14 ธ.ค. 2562 ช่วงค่ำวานนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้แสดงความในเฟซบุ๊กถึงเรื่องการจัดการขยะว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกเมือง
ชัชชาติระบุว่า เมื่อวานตนได้ไปดูงานจัดการขยะของ อบต.พันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร ที่เลือกที่นี่เพราะมีการกำจัดขยะที่น่าสนใจและสามารถดูงานได้ทั้งระบบ
เขากล่าวต่อว่า ระบบการจัดการขยะ อาจจะประกอบด้วยสามขั้นตอนหลักคือ
1. การทิ้งขยะจากแหล่งต่างๆ เช่น ครัวเรือน ตลาด โรงเรียน โรงงาน (อันนี้พวกเราทุกคนมีส่วนในขั้นตอนนี้)
2. การจัดเก็บขยะ โดยมีหน่วยงานจัดเก็บรวบรวมจากแหล่งทิ้งขยะต่างๆ ส่วนใหญ่ที่เราเห็นคือรถเก็บขยะที่มาเก็บขยะตามบ้าน
3. การกำจัดขยะ ซึ่งอาจมีหลายทางเลือก เช่น การฝังกลบ การเผา การคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ
สำหรับขั้นตอน 1-2 ของที่ อบต.พันท้ายนรสิงห์ มีลักษณะเหมือนกับของ กทม. โดยจะมีรถเก็บขยะวิ่งเก็บตามแหล่งทิ้งขยะ โดยเก็บอาทิตย์ละสองวัน ค่าเก็บขยะบ้านละ 40 บาทต่อเดือน
ส่วนขั้นตอนที่ 3 นั้น แตกต่างจากของ กทม. โดยของ กทม. ในปัจจุบัน ขยะส่วนใหญ่ถูกจัดการโดยการฝังกลบ ส่วนของที่ อบต.พันท้ายนรสิงห์ ขยะจะถูกส่งไปที่ศูนย์คัดแยกขยะ เพื่อนำขยะที่ใช้ได้กลับมาใช้ใหม่ ในรูปของการ Recycle, เชื้อเพลิง หรือปุ๋ยหมัก เหลือที่ต้องนำไปฝังกลบเพียง 3-4% เท่านั้น
เขาระบุว่า ได้ลองไปดูงานทั้งสามขั้นตอนของการจัดการขยะ เลยขอนำมาเล่าให้ฟังเผื่อจะเป็นประโยชน์
ขั้นตอน 1-2 นั้น จะมีรถขยะที่มีเครื่องอัดขยะวิ่งไปตามจุดต่างๆ และมีพนักงานเก็บขยะท้ายรถเอาขยะจากจุดต่างๆมาใส่รถขยะ ผมลองทำหน้าที่คนเก็บขยะไปกับน้องอีกสองคน ออกตั้งแต่ 7 โมงเช้า เก็บตามตลาด หมู่บ้าน โรงเรียน สิ่งที่พบคือ
- ขยะเกือบทั้งหมดที่มาจากครัวเรือนไม่ได้คัดแยก พนักงานท้ายรถจะแยกขยะเท่าที่ทำได้ เช่น แยกขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียมไว้ในถุงดำที่แขวนข้างรถ หรือถุงที่วางบนหลังคารถ เพื่อขายเป็นรายได้เสริม(น้องที่มาด้วยได้ค่าแรงวันละ 325 บาท ขายขยะที่แยกได้เพิ่มอีกวันละประมาณ 50 บาท)
- ขยะที่ทำการคัดแยกมาจากต้นทางนั้น ถ้าพนักงานท้ายรถไม่สามารถนำไปขายได้หรือลำบากในการแยกขนไปกับรถ จะถูกเทรวมกับขยะส่วนใหญ่
- ขยะที่มีปัญหาจริงๆ คือขยะเปียก เช่น เศษอาหารที่เหลือ น้ำแกง ซึ่งมีไม่มาก (ที่เห็นในวันนี้น่าจะสัก 10-20%) แต่มีกลิ่นเหม็น เพราะไม่ได้เก็บทุกวัน เกิดการบูดเน่า และเมื่อถูกอัดรวมกับขยะทั้งหมด ทำให้ขยะแห้งกลายเป็นขยะเปียก มีกลิ่นเหม็น และกลายเป็นขยะสกปรกทั้งหมด
- ปริมาณขยะแต่ละบ้านแตกต่างกัน บางบ้านที่ทำอาหารขายจะมีขยะเปียกเยอะมาก แต่ทุกบ้านจ่ายค่าเก็บขยะเท่ากัน (ที่นี่คือ 40 บาทต่อเดือน)
- เกร็ดเล็กๆ คือ ถ้าเลือกถังขยะหน้าบ้าน อย่าเลือกแบบที่ปากถังเล็กกว่าตัวถัง เพราะเวลาคนเก็บขยะเท เทได้ยากเพราะขยะจะติดที่ปากถัง ต้องเอามือโกยออก
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ปัญหาที่ต้องคิดต่อของสองขั้นตอนนี้คือ
- ขยะทั้งหมดต้องเข้าสู่ระบบ ไม่ให้ทิ้งเรี่ยราด ต้องมีถังขยะเพียงพอ การจัดเก็บที่ทั่วถึง
- การแยกขยะ ถ้าจะแยกขยะ ต้องแยกต่อเนื่องทุกขั้นตอนจนจบ ไม่ใช่แยกแล้วเอามารวมแล้วเอาไปแยกอีกที
- การจัดการขยะเปียก ถ้าสามารถแยกขยะเปียกได้ จะทำให้การจัดการขยะง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- คนที่สร้างขยะมาก ควรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าคนที่สร้างขยะน้อย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดขยะ
จากนั้นขยะที่เก็บได้ ส่วนที่ขายได้จะถูกนำไปขายก่อน (โดยคนเก็บ) ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปสู่ขั้นตอนที่ 3 คือการกำจัดขยะ
เขาระบุต่อว่า ขยะของที่ อบต. พันท้ายนรสิงห์จะถูกส่งต่อไปที่โรงงานกำจัดขยะที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 40 กม. โดยขยะจะถูกนำลงเข้าสู่ระบบสายพานเพื่อทำการคัดแยก
โดยจะแยกขยะออกเป็น
1. Recycle ได้ เช่น ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม เหล็ก เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่
2. พลาสติกเกรดต่างๆ เพื่อนำไปทำเชื้อเพลิง โดยถุงพลาสติกมีปริมาณมากถึง 40% ของขยะทั้งหมด
3. ขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ เพื่อนำไปทำสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยหมัก (โรงงานนี้ผลิตปุ๋ยหมักได้ประมาณวันละ 60 ตัน)
4. ขยะที่ใช้ไม่ได้ นำไปฝังกลบ (เหลือประมาณ 3-4% ของขยะทั้งหมด)
“เมื่อวานผมอยู่กับรถขยะแค่สามชั่วโมง เก็บขยะมาได้เกือบสามตัน และขยะเกือบทั้งหมดที่เก็บ เราเสียเงินซื้อมาทั้งนั้น ขยะไม่ได้จบแค่การที่เราทิ้งมันลงถังขยะ แต่ต้องดูวงจรชีวิตของขยะทั้งระบบว่ามันเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างไร กลับคือสู่ธรรมชาติอย่างไร สิ่งที่ดีที่สุดคือการลดการสร้างขยะ หรือถ้าจำเป็นต้องหาแนวทางในการจัดการที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและอนาคตให้น้อยที่สุดครับ“ ชัชชาติ กล่าว