ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์โควิดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังรุนแรง หลังสายพันธุ์แอฟริกาใต้ทะลักเข้ามาถึงชายแดน เป็นสัญญานเตือนถึงวิกฤตของคนในพื้นที่ และกลุ่มเปราะบางอย่าง 'ผู้หญิงและเด็ก' จะทำอย่างไร
เครียดและความรุนแรงในครอบครัวพุ่ง

โซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานกลุ่ม Civic Woman กล่าวถึงกลุ่มเปราะบางอย่างผู้หญิงและเด็กว่า ระลอกนี้ต่างออกไปจากระลอกแรกคือ จำนวนเด็กที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือเป็นโควิดกันทั้งครอบครัว ขณะเดียวกันคลัสเตอร์ใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น โรงงานในพื้นที่ปัตตานี 2 แห่ง ทำให้ลูกจ้างหญิงต้องถูกกักตัวและติดโควิดจำนวนมาก 

"ในชายแดนใต้ ผู้หญิงเปรียบเสมือนเสาหลักในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยก่อนที่จะมีโรคระบาดรายได้ต่อครอบครัวในพื้นที่ก็อยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อคน ทำให้เกิดความเครียดตามมาทั้งเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องลูกขาดเครื่องมือในการเรียนออนไลน์"

โซรยา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพความเครียดที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงว่า สถิติหลังการระบาดพบว่ามีแนวโน้มที่ผู้หญิงต้องเผชิญความรุนแรงจากคนใกล้ตัวสูงขึ้น จากผลพวงพิษเศรษฐกิจเข้ามาซ้ำเติม จากเดิมที่มีเฉพาะปัญหายาเสพติดเป็นปัจจัยหลัก เพราะฉะนั้นในระยะยาวอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเรื่องโภชนการ ที่เป็นบ่อเกิดปัญหาด้านสุขภาพเด็ก 

ส่วนตัวเธอนิยามว่ามันน่ากลัวและรุนแรงมากในเรื่องการระบาด แม้ดูเหมือนจะมีความหวังในเรื่องวัคซีน แต่ยังมีปัญหาอีกหลายจุด ทั้งเรื่องการบริหารหรือวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาเฉพาะของชายแดนใต้ คือชาวบ้านไม่กล้าฉีด โดยในระยะหลังคำถามเรื่องความเชื่อมั่นต่อหลักศาสนาอาจจะลดน้อยลงไปแล้ว แต่ประเด็นใหญ่คือผลข้างเคียงที่เกิดหลังการฉีด และบางส่วนก็อยากได้วัคซีนทางเลือกที่มีคุณภาพมากกว่าของภาครัฐ 


มุมมองด้านลบต่อวัคซีน

เกาซัร อาลีมามะ กรรมาธิการผู้หญิงและเด็กเพื่อสันติภาพ (CAP WOMEN) กล่าวเสริมว่า ในการระบาดรอบนี้ถือว่าส่งผลกระทบไปยังทุกกลุ่มเพศสภาพและกลุ่มอาชีพต่างๆ ขณะที่การป้องกันชาวบ้านในพื้นที่พบว่าลดหย่อนลงไป ขณะที่บางคนพบว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการทำให้เกิดความชะล่าใจ และได้รับคำถามกลับมาระหว่างลงพื้นที่ว่าหากพวกเขาได้รับเชื้อ ทำไมไม่มีอาการอย่างที่สาธารณสุขประกาศ แม้ว่าผลตรวจกลุ่มคนเหล่านั้นจะมีผลบวกก็ตาม 

เธอเล่าต่อว่าทางกลุ่มของ 'CAP WOMEN' พยายามที่ปรับความคิดและอธิบายกับชาวบ้านว่า แม้ไม่มีอาการแต่หากยังใช้ชีวิตปกติ คนในพื้นที่ก็มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อสูง และยังอ้างถึงหลักศาสนาเพื่อโน้มน้าวว่ามันเป็นการกระทำที่ผิดบาป โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดย ด้วยการเชิญผู้เชียวชาญมาให้ความรู้ แต่อุปสรรคในการประชาสัมพันธ์เรื่องวัคซีน ถือเป็นเรื่องยากมาก เพราะชาวบ้านบางรายมักมองในมุมที่เป็นลบ วิตกว่าจะเสียชีวิตหรือพิการซ้ำรอยข่าวที่พวกเขาเสพมา 

"เข้าใจว่าระบาดรอบนี้มันใช้เวลานาน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ไหวแล้ว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจตามที่มีข่าวคนฆ่าตัวตายอยู่เป็นระยะ มันจึงน่ากลัวกว่าระลอกแรกมาก ถ้าวันนี้ถ้าเราไม่ช่วยกันต่างคนต่างอยู่ เราน่าจะไม่รอด"


อสม.ด่านหน้าเผชิญอุปสรรค

รอกีเย๊าะ นิมะ ประธาน อสม.บ้านแยะใน อ.กาบัง จ.ยะลา เล่าถึงอุปสรรคของ อสม.ด่านหน้าในการรับมือและลงพื้นที่ ถือว่ามีความลำบากสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล ขาดการพัฒนาในส่วนเส้นทางคมนาคม ยากต่อการเข้าถึงเป้าหมายตามหมู่บ้านต่างๆ กอรปกับการเข้ามาของสายพันธุ์ใหม่ เช่น แอฟริกาใต้ ซึ่งขณะนี้มักจะมีลักษณะไม่แสดงอาการ ทำให้ชาวบ้านไม่เกรงกลัวต่อการติดเชื้อ ยังใช้ชีวิตกันตามปกติ และยังมีความกังวัลไม่กล้าฉีดวัคซีนอยู่เป็นจำนวนมาก ทาง อสม.ต้องใช้วิธีพูดโน้มน้าวให้ชาวบ้านเชื่อใจ เพื่อฉีดป้องกันการขยายวงกว้างของผู้ติดเชื้อ

ในส่วนคลัสเตอร์มัรกัสหรือกรณีนักเรียนศาสนานั้น ถือว่าแพร่เชื้อกันอย่างรวดเร็ว ทำให้การทำหน้าที่ยากลำบากเพิ่มอีกเท่าตัว อีกสิ่งที่น่ากังวลคือบางครอบครัวซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากการแพร่ระบาดในงานพิธีทางศาสนา ไม่ยอมกักตัวตามคำแนะนำของ อสม. และยังหลบหนีออกมาจากสถานกักตัว เนื่องจากไม่อยากเสียเวลาทำงานและมั่นใจว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19

"อสม.และผู้นำชุมชน ตอนนี้กลายเป็นหมาหัวเน่าก็มี พอให้กลุ่มเสี่ยงไปกักตัวแล้วไม่เจอโรค ก็ถูกต่อว่าทำให้เขาเสียการเสียงาน การทำหน้าที่ของ อสม.ชนบท หนักกว่า อสม.ในเมือง เพราะคนในชุมนุมไม่เข้าใจบริบทไม่เข้าใจโรค" 

สำหรับข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ อยากให้เพิ่มค่าตอบแทนที่เหมาะสม เนื่องจากนับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก อสม.ไม่เคยหยุดทำงานเลย และเป็นด่านแรกที่ต้องเข้าไปเผชิญความเสี่ยงในชุมชน แม้จะเป็นพื้นที่ห่างไกลแค่ไหนก็ต้องเดินทางเข้าไปติดตามผู้มาจากพื้นที่เสี่ยง

"เราดูแลประชาชน แต่อยากให้หน่วยงานรัฐดูแลเราบ้าง เหมือน อ.กาบัง มีประชากรกว่า 20,000 คน ติดเชื้อสะสม 84 ราย เราก็ต้องดูแลเพื่อตัวเราเอง ชุมชนของเราเอง การที่รัฐให้เราเพิ่ม 500 บาท จาก 1,000 บาท อยากให้รัฐเพิ่มต่อไป อยากฝากบอกว่าการเป็น อสม. ไม่ได้หวังแค่เงิน 1,500 บาท แต่เราทำเพื่อหวังให้ชุมนุมเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง"


สิทธิไม่ใช่การบริจาค

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตั้งข้อสังเกตถึงการเข้าถึงข้อมูลและพื้นที่ข่าวการแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เก็บสถิติผู้ได้ป่วยล่าสุดวันที่ 3 ก.ค. 2564 

  • ปัตตานี ป่วยสะสม 2,938 ราย เสียชีวิต 15 ราย 
  • นราธิวาส ป่วยสะสม 2,410 ราย เสียชีวิต 9 ราย 
  • ยะลา ป่วยสะสม 2,350 ราย เสียชีวิต 15 ราย  

อย่างไรก็ตามจากตัวเลขทั้งหมด พบว่าไม่มีการแยกให้ชัดเจนว่าเพศชายหรือเพศหญิงติดเชื้อเท่าไหร่ จึงอยากเสนอให้สาธารณสุขในพื้นที่ริเริ่มแยกให้เป็นสัดส่วน เพราะความจำเป็นและความต้องการของผู้หญิงและเด็กมีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากหลังเกิดเหตุความรุนแรงปี 2547 ส่งผลให้เกิดแม่เลี้ยงเดี่ยวและเด็กกำพร้าจำนวนมาก ขณะที่การดูแลจัดการด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรวัคซีน พบว่ายังเป็นปัญหาใหญ่

ในส่วนของพื้นที่ถือว่าชุมชนยังมีความเข้มแข็ง เฝ้าระวังการแพร่ระบาดได้อย่างมีศักยภาพ ทว่าด้านงบประมาณจากส่วนกลางกลับให้น้ำหนักไปที่กระทรวงกลาโหม มากกว่าเพิ่มคุณภาพทางการแพทย์เพื่อรองรับสถานการณ์ในปัจจุบัน

"การลงไปพื้นที่เพื่อไปบริจาคเล็กน้อยๆ ไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังจากกองทัพบก เราคาดหวังมาตรการที่เข้มข้นมากกว่านี้ ตัวเลขการจัดสรรงบทั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์กักตัวซึ่งเหล่านี้มีราคาสูง จึงควรจัดสรรมาตรงนี้ก่อน"

อีกปัญหาคือการเข้าถึงเงินชดเชยจากภาครัฐ พรเพ็ญกล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ตกงานไม่รับการเยียวยาแต่อย่างใด โดยให้ประชาชนเข้าไปดูแลประชาชนกันเอง ด้วยการบริจาคสิ่งของซึ่งในระยะหลังถือว่าลำบาก เนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วน

"รัฐต้องอำนวยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิพึงได้รับโดยเร็วที่สุด" พรเพ็ญทิ้งท้าย


เรียบเรียงจาก : เสวนาหัวข้อ “ผู้หญิงและเด็กชายแดนใต้กับสถานการณ์โควิด 19 ระลอกใหม่" หลังมีการแพระบาดหนักในพื้นที่ต่อเนื่อง จัดโดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้​ สถาบันสันติศึกษา​ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์​และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้