ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงการเมืองโลก ทั้งภัยจากโรคระบาดและสงครามที่เกิดขึ้น การเมืองโลกถูกจัดระเบียบใหม่ จากเดิมที่มีเพียงสหรัฐฯ ผู้ครอบงำทั้งเกมการเมืองและเศรษฐกิจ การเข้ามามีบทบาทของจีนกับรัสเซีย ส่งผลให้ความเชื่อเรื่องการเมืองแบบขั้วเดียวของสหรัฐฯ ไม่มั่นคงอีกต่อไป การเลือกทางเดินของกลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการแย่งชิงขั้วอำนาจในครั้งนี้ จึงเป็นที่น่าจับตามองในเวทีการเมืองโลกเป็นอย่างมาก

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์วัฒนธรรมและการเรียนรู้อิสลามมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ"ระเบียบโลกใหม่ : มุสลิมต้องรับมืออย่างไร" โดยในงานเสวนามีการพูดคุยถึงประเด็นการเมืองโลก เพื่อทบทวนมุมมองของศาสนาอิสลามต่อประเด็นดังกล่าว

 

ความหมายของระเบียบโลกเก่า-ใหม่

ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความแตกต่างของระเบียบโลกเก่าและระเบียบโลกใหม่เอาไว้ว่า ระเบียบเก่าหรือระเบียบเดิมคือการเมืองโลกที่เรากำลังอาศัยอยู่ โดยมีจุดเริ่มต้นหลังจากสงครามเย็นในทศวรรษที่ 1990 ที่ทุกอย่างถูกยึดโยงไว้กับอำนาจของสหรัฐฯ แต่เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะเป็นทางทหาร ความมั่นคง หรือการค้า ผ่านการบริหารอำนาจผ่านกลไกองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO), ธนาคารโลก, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การสหประชาชาติ

จนกระทั่งหลังวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 มีหลายปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจของสหรัฐฯ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยศราวุฒิชี้ถึงการถอนกองกำลังของสหรัฐฯ ออกจากอิรักและอัฟกานิสถานอย่างผู้แพ้ ส่งผลขั้วอำนาจใหม่อย่างจีนและรัสเซีย ที่ต้องการเข้ามาแข่งขันกับมหาอำนาจเก่าอย่างสหรัฐฯ จำเป็นต้องหาวิธีทำลายกำแพงเดิมที่สหรัฐฯ เคยสร้างไว้ในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ประเทศส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ

ศราวุฒิตั้งข้อสังเกตุที่น่าสนใจ ในความพยายามขยายอิทธิพลของขั้วอำนาจต่างๆ ว่า ก่อนหน้านี้โลกมุสลิมมักถูกพูดถึงในแง่การเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ในปีนี้โดยเฉพาะในช่วงการถือศีลอดของชาวมุสลิมที่ผ่านมาทั้งผู้นำสหรัฐฯ อย่าง โจ ไบเดน ได้ส่งสารถึงพี่น้องมุสลิมทั่วโลก พูดถึงความดีงามของการถือศีลอด ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็ออกมาพูดถึงการดูหมิ่นศาสนาอิสลามว่าไม่ใช่เสรีภาพ แต่เป็นการไม่เคารพผู้อื่น แม้แต่จีนเองก็เคลื่อนเข้าหาโลกมุสลิม โดยการเข้าร่วมประชุม องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และประกาศยืนเคียงข้างปาเลสไตน์

จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในสถานการณ์การเมืองโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ ประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางกำลังเป็นจุดสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ครอบคลุมทั้งทรัพยากรณ์เชื้อเพลิงธรรมชาติ เส้นทางทางการค้า รวมถึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ในสงครามยูเครนในการส่งกำลังสนับสนุน การเลือกข้างของโลกมุสลิมจึงเป็นจุดสำคัญที่ส่งผลต่อระเบียบโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ความเป็นไปได้กับจุดยืนตรงกลางของมุสลิม

ศ.จรัญ มะลูลีม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงความเป็นได้ที่ประเทศมุสลิมจะขอยืนตรงกลางในสถานการณ์ที่ต้องเลือกข้างผ่านตัวอย่างประเทศที่อยู่ตรงมาตลอดอย่าง ฟินแลนด์ ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ว่าในบางครั้ง การวางตัวเป็นกลางกลับสร้างความลำบากใจ จรัญยกตัวอย่างของการตัดสินใจเข้าร่วมสหภาพยุโรปของฟินแลนด์ว่า หากตนเข้าร่วมก็แสดงว่าตนได้เลือกข้างแล้ว ในขณะที่นายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน แห่งปากีสถาน กล่าวกลางที่ประชุม OIC ว่าโลกมุสลิมไม่ควรเอนเอียงไปยังฝ่ายใด นำไปสู่การถูกปลดของเขาภายใต้การกดดันของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะพยายามเลือกยืนตรงกลางแค่ไหน สุดท้ายก็มักจะถูกบีบให้เลือกข้างอยู่ดี 

ในความเป็นจริง โลกมุสลิมจึงต้องการการถ่วงดุลอำนาจ เพราะไม่ว่าจะฝ่ายอำนาจใดก็ล้วนแต่เคยให้ทั้งคุณูปการและก้าวก่ายโลกมุสลิมอย่างดินแดนโคโซโว ซึ่งได้รับเอกราชเพราะความช่วยเหลือจาก NATO ในขณะที่ NATO ก็เคยโจมตีลิเบียโดยไร้เหตุผลเช่นกัน หรือข้อพิพาทเรื่องเอกราชของชาวมุสลิมในเชชเนีย ในทางตรงกันข้าม อัตราการเกิดของมุสลิมในรัสเซียมีเพิ่มสูงมากขึ้นเช่นกัน รวมถึงข้อโต้แย้งกรณีการละเมิดสิทธิชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียงที่รัฐบาลจีนยังปกปิดข้อเท็จจริง ในขณะที่ทางการจีนกลับพูดถึงศาสนาอิสลามในแง่ดีต่อสาธารณะ และเข้าร่วมประชุม OIC

ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางการเสื่อมลงด้านความเชื่อของศาสนาอื่น แต่อัตราการเติบโตของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามกลับสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าผู้คนยังให้ความสำคัญกับศาสนาอยู่ จรัญกล่าวสรุปว่า การวางตัวเป็นกลางบนการเมืองโลกนั้นเป็นไปได้ยากและอาจจะเป็นไปไม่ได้ จึงต้องสังเกตุท่าทางการกระทำของแต่ละประเทศทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย และจีนว่าปฏิบัติต่อมุสลิมในประเทศอย่างไร การถ่วงดุลอำนาจจึงเป็นสิ่งที่โลกมุสลิมทำได้ดีที่สุดในขณะนี้


โลกมุสลิมกับการรับมือระเบียบโลก

อณัส อมาตยกุล คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความเห็นว่าระเบียบโลกที่เรากำลังพูดถึงกันในขณะนี้ คือความพยายามในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยโลกตะวันตก ตั้งแต่หลังแพ้โลกมุสลิมในสงครามครูเสด ความพยายามจะพัฒนาสังคมให้มีความก้าวหน้าจนเข้าสู่ยุคเรืองปัญญา ในคริสตศวรรษที่ 18 ถือเป็นการตรัสรู้ทางโลกของตะวันตก และองค์ความรู้เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในยุคล่าอาณานิคมทั่วโลก ซึ่งเข้าไปบังคับใช้กฎปฎิบัติต่างๆ ควบคุมกิจวัตร จากการใช้ระเบียบโลกอย่างสมบูรณ์

อณัสมีความเห็นว่าโลกมุสลิมในระดับปัจเจกนั้นสามารถรับมือกับระเบียบโลกได้ภายใต้คำสอนของศาสนาอิสลาม แต่ว่าในความร่วมมือระดับทวิภาคีนั้น ประชาชนและรัฐบาลในประเทศมุสลิมควรมีแนวทางหรือบทบาทว่าจะการรับมือกับระเบียบโลกใหม่อย่างไร

ที่ผ่านมา การรับมือระเบียบโลกใหม่ในระดับชาติของประเทศมุสลิมนั้นมีความไม่ชัดเจน และไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามหลักศาสนา ในสงครามต่างๆ ที่รัฐบาลประเทศมุสลิมร่วมสนับสนุน เงินภาษีจากพี่น้องมุสลิมในประเทศนั้นกลับนำไปใช้เพื่อสร้างความสูญเสียให้ผู้อื่น ยกตัวอย่างการรับมือระดับชาติของประเทศมุสลิมในอาเซียนอย่างมาเลเซียต่อกรณีชาวโรฮิงญาที่ต้องหนีตายทางทะเล แทนที่รัฐบาลมาเลเซียจะช่วยกดดันทางการทูตกับเมียนมา แต่กลับรับบริจาคข้าว ปลา อาหารแทน โดยไม่มีการต่อต้านเมียนมาแต่อย่างใด

รวมถึงการตีความระเบียบโลกใหม่ที่ต่างกันจากตะวันตกสู่ตะวันออก อย่างแนวคิดเรื่องการปลดแอกความเป็นมนุษย์ออกจากศาสนาในฝรั่งเศส ที่ถูกตีความว่าในพื้นที่สาธารณะนั้น มนุษย์ไม่ควรติดอยู่ในบ่วงพันธนาการของศาสนา แต่ใครจะปฏิบัติพิธีทางศาสนาใดก็ได้หากอยู่ในบ้านหรือศาสนสถาน แต่แนวคิดนี้เมื่ออังกฤษนำเข้าไปในอินเดียกลับถูกตีความว่าศาสนาอิสลามนั้นล้าหลังและถูกขับเคลื่อนเพื่อทำลายศาสนสถาน

จึงสรุปได้ว่า ในระดับปัจเจกนั้น มุสลิมสามารถปฏิเสธหรือเลือกรับได้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิดตามหลักศาสนา แต่เมื่อเป็นความร่วมมือระดับประเทศ มุสลิมกลับไม่สามารถทำได้ อณัสทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่เพียงแต่ว่ามุสลิมจะรับมือกับระเบียบโลกใหม่อย่างไร แต่จะเปลี่ยนความเป็นปัจเจกให้เป็นการร่วมมืออย่างไร รวมถึงผลประโยชน์แห่งชาติที่ไม่สามารถทำให้มุสลิมเป็นอิสระในระเบียบโลกใหม่ได้ จึงเกิดโจทย์อีกมากมายให้โลกมุสลิมหาทางออกของปัญหาเหล่าตามคำสอนของศาสนา


ความร่วมมือระหว่างโลกมุสลิม

รุสตั้ม หวันสู คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า โลกเดิมที่สหรัฐฯ เคยเป็นมหาอำนาจได้เปลี่ยนไปแล้ว จากเหตุการณ์ 911 ที่สหรัฐฯ บีบบังคับให้ประเทศต่างๆ เลือกข้างสำเร็จ สู่การประกาศขอให้ทุกประเทศคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ประเทศส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย 

ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในสงครามโลกหรือสงครามเย็น ผู้ชนะล้วนเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบโลก ซึ่งสหรัฐฯ สร้างกฎระเบียบมากมายมากำหนดโลกหลังสงครามเย็น ทั้งระบบเศรษฐกิจ การทหาร ความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงสิทธิมนุษยชน แต่ต่อมา กฎที่สหรัฐฯ กำหนดไว้กลับถูกตั้งคำถามทั้งเรื่องการใช้เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่เป็นปลาใหญ่กินปลาเล็กของสหรัฐฯ หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนของคนดำในสหรัฐฯ เอง มาตราฐานเหล่านี้ที่สหรัฐฯ เป็นผู้กำหนดเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำลายความมั่นคงของสหรัฐฯ เอง ทำให้เกิดการท้าทายอำนาจจากประเทศอื่นๆ อย่างจีนที่ขึ้นมาแข่งขันทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ และรัสเซียที่เริ่มมีความมั่นคงทางกองทัพ

รุสตั้มระบุว่า การกำหนดกฎระเบียบโลกใหม่นี่ ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยชาติตะวันตกอีกต่อไป เพราะชาติตะวันออกอย่างจีน อินเดีย หรือรัสเซียเริ่มมีอำนาจมากขึ้น โลกมุสลิมที่อยู่ตรงกลางระหว่างตะวันตกและตะวันออก ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น จึงควรมีการพิจารณากันว่า โลกมุสลิมจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการจัดระเบียบโลกใหม่

รุสตั้มชี้ว่า ภายใต้การถดถอยอำนาจของสหรัฐฯ ถือเป็นโอกาสของโลกมุสลิม อย่างเช่นในข้อพิพาทปาเลสไตน์-อิสราเอล ในขณะที่อำนาจของสหรัฐฯ เริ่มสั่นคลอน กองกำลังอิสราเอลก็อ่อนแอไปด้วย แต่ประเทศมุสลิมจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ หรือเพื่อถ่วงดุลอำนาจ

รุสตั้มสรุปว่า มุสลิมต้องนำเสนอให้ทั่วโลกที่ในขณะนี้ตกอยู่ภาวะไร้ศีลธรรมจากเสรีภาพที่เกินเลยได้เห็นว่า แม้ต่างคุณค่าแต่ต่างศาสนาก็อยู่ร่วมกันได้อย่างพี่น้องมุสลิมในไทย ยกตัวอย่างมัสยิดอัตตากวา เชียงใหม่ที่มีกองทุนสากาดเพื่อช่วยเหลือผู้คนต่างศาสนา แม้ว่าในอดีตจะมีความคิดเรื่องความไม่สามัคคีของชาวมุสลิม แต่ว่าเราต้องหาทางร่วมมือกันเพื่อพัฒนาสังคมเพื่อรับมือกับระเบียบโลกใหม่ให้ได้


แนวโน้มการกลับมาของอำนาจสหรัฐฯ

คัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม ได้ตั้งคำถามถึงโอกาสในการกลับขึ้นมามีอำนาจของสหรัฐฯ ว่าสามารถเป็นไปได้หรือไม่ โดยจรัญให้คำตอบว่า โอกาสของการกลับมามีอำนาจอีกครั้งนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะสหรัฐฯ เองก็ต้องต่อสู้กับอำนาจใหม่อย่างจีน รัสเซีย หรือแม้แต่อินเดียที่เคยเข้าข้างสหรัฐฯ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกมุสลิมและกลุ่มอำนาจใหม่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันจึงเห็นได้ว่าสหรัฐฯ พยายามดึงประเทศต่างๆ ให้อยู่กับตนเอง เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีนอย่างชัดเจน

โลกมุสลิมจึงต้องจับตาดูว่าจะเดินหน้าไปเช่นไร เพราะหลายๆ ประเทศใน OIC เป็นฐานทัพให้กับสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย ในฐานะหัวหอกสำคัญของโลกมุสลิมที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการทูตจากเดิมที่เคยเกื้อหนุนสหรัฐฯ มาเป็นการเปิดโอกาสทางการทูตให้จีน

ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อำนาจในโลกเดิมของสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว หลายๆ อย่างนโยบายทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารถูกประเทศอื่นๆ โต้กลับ ดังนั้นโลกมุสลิมต้องทบทวนอีกครั้งว่าควรถ่วงดุลอำนาจแบบไหน


การรับมือระเบียบโลกในอดีตของมุสลิม

ศราวุฒิชวนทุกคนย้อนกลับไปดูในอดีตว่าที่ผ่านมา การเลือกเข้าข้างมหาอำนาจของมุสลิมเป็นอย่างไร ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิออตโตมานเลือกอยู่กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งผู้เป็นผู้แพ้สงคราม จักรวรรดิออตโตมันจึงล่มสลายไป ในขณะที่ผู้นำนครเมกกะ แห่งโลกอาหรับเลือกเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อจะได้รับอิสรภาพจากอาณานิคมหลังสงคราม แม้เป็นผู้ชนะแต่โลกอาหรับกลับไม่ได้รับอิสรภาพ

ที่ผ่านมา ไม่ว่าโลกมุสลิมจะเลือกเข้าข้างฝั่งใด ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ และสุดท้ายโลกมุสลิมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ในปัจจุบัน แม้ว่าการเลือกฝั่งจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่อย่าลืมว่ารัสเซียก็เคยเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือให้อิสราเอลตั้งประเทศขึ้นมา หรือแม้แต่การบุกรุกอัฟกานิสถานก็เป็นความริเริ่มของรัสเซียแต่แรก รวมถึงจีนที่ปัจจุบันยังคงมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียงอย่างต่อเนื่อง และสหรัฐฯ ก็เคยจัดตั้งกลุ่มมุญาฮิดีนในอัฟกานิสถาน ที่สุดท้ายกลายมาเป็นกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ก่อนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

ดังนั้นมุสลิมจึงไม่ควรเลือกข้าง และควรผลักดันความร่วมมือให้โลกมุสลิมเป็นอีกหนึ่งอำนาจที่จะร่วมกำหนดระเบียบโลกใหม่ อย่างการเสนอแก้ไขสมาชิกถาวร 5 ชาติในสหประชาชาติ ให้โลกมุสลิมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของโลกด้วย


แนวทางการช่วยเหลือยูเครนในสงครามของโลกมุสลิม

รุสตั้ม และ ศราวุฒิร่วมให้คำตอบในประเด็นนี้ว่า เบื้องต้นแม้ว่ายังไม่มีประเทศไหนเข้าข้างรัสเซีย แต่โลกต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อยุติสงครามในครั้งนี้ และหากพึ่งแต่โลกมุสลิมลำพังคงไม่สำเร็จ

โดยกลุ่มประเทศตะวันออกกลางต้องการให้สงครามยูเครนยุติลง เพื่อป้องกันว่าในอนาคต หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ โลกจะกลับไปเป็นการเมืองขั้วเดียวอีกครั้ง และตะวันออกกลางจะถูกเอาเปรียบเหมือนในอดีต จากสภาวะก่อนหน้าสงครามยูเครน มหาอำนาจต่างๆ มีการแข่งขันกัน โลกมุสลิมจึงมีอิสระในการเจรจา ตะวันออกกลางจึงต้องพยายามสร้างการเจรจาให้เกิดการยุติสงครามโดยเร็วที่สุด

โลกมุสลิมตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างขั้วอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ กับขั้วอำนาจตะวันออกอย่างรัสเซียและจีน ทั้งในทางภูมิรัฐศาสตร์และการเลือกฝ่าย ระเบียบโลกใหม่กำลังมาถึง และไม่มีใครจะสามารถหลีกหนีได้ การถ่วงดุลหรือเลือกข้างกำลังเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของโลกมุสลิมเอง ซึ่งมีประชากรทั่วโลกกว่า 1.9 พันล้านคน 

เรียบเรียงโดย ปรีชญา บุญมี