ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 'กิตติรัตน์ ณ ระนอง' ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อ บ.สยามอินดิก้า ส่งมอบข้าวให้ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยส่งสำนวนให้ อสส.ส่งศาลฎีกาฯ

วันที่ 29 มิ.ย. นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหา กิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กับพวก กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยละเว้นไม่ควบคุมดูแลหรือสั่งการให้มีการตรวจสอบ กรณีองค์การคลังสินค้าคัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซีย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2554 องค์การคลังสินค้ากับองค์การสำรองอาหาร หรือ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ทำสัญญาซื้อขายข้าว ปริมาณ 300,000 ตัน ในราคาตันละ 559 เหรียญสหรัฐ และเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาดังกล่าว องค์การคลังสินค้าจึงได้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการค้าข้าวให้เสนอขายข้าวขาว 15 % เพื่อส่งมอบให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยวิธียื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 13 ธ.ค.2554 โดยไม่ปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวได้มีการประกาศเป็นการทั่วไป ซึ่งไม่ชอบด้วยระเบียบองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการจัดซื้อสินค้าเพื่อการค้าปกติ พ.ศ. 2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2554 มีผู้ยื่นซองเสนอราคา จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และบริษัท นครสวรรค์ค้าข้าว จำกัด

กิตติรัตน์


ซึ่งทั้งสองบริษัทได้มอบอำนาจให้พนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้มายื่นซองเสนอราคา ผลการพิจารณาคุณสมบัติปรากฏว่า บริษัท นครสวรรค์ค้าข้าว จำกัด ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ จึงเหลือเพียงบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เพียงบริษัทเดียว สุรศักดิ์ ศรีประภา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้าและได้รับมอบหมายให้รักษาการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าในขณะนั้น จึงได้อนุมัติให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยองค์การคลังสินค้าได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายข้าวกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำนวน 100,000 ตัน ราคาตันละ 559 เหรียญสหรัฐ 

และต่อมาองค์การคลังสินค้าได้มีการทำบันทึกต่อท้ายสัญญากับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เพื่อตกลงซื้อขายข้าวเพิ่มเติมอีก จำนวน 200,000 ตัน โดยไม่มีการออกประกาศเชิญชวนเป็นการทั่วไปให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเสนอราคาขายข้าวเพื่อแข่งขันราคากันแต่อย่างใด

กรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่าสุรศักดิ์ ศรีประภา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้าและได้รับมอบหมายให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าพิทีรต์ ตั้ง พสสวัสดิ์ หรือพิพรรธารย์ มาตธินินทร์ รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า และสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ได้ร่วมกระทำไปโดยมุ่งหมายและมีวัตถุประสงค์ที่จะเอื้ออำนวยให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้เข้าเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับองค์การคลังสินค้าและไม่ต้องแข่งขันราคา กับผู้เสนอราคารายอื่น โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่องค์การคลังสินค้า

กิตติรัตน์ นโยบายเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย.JPG

ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้อีกว่า ภายหลังจากที่องค์การคลังสินค้าได้คัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ตัวแทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้เข้าพบกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทักท้วงว่า การคัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซีย มีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ซึ่ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ทราบข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่าองค์การคลังสินค้าได้คัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซีย แต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ใช้อำนาจ  ในฐานะ รมว.พาณิชย์ สั่งการให้มีการตรวจสอบ หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์การคลังสินค้าดังกล่าว กลับแจ้งแก่ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รวมถึงให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่าจะไม่มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยกล่าวอ้างว่าการดำเนินการขององค์การคลังสินค้าเป็นไปโดยชอบ และทางฝ่าย BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย เป็นผู้เลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด แต่ปรากฏว่า BULOG ไม่เคยให้ข้อเสนอแนะหรือแนะนำรายชื่อผู้ส่งออกข้าวให้กับองค์การคลังสินค้าแต่อย่างใด แสดงให้เห็นเจตนาว่าต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่เพียงผู้เดียว

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังต่อไปนี้

1. การกระทำของกิตติรัตน์ ณ ระนอง มีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192

2. การกระทำของสุรศักดิ์ ศรีประภา พิทีรต์ ตั้งพสสวัสดิ์ หรือพิพรรธารย์ มาตธินินทร์ สมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ และบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับพวก มีมูลความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 10 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

ทั้งนี้เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว จะส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง