ไม่พบผลการค้นหา
ถึงกับไหว้ท่วมหัว มือปาดเหงื่อ หลัง “เสี่ยหนู”อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถูกถามถึงกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ เตือน “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระวังโดน “ไฮแจ๊ค” เก้าอี้นายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้า ช่วงกลางปีนี้

อีกทั้ง “อนุทิน” ช่วงนี้กำลังเนื้อหอม ถูกมองว่าจะเป็นนายกฯคนต่อไป หรือ นายกฯสำรอง หลังมี ส.ส. – บิ๊กเนม ไหลเข้าพรรคภูมิใจไทย

ซึ่งที่ผ่านมา “อนุทิน” มีชั้นเชิงในการรับมือเมื่อถูกถามเรื่องเหล่านี้ แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อพูดถึง อดีตนายกฯทักษิณ ที่เป็นอดีต “ผู้บังคับบัญชา”

“ท่านเป็นอดีตผู้บังคับบัญชา มีบุญคุณกับผมมาก จึงไม่ขอกล่าวถึง แต่เคารพท่านตลอด” อนุทิน กล่าว

อนุทิน B785-F86F65B3B841.jpeg

ย้อนไปราว 25 ปีก่อน ปี 2539 “อนุทิน” ก้าวสู่สนามการเมืองครั้งแรก ในตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ (ประจวบ ไชยสาส์น) ในนาม “พรรคชาติพัฒนา” ที่ในขณะนั้น “น้าชาติ”พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าพรรค ที่มีฐานเสียงใหญ่อยู่ที่โคราช หนึ่งในคีย์แมนสำคัญ คือ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ที่รู้จักกับ “ปู่จิ้น”ชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดาของ “เสี่ยหนู-อนุทิน”

จากนั้น “พรรคชาติพัฒนา” ได้มาควบรวมกับ “พรรคไทยรักไทย” ปี2547 ทำให้มีโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี จึงทำให้ “อนุทิน” ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก ในเก้าอี้ รมช.สาธารณสุข รมช.พาณิชย์ ในยุครัฐบาลทักษิณ 2 เป็นช่วงเวลาที่ “อนุทิน” ได้รู้จักกับ “เนวิน ชิดชอบ” ที่เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประจำอยู่ ทำเนียบฯ

ต่อมา “อนุทิน” ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี เนื่องจากเป็น กก.บห.พรรคไทยรักไทย จากนั้น “อนุทิน” ได้มาซบ “พรรคภูมิใจไทย” จนได้ขึ้นเป็น หัวหน้าพรรค ปี 2555 ซึ่งภาพลักษณ์พรรคภูมิใจไทยในเวลานั้นถูกมองว่าเป็น “พรรคเนรคุณ” หลัง “เนวิน ชิดชอบ” แตกหักกับ “ทักษิณ” 

ประยุทธ์ เนวิน อนุทิน สมคิด - เสี่ยหนู ภูมิใจไทย.jpg

จากนั้นในยุค “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” พรรคภูมิใจไทย ก็ต้องรับบทฝ่ายค้าน หน้าที่สำคัญของ “อนุทิน” ช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา คือการ “รีแบรนด์พรรค” ให้เป็นพรรคที่ไม่ซ้ายไม่ขวา เข้าได้กับทุกพวก พร้อมให้ “เนวิน” ไปทำการเมืองหลังม่านแทน ซึ่ง “อนุทิน” ก็ทำสำเร็จ ทำให้ช่วงปี 2562 มีข้อเสนอจาก “พรรคเพื่อไทย” ให้มารวมเสียงตั้งรัฐบาล พร้อมมอบเก้าอี้ นายกฯ ให้ “อนุทิน” ด้วย

แต่ในขณะนั้น “อนุทิน” รู้ตัวดีว่ายังไม่ใช่เวลาของตัวเอง ทำให้ต้องมาหนุนขั้ว “พลังประชารัฐ” จัดตั้งรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกรัฐมนตรี ทำให้ได้เก้าอี้กระทรวงเกรดเอไปเพียบ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม-สาธารณสุข ในการหว่านนโยบายลงพื้นที่ต่างๆ

ดังนั้นในการเลือกตั้งปี2566 พรรคภูมิใจไทย ถูหมองว่าจะเป็น “พรรคตัวแปรสำคัญ” ในการชี้เป็นชี้ตายการเมืองในอนาคต ในเวลานี้เรียกได้ว่า ภท. หัวกระไดไม่แห้ง ตามที่ “เสี่ยหนู” พูดว่าไม่ได้ดูด ส.ส. แต่ “หนูเปล่านะ เขามาเอง”

อนุทิน ธรรมนัส -EAB3-4B89-B605-6C53F1454017.jpeg

หากไปเจาะลึกแนวทาง “บริหารพรรค” จะพบว่าผสมผสานความเป็น “ทีมฟุตบอล” กับ “ซีอีโอ-เอกชน” ได้อย่างลงตัว ผ่านมือพระกาฬอย่าง “เนวิน-อนุทิน” ที่ออกแบบไว้ เช่น การดึงคนมาร่วมพรรค แบบการดึงนักเตะเก่งๆจากสโมสรอื่นมา , การจัดการแบบใจถึงพึ่งได้ ขออะไรได้หมด ทำให้ ส.ส. ในพื้นที่ทำงานง่าย , มีสวัสดิการดูแล ส.ส. ชนิดฝนตกทั่วฟ้า , การบริหารงานที่รวดเร็ว , มีเมืองหลวงของพรรคในแต่ละพื้นที่ แบบบริษัทที่มีสำนักงานพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้หลอมรวมให้พรรคมี “เอภาพ” อย่างมาก และเน้นการเป็น “นักปฏิบัติ” มากกว่า “นักอุดมการณ์” เพื่อขายผลงานแลกคะแนนเสียง

ในเวลานี้เรียกได้ว่า “อนุทิน” นำ ภท. ตุนสรรพกำลังไว้สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าเต็มสูบ แต่ในทางการเมืองมักพูดกันว่าชื่อไหนที่ถูกปลุกมาก่อนมักไปไม่ถึงฝัน ทำนองว่า “คนเป็นไม่ได้พูด คนพูดไม่ได้เป็น” จึงทำให้ “อนุทิน” สงวนท่าทีชัดเจน เวลามีคนถามเรื่องอนาคตการเมือง เช่นเมื่อเจอถามว่าจะเป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล” หรือไม่ “อนุทิน” ก็ย้ำว่าตนเองเจียมเนื้อเจียมตัว

หากมองให้ลึกการที่ “อนุทิน” ถูกโฟกัสในเก้าอี้ นายกฯ อย่างมาก เพราะเป็นชื่อที่ “ฝ่ายอำมาตย์-กลุ่มทุน” ยอมรับได้ เพราะท่าทีของ “อนุทิน” ไม่ได้เอนเอียงไปฝ่ายใดชัดเจน โดยเฉพาะขั้วฝ่ายค้านที่มีแนวคิด “ปฏิรูปสุดขั้ว” ต่อสิ่งต่างๆ พูดกันตรงๆ คือ หาก นายกฯ คนต่อไป มาจากพรรคฝ่ายค้านอย่าง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” สถานการณ์อาจ “วนลูบ” เช่นในอดีตอีก

อนุทิน ศักดิ์สยาม ภูมิใจไทย 66608A6EFB.jpeg

รวมทั้งไม่ได้ยอม “บรรดา 3 ลุง” ไปเสียหมด มีภาพของการต่อรองงัดข้อ ชนิดที่ว่า “รู้จังหวะ” ไม่บ่อยไม่น้อยเกินไป เช่น 2 สัปดาห์ก่อน 7 รมต.ภูมิใจไทย สไตรค์ประขุม ครม. งัดข้อ “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป๊อก”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สัปดาห์ต่อมา “อนุทิน” กลับมีท่าทีหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาด้วยข่าวกางโพย 260 ส.ส. ที่จะหนุน นายกฯ ในสภา

อีกแง่หนึ่งก็มีข่าวทำนองว่า “อนุทิน” ก็สามารถพูดคุยกับ “ขั้วเพื่อไทย” ได้ และคนใน ภท. หลายคน ก็เคยอยู่ “ไทยรักไทย” มาก่อน และด้วยภาพลักษณ์ ภท. ที่เปลี่ยนไปจาก 10 ปีก่อน วันนี้ ภท. ก็สามารถไปได้กับทุกขั้ว ในการต่อรองทางการเมืองในอนาคต ในขั้นต้นอาจไม่ถึงขั้น “อนุทิน” ได้เป็น นายกฯ แต่อย่างน้อย ภท. ก็จะเป็น “พรรคระดับหัวตาราง” เช่น เป็นพรรคลำดับ 2 ของการเลือกตั้ง หรือลำดับ 2 ของรัฐบาล ที่มี “อำนาจต่อรอง” ในการ “กำหนดเกม” ต่างๆ

อีกจุดสำคัญที่ “อนุทิน” จะได้เป็น นายกฯ หรือไม่ ก็อยู่ที่เก้าอี้ ส.ส. ในอนาคตด้วย รวมทั้งต้องฝ่าด่าน 250 ส.ว. ที่เป็นอีกปราการสำคัญ และในเวลานี้ “บารมี” ของ “อนุทิน” ก็ยังไม่ถึงขั้น

ทว่าหาก “อนุทิน” ได้รับ “ไฟเขียว” ขึ้นมา ทุกอย่างก็จะถูก “จัดตั้ง” ให้ “อนุทิน” เป็นนายกฯ เอง เฉกเช่นเมื่อครั้งปี2557 ที่สถานการณ์เพียงไม่กี่เดือน ผลักให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็น นายกฯ มาแล้ว