานการณ์แล้ว ศักดิ์สยาม อาจรอดยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางรอด เพราะข่าวสะพัดว่าเขามีทนายคู่กายที่เก่งกาจ ทว่าทนายคนนี้ไม่เปิดเผยตัว กล่าวได้ว่า คดีนี้อาจทำให้ประชาชนและผู้ที่ติดตามลุ้นตัวโก่งจนวินาทีสุดท้ายก็เป็นได้
  • สำหรับชะตากรรมของศักดิ์สยาม หากศาล รธน. พิพากษาชี้ว่าเขาผิดจริง ผลคือ ศักดิ์สยามจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ศาลมีคำวินิจฉัย ตามมาตรา 6 (8) ที่บัญญัติว่า บุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามคือ “ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง”
  • เนื่องจากคดีซุกหุ้นนี้ กินเวลากว่า 10 เดือน ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ ทว่าปัจจุบันเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว และศักดิ์สยาม ไม่ได้อยู่ในฐานะ รมว. คมนาคม แล้ว ทำให้ผลของคดีกรณีวินิจฉัยว่ามีความผิด จึงมีเพียงเท่านี้ 
  • อย่างไรก็ตาม ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม  และก้าวไกล เคยยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบศักดิ์สยาม หลายเรื่องด้วยกัน ทั้งกรณีปกปิดและแจ้งทรัพย์สินในการเข้าดำรงตำแหน่งฯ ต่อ ป.ป.ช อันเป็นเท็จ, ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตกรณีเขากระโดง และ ฝ่าฝืนมาตราฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่ยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐกรณีการครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง โดยเรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.  
  • หาก ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีมูล ก็อาจส่งเรื่องต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป