ไม่พบผลการค้นหา
ครป.ร่วม 30 องค์กรประชาธิปไตย จัดเวทีเสวนาแนะเสียง ปชช.ต้องแข็งแรง ตั้ง ส.ส.ร.ชงตัดวงจรอุบาทว์ในอนาคต คดีล้มล้างการปกครองไม่หมดอายุความ แนะเลือกฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ข้างประชาชน

วันที่ 18 ธ.ค. ที่โรงแรมนูไว สามเสน ซอย 2 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่าย 30 องค์กรประชาธิปไตย จัดงานเสวนาถกประเด็น "ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน" โดย โภคิน พลกุล ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมามีเพียงรัฐธรรมนูญ 2517 ที่ระบุว่าการรัฐประหารทำไม่ได้ ส่วนรัฐธรรมนูญ 2540 ถือเป็นนวัตกรรมที่มีความพยามสร้างรัฐธรรมนูญจากประชาชน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมีระบบตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่กลับไม่ผ่านประชามติ 

ส่วนวงจรอุบาทว์ที่ทุกคนกังวลคือ เลือกตั้ง ล้มรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจ ใช้เงิน ใช้อิทธิพลวนเวียนอยู่อย่างนี้ คำถามคือทำไมเราไม่ก้าวข้าม ส่วนสาเหตุใหญ่ตนมองว่า เพราะเรายังยึดติดกับวัฒนธรรมความคิดแบบอำนาจนิยม เห็นได้จากระบบโซตัสที่มีตั้งแต่วัยเรียน ดังนั้นการจะตัดระบบวงจรอุบาทว์นี้ควรเริ่มมาจากคำพิพากษาศาล เพราะการวินิจฉัยมันระบุว่าถ้าทำสำเร็จคือชนะหากทำไม่สำเร็จถือเป็นกบฏ ดังนั้นเราต้องสร้างเครื่องมือเพื่อให้ศาลมีความกล้าหาญในอนาคต ไว้จัดการพวกกบฏ

ดังนั้นหากต้องเริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มาจาก ส.ส.ร. ต้องแก้ไขเพิ่มเติมว่าจะไม่มีการยอมให้สืบทอดอำนาจ โดยจะไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 แต่ไปเริ่มหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นต้นไป เพราะประเทศนี้ถ้าทำให้ประชาชนแข็งแรงไม่ได้ สถาบันอื่นๆก็ไม่ฟัง 

โภคิน เสนอเครื่องมือของศาลในการตัดวงจรอุบาท์ในอนาคต 1.) ต้องเขียนว่าการนิรโทษกรรมทำไม่ได้ 2.) การกระทำความผิดล้างการปกครองฯ ต้องรับโทษตามกฏหมาย 3.) คดีที่เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองไม่มีสิ้นสุดอายุความ 4.) ให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปหรือมีสิทธิเลือกตั้งถือเป็นผู้เสียหายได้ โดยกำหนดให้หลักการเหล่านี้เป็นประเพณีในระบบประชาธิปไตย และต้องคงอยู่ตลอดไป 

"วันที่คุณมีปืนยึดอำนาจ ข่มขู่คนได้ แต่วันที่คุณไม่มีอำนาจ คุณติดคุก ลองซักหนึ่งครั้งว่าวงจรนี้จะหยุด เพราะคนที่สร้างวงจรนี้คือศาล ศาลต้องเป็นคนหยุดมัน"

โภคิน กล่าวเสริมว่า นอกจากการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อเป็นเครื่องมือให้ศาล ศาลก็ต้องสาบานตน เพื่อยืนยันว่าจะต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ปกป้องคนที่ล้มระบบนี้ ซึ่งตนเชื่อว่าผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อยมีความเป็นประชาธิปไตยอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักนิติธรรม 

สมชัย -3DB6-4F28-A880-BFFCDC434A4B.jpeg

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มองว่า มันขึ้นอยู่กับคนตีความหมาย เพราะเขาจะเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และปัญหาโครงสร้างรากฐานของสังคมไทย เป็นโครงสร้างของชนชั้นนำที่ส่งเสริมให้มีอำนาจปกครองประเทศ 

ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหานี้ ต้องช่วงชิงฝ่ายนิติบัญญัติให้ได้ก่อน เพราะมันเป็นช่องทางเดียวที่ประชาชน จากสามารถเข้าไปช่วงชิงได้ โดยต้องเลือกฝ่ายนิติบัญญัติที่อยู่ข้างประชาชน ที่ไม่ใช่อยู่ฝ่ายชนชั้นนำ หลังจากนั้นถ้าต้องร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำโดย ส.ส.ร.

"สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องช่วงชิงอำนาจนิติบัญญัติมาให้ได้เพื่อจัดตั้งฝ่ายบริหาร และเมื่อมีฝ่ายบริหาร คำสัญญาแรกคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน และเมื่อร่างเสร็จต้องยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่"