ไม่พบผลการค้นหา
รู้จักหมู่บ้าน 'ฟุกเกอร์ไรน์' ต้นโครงการบ้านสาธารณะเพื่อคนรายได้น้อยในเยอรมนี เก็บค่าเช่าต่อปีไม่ถึง 40 บาท เท่ากับวันแรก แม้ผ่านมา 500 ปี

ลองจินตนาการว่า หากคุณต้องจ่ายค่าเช่าบ้านต่อปีในราคาเพียง 88 เซนต์ (ไม่ถึง 1 ยูโร) จะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าคงเป็นค่าเช่าบ้านที่ถูกมากจนแถบไม่น่าเชื่อ แถมคุณจะมีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายในส่วนอื่น และหากว่าค่าเช่าบ้านเหล่านี้ เป็นราคาเดิมกับเมื่อ 500 ปีก่อน จะเป็นอย่างไร

นี่คือ ฟุกเกอร์ไรน์ (Fuggerei)" โครงการบ้านสวัสดิการสังคมเก่าแก่สุดในโลก เก็บค่าเช่าด้วยราคาเพียง 88 เซนต์ มาเป็นเวลาเกือบ 500 ปี 'โครงการบ้านเอื้ออาทร' แห่งนี้ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเอาก์สบวร์ก (Augsburg) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครมิวนิก ในรัฐบาวาเรีย (บาเยิร์น) หนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของบาวาเรีย 

ปัจจุบัน Fuggerei มีผู้คนอาศัยประมาณ 150 คน กระจายตามอพาร์ตเมนต์ 140 ห้อง ในแต่ละปี Fuggerei จะเปิดรับสมัครผู้เข้าพักอาศัยอย่างจำกัดเพียง 30 ถึง 40 คนต่อปีเท่านั้น ทว่าปัจจุบัน มีชาวเยอรมันที่ลงชื่อเพื่อรอสมัครเข้าพักอาศัยมากกว่า 80 คน

Fuggerei ฟุกเกอร์ไรน์ บ้าน เคหะชุมชน สวัสดิการสังคม เยอรมนี

Fuggerei หรือที่ชาวบ้านละแวกนั้นเรียกกันว่า "หมู่บ้านในเมือง" เพิ่งมีอายุครบ 500 ปี เมื่อ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา "บ้านเอื้ออาทร" แห่งนี้ แม้ผ่านการปรับปรุงพัฒนามาตลอดยุคสมัย มีเพียงสิ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ราคาค่าเช่าเพียงปีละ 88 เซนต์ หรือไม่ถึง 1 ยูโร

หมู่บ้านเอื้ออาทรแห่งนี้ ก่อตั้งเมื่อ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1521 หรือตรงกับพ.ศ. 2064 รัชสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ของราชวงศ์สุพรรณภูมิ แห่งอาณาจักรอยุธยา โดย ยาค็อบ ฟุกเกอร์ (Jakob Fugger) มหาเศรษฐีชาวเยอรมันผู้ร่ำรวยจากการประกอบธุรกิจเหมืองแร่และธนาคาร ทั้งเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวฟุกเกอร์ (Fugger family) หนึ่งในตระกูลขุนนางและนายทุน (Bourgeois) ที่ทรงอิทธิพลผูกขาดกิจการมากมาย ตั้งแต่เหมืองแร่ทองแดง การธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงกิจการทอผ้า

ย้อนกลับมาที่ Fuggerei ยาค็อบ ฟุกเกอร์ ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านแห่งนี้ มีแนวคิดที่นับว่าก้าวหน้าจากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 อย่างมาก ซึ่งในยุคนั้นยังห่างไกลจากคำว่า 'รัฐสวัสดิการ' หรือ 'บ้านสวัสดิการสังคม' สังคมยุโรปยุคกลาง ยังเต็มไปด้วยระบบศักดินา (ฟิวดัล) และศาสนจักรคาทอลิก ที่ทรงอิทธิพล

ยาค็อบ ฟุกเกอร์ เล็งเห็นว่า บรรดาคนงานของเขาซึ่งมักเป็นครอบครัวที่ยากจน พ่อกับแม่ต้องออกไปทำงาน และเด็กๆมักถูกส่งไปสถานสงเคราะห์ ครอบครัวมักต้องถูกแยกห่างกัน ฟุกเกอร์เชื่อว่า หากครอบครัวได้อยู่ร่วมกันในพื้นที่ส่วนตัวของพวกเขา จะทำให้ครอบครัวที่ยากจนและลำบาก สามารถตั้งตัวได้อย่างรวดเร็ว แนวคิดนี้นับว่าก้าวหน้าอย่างมากโดยเฉพาะช่วงเวลายุคกลางในยุโรปที่คริสตจักรเรืองอำนาจไปพร้อมๆกับระบบฟิวดัล

Fuggerei ฟุกเกอร์ไรน์ บ้าน เคหะชุมชน สวัสดิการสังคม เยอรมนี
  • ยาค็อบ ฟุกเกอร์ (Jakob Fugger)

Fuggerei จึงถือเป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นสวัสดิการสังคม ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยราคาถูก โดยรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่

ในเอกสารก่อตั้ง ยาค็อบ ฟุกเกอร์ ได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการ สำหรับผู้ที่มีสิทธิขอรับการสมัครเพื่อพิจารณาอาศัยในหมู่บ้านเอื้ออาทรแห่งนี้คือ

  • คนนั้นต้องประสบปัญหาด้านการเงินแต่ไม่มีหนี้สิน
  • เป็นผู้อยู่อาศัยในเอาก์สบวร์กไม่น้อยกว่า 2 ปี
  • ต้องนับถือคาทอลิก

โดยจะเก็บค่าเช่าเพียง 1 เรนิช กิลเดอร์ (Rhenish guilder) ค่าเงินท้องถิ่นในอดีต ซึ่งเทียบเท่ากับ 0.88 ยูโรต่อปี (ราว 35 บาท) 

เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกชุมชน Fuggerei แน่นอนว่าแนวคิดของผู้ก่อตั้ง ต้องการสร้างสังคมชุมชนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้นการใช้ชีวิตที่นี่ต้องผู้อยู่อาศัยอาจต้องทำงานบางอย่างเพื่อตอบแทนเล็กน้อย อาทิ ดูแลสวนต้นไม้ในหมู่บ้าน ช่วยกันบำรุงรักษาอาคารบ้านเรือน ตรวจตรายามค่ำคืน ช่วยดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ (แน่นอนว่าเก่าแก่ขนาดนี้ย่อมมีพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้าน) ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของชุมชน และสุดท้ายคือผู้อาศัยต้องสวดอธิษฐานแก่ ยาค็อบ ฟุกเกอร์ 3 ครั้งต่อวัน

Fuggerei ฟุกเกอร์ไรน์ บ้าน เคหะชุมชน สวัสดิการสังคม เยอรมนี

นับตั้งแต่ปี 1521 ชุมชน Fuggerei เปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รูปแบบอาคารคล้ายดังเดิม มีเพียงการสร้างต่อเติมขยายกลุ่มอาคารที่พักอาศัยเท่านั้น รวมถึงร้านขายของกระจุกกระจิก และพิพิธภัณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนซึ่งเพิ่มขึนในแต่ละปี

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1943 มีการสร้างบังเกอร์หลบภัยจากการโจมตีทางอากาศที่บริเวณสวนส่วนกลางของชุมชน เมื่อสิ้นสงครามเกือบ 70% ของชุมชนถูกทำลายจากสงคราม ทว่าชุมชนก็กลับมาบูรณะและปรับปรุงใหม่ในเวลาไม่กี่ทศวรรษต่อมา 

ลักษณะของชุมชน Fuggerei ไม่ต่างกับชุมชนทั่วไปในยุคกลางที่มีรั้วรอบขอบชิด มีพื้นที่สีเขียวเป็นจัตุรัสเล็กและน้ำพุเล็กๆ กลางชุมชน ผู้อยู่อาศัยสามารถนั่งบนม้าหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ลักษณะชุมชนป็นอาคาร 2 ชั้น มีทั้งสิ้น 8 แถว แต่ละแถวมี 52 ยูนิต แต่ละยูนิตมีสามส่วนคือ ห้องนั่งเล่น ห้องนอน และห้องครัว และเตาผิงหนึ่งเตา

ผู้อาศัยใน Fuggerei ส่วนใหญ่แม้เป็นผู้สูงอายุวัยบำนาญ แต่ช่วงหลังก็มีคนรุ่นใหม่ที่มาจากทุกสาขาอาชีพ พ่อแม่เลี้ยงเดียว วัยรุ่นหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มตั้งต้นชีวิต คู่รักวัยกลางคนที่กำลังมองหาความสงบสุขและต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน 

Fuggerei ฟุกเกอร์ไรน์ บ้าน เคหะชุมชน สวัสดิการสังคม เยอรมนี

Noel Guobadia วัย 27 ปี หนึ่งในชาวชุมชนเผยว่า เขาอาศัยใน Fuggerei ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น โดยอยู่กับแม่ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดียวที่มีปัญหาด้านการเงิน เขากล่าวว่า ในตอนแรกรู้สึกกังวลที่ต้องอาศัยในชุมชนนี้ เพราะมันเป็นที่ดินเก่าแก่ ผู้คนส่วนใหญ่มีแต่คนสูงอายุ "เราเป็นครอบครัวแรกที่มีภูมิหลังเป็นผู้อพยพอย่างชัดเจน นั่นอาจทำให้ผู้อยู่อาศัยบางคนอาจตกใจ"

"แต่ท้ายที่สุด การสื่อสารแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง การให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในงานต่างๆ ทำให้สังคมเปิดกว้าง เราทุกคนนั่งอยู่ด้วยกันที่ลานเบียร์ คุณช่วยคนอื่นๆ ที่เป็นครั้งคราวในการติดตั้งทีวี ในไม่ช้ามันก็เหมือนกับคุณมีครอบครัวที่สอง" 

Fuggerei ฟุกเกอร์ไรน์ บ้าน เคหะชุมชน สวัสดิการสังคม เยอรมนี

เมื่ออายุ 20 ปี Noel ย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์อีกหลังใน Fuggerei ที่ห่างจากอพาร์ตเมนต์ของแม่เขาเพียงไม่กี่ห้องในชุมชนเดียวกัน Noel มองว่า ค่าครองชีพที่ต่ำมากของชุมชนแห่งนี้ เป็นโอกาสที่จะสามารถช่วยให้คนหนุ่มสาว ตั้งตัวได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องกังวลกับค่าเช่าบ้านหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ

"ผมสามารถอยู่ได้ด้วยเงินเพียงเล็กน้อย ที่หาได้ระหว่างการฝึกงาน เพราะไม่มีภาระค่าเช่าบ้านที่ราคาแพง ทำให้ผมมีโอกาสที่มุ่งมั่นสร้างรากฐานให้ชีวิตตัวเอง"

เช่นเดียวกับ Ilona Barber ชาวชุมชน Fuggerei วัยเกษียณ ซึ่งอาศัยในหมู่บ้านแห่งนี้มา 6 ปี หลังจากที่เธอต้องดิ้นรนจ่ายค่าเช่าอันแสนแพงด้วยเงินบำนาญ

"ในวันคริสต์มาส ฉันได้รับข้อความว่ากำลังจะได้แฟลตใน Fuggerei มันเป็นของขวัญคริสต์มาสที่ดีที่สุด” ปัจจุบันเธอย้ายเข้าไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์ชั้นล่างขนาด 55 ตารางเมตร (590 ตารางฟุต) พร้อมสุนัขสองตัว แมวสองตัว และนกอีก 6 ตัว วันใดที่เธอไม่ได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เก้บเงินค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ชุมชน เธอจะช่วยทำธุระเล็กๆน้อยๆ ให้ชุมชน อาทิ ชวนเพื่อนบ้านมาดูหนังด้วยกัน หรือ แจกจ่ายกาแฟแก่ชาวชุมชน

Fuggerei ฟุกเกอร์ไรน์ บ้าน เคหะชุมชน สวัสดิการสังคม เยอรมนี

Doris Herzog หนึ่งในชาว Fuggerei และมีหน้าที่ไม่ต่างกับหัวหน้าชุมชนกล่าวว่า หน้าที่ของเขา คือการลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของชุมชน ตรวจคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าพักอาศัย ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างเพื่อนบ้าน และการช่วยเหลืองานต่างๆ

“ผมติดต่อบริษัทประกันสุขภาพ บริการทางการแพทย์ และมักจะพาผู้คนไปประชุมเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการเพื่อดำเนินชีวิตอย่างอิสระในบ้านของพวกได้มากที่สุด” 

หนึ่งในเงื่อนไขของการเป็นสมาชิกชุมชนคือ ผู้อาศัยต้องสวดภาวนาให้ ยาค็อบ ฟุตเกอร์ ผู้ก่อตั้ง แม้จะยากที่จะตรวจสอบว่าผู้อยู่อาศัยทำการสวดภาวนาดังกล่าวหรือไม่ แต่เฮอร์ซ็อกจะตรวจสอบสถานะผู้สมัครกับสำนักงานเขต เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวคาทอลิก

ชุมชนแห่งนี้มีการเข้า-ออกเป็นเวลา หลัง 22.00 น. ประตูของชุมชนจะปิด หากผู้อยู่อาศัยต้องการเข้าหลังจากเวลานั้นต้องจ่ายเงินแก่ยามที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วงกลางคืนด้วยราคา 50 เซนต์

Fuggerei ฟุกเกอร์ไรน์ บ้าน เคหะชุมชน สวัสดิการสังคม เยอรมนี

Astrid Gabler หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของ Fugger Foundation ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ดูแลผลประโยชน์ของหมู่บ้าน กล่าวถึงอนาคตของ Fuggerei เนื่องในวาระครบ 500 ปี ว่า องค์ประกอบสำคัญของการฉลองครบรอบ 500 ปีของปีนี้คือสิ่งที่เรียกว่า "Fugger Code" ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสวัสดิการสังคมในรูปแบบ Fuggerei ในอนาคต

Fugger Foundation ซึ่งนอกจากประกอบด้วยคณะสภาเมืองแล้ว องค์กรการกุศลแห่งนี้ยังคงมีสมาชิกลูกหลานของตระกูลฟุกเกอร์เป็นสมาชิกอยู่ด้วย 'Fuggerei' ในอนาคตจึงไม่เป็นเพียงหมู่บ้านเก่าแก่กลางเมืองเอาส์บวร์กเท่านั้น แต่พวกเขาจะมุ่งส่งเสริมแนวคิดต้นแบบของโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นชุมชนอย่างยั่งยืนให้กับทั่วโลก

ที่มา: Deutschlandfunk , Fugger.de , Smithsonianmag , DW