ไม่พบผลการค้นหา
'อภิสิทธิ์' ชี้แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กต้องปรับความคิดใหม่ ย้ำอย่ามองแค่ความคุ้มค่า ขณะที่กองทุน กสศ. เผยมีโรงเรียนขนาดเล็ก 1,594 โรงหรือร้อยละ 10 ของโรงเรียนเล็กทั่วประเทศที่ควบรวมไม่ได้ คลี่ 3 โจทย์ย่อย “ข้อมูล-การจัดสรรทรัพยากร-นวัตกรรม เทคโนโลยี” วางแนวทางแก้ไขปัญหา

ที่อาคารประชุมสุข อาชวอำรุง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาพัฒนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จัดการเสวนาโครงการพัฒนวิพากษ์ ครั้งที่ 2 เรื่อง โรงเรียนขนาดเล็ก...โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการศึกษาไทย โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีะ นายไกรยศ ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และนายนิรุตติ์ หนักเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอำเภอปากพลี ร่วมในการเสวนา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดการศึกษาต้องเริ่มตั้งแต่กรอบความคิดเป้าหมายและนโยบายของการจัดการศึกษาต้องชัดเจนว่าเรื่องใดจะเป็นที่ตั้ง ส่วนตัววางว่าเป้าหมายสุดท้ายคือต้องการให้คุณภาพการศึกษาเด็กทุกคนอยู่ในระดับเป็นที่พึงพอใจ เมื่อกำหนดโจทย์ลักษณะนี้การถกเถียงปัญหาต่างๆของโรงเรียขนาดเล็กจะพบว่ายังขาดอีกหลายมิติ หลายรัฐบาลพยายามหยิบแนวคิดการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยอาศัยงานวิจัย ผลการสำรวจของหน่วยงานต่างๆที่บ่งบอกว่าคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหา ความคุ้มค่าการบริหารจัดการงบประมาณที่สิ้นเปลืองแต่หากควบรวมจะประหยัดมากขึ้น แท้จริงโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องใช้สูตรสำเร็จว่ามีเด็กจำนวนเท่านี้ พื้นที่ 6 กิโลเมตรจะต้องควบรวม

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นปัญหาในตัวเองและต้องควบรวม ยืนยันว่าไม่ควรนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นเป้าหมาย ดังนั้น อยากให้ตั้งโจทย์ใหม่อย่าดูแค่ความคุ้มค่า ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเชิงเป้าหมาย เชิงพื้นที่ ความแตกต่างของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่กับโรงเรียนทั่วไป อยากให้สิ่งเหล่านี้อยู่ในใจของผู้กำหนดนโยบาย อีกทั้ง ยังต้องมองถึงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง การนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการศึกษา

ชี้อุปสรรคการศึกษาไทยรวมศูนย์ แนะกระจายอำนาจจัดสรรทรัพยากรด่วน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การปรับโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องปรับโจทย์การคิดโดยนำโรงเรียนขนาดเล็กที่ยุบไม่ได้มาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการ, การจัดสรรทรัพยากร เรื่องระบบการเงินการคลังที่จัดงบประมาณให้ท้องถิ่นและมีสูตรคำนวณเงินชดเชยในพื้นที่ด้อยพัฒนา เพื่อเปิดทางท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนซึ่งปัจจุบันทำได้ยากเพราะติดขัดระเบียบ รวมถึงต้องวางระบบการจัดสรรทรัพยากร ที่ได้รับการสนับสนุนมาจากภาคประชาสังคม หน่วยงานต่างๆในรูปแบบ CSR ให้กระจายไปสู่โรงเรียนทั่วถึงไม่ใช่กระจุกตัวแค่ที่ใดที่หนึ่ง และต้องปรับมุมมองความคิด โรงเรียนขนาดเล็กที่จำเป็นต้องคงอยู่ตามแนวโน้มโดยธรรมชาติ สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลง ควรเลิกกำหนดระยะทาง จำนวนเด็ก เพราะมีแต่จะเกิดผลเสีย เช่นเดียวกับการมองเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต่ำก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะหลายโรงเรียนก็มีเหตุปัจจัยให้ถูกกดทับด้วยสภาพพื้นที่ 

”อุปสรรคใหญ่ของการศึกษาไทยคือ ระบบโครงสร้างที่รวมศูนย์ จึงแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ได้ ตอนนี้ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดกลับมายิ่งซ้อนไป ทั้งที่ควรกระจายอำนาจไปโรงเรียน ไปเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งคุ้นเคยและเข้าใจพื้นที่อย่างดี ซึ่งการกระจายอำนาจและการจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำทันที การทำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลต่างที่เป็นปรโยชน์ไปสู่การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

กสศ.เผยโรงเรียนขนาดเล็กนักเรียนต่ำกว่า 120 คนต่อโรงเรียนกว่า 1.5พันแห่ง

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือ โจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ของประเทศ กองทุน กสศ. พยายามตีโจทย์โรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนเพื่อนำสู่การวิเคราะห์และวางแนวทางแต่ด้วยโจทย์ที่ใหญ่และงบประมาณที่จำกัด จึงได้กำหนดโจทย์โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลของชุมชน (Protected School) พบว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนต่อโรงเรียนมีจำนวน 1,594 โรง คิดเป็น 10% ทั่วประเทศทั่วประเทศ ที่ไม่สามารถยุบและควบรวมได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลบนดอย เกาะแก่ง และโรงเรียนตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนที่ใกล้ที่สุดในระยะ 10-20 กิโลเมตร ปัจจุบันการศึกษาให้นักเรียน 100,000 คนทั่วประเทศ จากข้อมูลนำมาแยกโจทย์ย่อย 3 ประเด็น คือ ข้อมูล การจัดสรรทรัพยากร และนวัตกรรม เทคโนโลยี

นายไกรยส กล่าวต่อไปว่า ด้านข้อมูลกองทุน กสศ. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ Information system for Equitable Education หรือ isee ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ช่วยให้ทุกคนเห็นสภาพปัญหาที่จริง ชี้พิกัดในแผนที่ให้เห็นชัดว่าโรงเรียน 1,594 โรงที่ต้องการการคุ้มครองนี้อยู่จังหวัดใด และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบโดยวิเคราะห์ข้อมูลจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ ระยะทางจากบ้าน-โรงเรียน, ภูมิศาสตร์ ชุมชน มานุษยวิทยาสังคม ฯลฯ เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาแท้จริงของครอบครัว ของครู ของเด็กและครอบครัว นำมาสู่การลงทุนเพิ่มเติมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส 

ด้านการจัดสรรทรัพยากรด้วยหลักความเสมอภาค ทั้งงบประมาณและกรอบอัตรากำลังครู รัฐควรจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะสูตรการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยเสียเปรียบและแม้จะได้เงินอุดหนุนพิเศษก็ยังไม่พอ ดังนั้น ควรปรับมาจัดสรรด้วยหลักความเสมอภาค(Equity-based) คือ จัดสรรตามความต้องการของเด็กแต่ละช่วงวัย, อุดหนุนพิเศษโรงเรียนที่มีหลักสูตรเฉพาะทาง, จัดสรรตามโครงสร้างต้นทุนที่แท้จริงของโรงเรียน ทั้งนี้ มีมาตรการการจัดสรรทรัพยากรเพื่อประกันคุณภาพขั้นต่ำของโรงเรียนขนาดเล็กในต่างประเทศซึ่งใช้แล้วได้ผล เรียกว่า Fundamental School Quality Level (FSQL) ประเทศไทยยังไม่เคยนำมาใช้ แต่น่าจะมีการศึกษาวิจัยพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนทำงานต่อเนื่องในอนาคต ส่วนการจัดสรรครู กองทุน กสศ.มีนโยบายครูรักถิ่นนำคนพื้นที่มาเป็นครู

นายไกรยส กล่าวอีกว่า สุดท้ายด้านนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน จะช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็ก ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ให้เสมอภาคเทียบเท่าโรงเรียนอื่นๆ ในประเทศได้ อย่างไรก็ตามโจทย์ย่อย 3 ข้อ จะเป็นโจทย์พื้นฐานสำคัญที่ทุกฝ่ายควรร่วมกันแก้ไขด้วย Evidence-based policy ที่เน้น หลักความเสมอภาค และหลักการมีส่วนร่วม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ผอ.โรงเรียนขนาดเล็กสู้ให้โรงเรียนไม่ถูกควบรวม

ขณะที่ นายนิรุตติ์ หนักเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอำเภอปากพลี กล่าวว่า จากนโยบายขณะนี้ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงโรงเรียนแห่งนี้อาจจะต้องถูกควบรวมอย่างช้าในปีการศึกษา 2564 ก่อนหน้าที่ตนเข้ามาตำแหน่งเดือนมีนาคม 2562 โรงเรียนมีนักเรียน 37 คน ครู 3 คน เมื่อดูงบประมาณการเงินหักจากรายจ่ายที่ต่างๆเบ็ดเสร็จเหลือเงินเพื่อให้พัฒนาโรงเรียนเพียง 10,000 กว่าบาทต่อปีแน่นอนว่าไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาก็ได้ทำงานร่วมกับครูและชุมชนหาทางแก้ปัญหา จนล่าสุดปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนเพิ่มมาเป็น 45 คน ครู 3 คน และจ้างครูอัตราจ้าง 2 คนที่จ้างด้วยเงินที่ได้รับจากร่วมกับชุมชนในการทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา 

“ผมและครูก็ไม่อยากให้โรงเรียนต้องถูกควบรวม ถ้าผมยังทำงานอยู่ก็จะพยายามทุกวิถีทางให้โรงเรียนยังคงอยู่ ซึ่งผมเห็นด้วยว่าขนาดของโรงเรียนไม่ใช่ปัจจัยที่จะต้องควบรวมหรือยุบ โดยเฉพาะจะเร่งพัฒนาคุณภาพการเรียนของเด็กให้ดีขึ้นเพราะที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างโรงเรียนขนาดเล็กที่ทำคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ดี อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่แค่เรื่องเงิน สำคัญมากคือ พัฒนาคน พัฒนาครูหากพ่อแม่ ชุมชนต้องทำให้เขาวางใจก็จะส่งลูกมาเรียนที่นี่ ได้ความรู้และยังอยู่ใกล้บ้าน รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นที่พร้อมยื่นมือช่วยเหลือ เพียงแต่ยังติดกับระเบียบต่างๆ จึงช่วยได้ไม่เต็มที่” นายนิรุตติ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :