ไม่พบผลการค้นหา
14 พรรคการเมืองจากทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายยขวาของชิลี ตกลงที่จะเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากร่างรัฐธรรมนูฐฉบับก่อนที่ถูกเสนอโดย กาเบรียล บอริก ประธานาธิบดีชิลี ถูกปัดตกไปจากผลประชามติครั้งก่อน โดยความพยายามในครั้งนี้ นับเป็นความพยายามล่าสุดในการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ซึ่งถูกร่างขึ้นในยุคสมัยของเผด็จการ ออกุสโต ปิโนเชต

บอริกแถลงจากกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลี เพื่อยกย่องความตกลงใจกันระหว่างทั้ง 14 พรรคของชิลีว่า “เราได้ดำเนินการในสิ่งที่จำเป็น และหวังว่ามันจะเป็นขั้นตอนที่เด็ดขาด เพื่อความก้าวหน้าในข้อตกลงทางสังคมใหม่ เพื่อประชาธิปไตยที่ดีขึ้น เสรีภาพที่มากขึ้น สิทธิทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ชิลีไม่สามารถรอต่อไปได้อีก”

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีชิลียังกดดันไปที่รัฐสภาเพื่อให้รับร่างข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งได้รับการลงมติในช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ธ.ค.) ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 29 เสียง และสมาชิกสภาผูัแทนราษฎร 89 เสียง หรืออัตราส่วน 4 ใน 7 ของสมาชิกรัฐสภา “ผมมั่นใจในความรู้สึกรับผิดชอบ การอุทิศตน และความเอื้ออาทรในรัฐสภา ที่จะมีชัยชนะเพื่อการให้เกียรติแด่ประชาธิปไตย เพื่อให้ส่งมอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันชอบด้วยกฎหมายของเรา” บอริกระบุ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของชิลีได้รับการร่างขึ้นในปี 2523 หรือราว 6 ปีหลังจากปิโนเชต นายพลเผด็จการฝ่ายขวาขึ้นปกครองประเทศ และขยายอำนาจของฝ่ายขวาลงในรัฐธรรมนูญ ด้วยการเพิ่มอำนาจของฝ่ายบริหารในการระงับสิทธิพลเมือง จำกัดเสรีภาพสื่อ และการละเมิดสิทธิอีกมากมาย แม้จะมีการแก้รัฐธรรมนูญในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อให้สอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตยมากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลับถูกวิจารณ์ว่าเป็นส่วนสำคัญของความไม่เท่าเทียมในชิลี

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของชิลียังเน้นไปที่การให้สิทธิของทรัพย์สินเอกชน ที่มีเหนือทรัพยากรธรรมชาติ และไม่มีการให้หลักประกันสวัสดิการทางสังคม อีกทั้งยังไม่มีการรับรองสิทธิชนพื้นเมืองซึ่งนับเป็นอัตรา 13% ของประชากรชิลี ความไม่เป็นธรรมของรัฐธรรมนูญชิลี ส่งผลให้เกิดการประท้วงของนักศึกษาตั้งแต่ประเด็นค่าเดินทางรถสาธารณะ ลุกลามไปถึงการประท้วงต่อต้านความไม่เท่าเทียมทั่วทั้งประเทศ โดยข้อเรียกร้องหลักของการประท้วงคือการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ของชิลี

การประท้วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตกว่า 30 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันราย นับเป็นเหตุความรุนแรงที่ร้ายแรงที่สุดในชิลี นับตั้งแต่ยุคการปกครองของปิโนเชต ทั้งนี้ การประท้วงยุติลงได้เมื่อรัฐบาลชิลีสัญญาจะให้มีการจัดทำประชามติว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยผลประชามติในปี 2563 ได้รับคะแนนสนับสนุนอย่างท่วมท้น

ชิลีจัดให้มีการเลือกตั้งและได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 154 คน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมี 388 มาตราออกมา โดยมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปจนถึงสิทธิของชนกลุ่มน้อยและความเท่าเทียมทางเพศ อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญเอียงซ้ายฉบับดังกล่าวไม่ผ่านการลงมติเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยชาวชิลีกว่า 60% ปฏิเสธไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

บอริก ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้าย และได้รับการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ยังคงเดินหน้าความพยายามของตนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ้่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของตน ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่าง 14 พรรคการเมืองของชิลีในครั้งนี้ จะมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ 24 ราย ที่จะขึ้นมาเป็นคณะกรรมาธิการในการดูแลกรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะประกอบไปด้วยสมาชิกอีก 50 ราย อีกทั้งยังจะมีตัวแทนจากชนพื้นเมือง โดยสมาชิกคณะกรรมาธิการจะได้รับการเลือกตั้งในช่วงเดือน เม.ย. 2566 นี้ โดยมีการกำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศที่จะเน้นไปในประเด็นการกระจายอำนาจ และการแยกอำนาจและความเป็นอิสระจากกันของอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

หากรัฐสภาชิลีรับร่างข้อตกลงฉบับใหม่นี้ ชิลีจะมีเวลา 5 เดือนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปิดให้มีการลงประชามติในช่วงปีหน้า


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2022/12/13/chile-political-parties-agree-to-draft-new-constitution?fbclid=IwAR3V4eF68Yy4HWy6jNc_2fMieNnPPul3bjpAWypD5Yl7gck9cSvBb_So5BA