ไม่พบผลการค้นหา
กรม สบส. เร่งสั่งการพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ตรวจสอบสถานค้ากาม เปิดนวดและสปาบังหน้า ย่านสาทร หลังมีข่าวตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบุกทลายและจับกุมหมอนวดทั้งไทยและต่างด้าว จ่อเอาผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับร้านนวดสปา อย่างน้อย 2 กระทง

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) บุกทลายสถานบริการ "เดอะ ปริ้นซ์" ย่านซอยสวนพลู 6 เขตสาทร ซึ่งเปิดเป็นร้านนวดและสปาบังหน้า พบว่าร้านดังกล่าวมีการแอบแฝงบริการทางเพศ มีหมอนวดชายทั้งคนไทยและต่างด้าวให้บริการบรรดาเครือข่ายรักร่วมเพศนั้น

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าเมื่อได้รับทราบข้อมูลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประสานตำรวจในท้องที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ซึ่งในเบื้องต้นเมื่อตรวจสอบรายชื่อร้านดังกล่าวในฐานระบบแล้ว ไม่พบว่ามีการขออนุญาตให้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพกับกรม สบส. แต่กลับแอบอ้าง แขวนป้ายว่าเป็นร้านนวดและสปา ลักลอบให้บริการทางเพศ

หากดูรายละเอียดตามข่าวที่บอกว่าพนักงานมีการแต่งกายโดยสวมเพียงกางเกงในตัวเดียวนั่งในตู้กระจกเพื่อรอให้ลูกค้าเรียกไปให้บริการ คงไม่สามารถขอใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้อย่างแน่นอน เพราะไม่เข้าข่ายองค์ประกอบการเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เป็นเพียงการแอบอ้าง แขวนป้ายว่าเป็นร้านนวดและสปาบังหน้า เพื่อค้าบริการหรือให้บริการทางเพศเท่านั้น จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอย่างน้อย 2 กระทง ตามมาตรา 41 ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจเพื่อสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนว่าเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และมาตรา 42 ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการที่ทางร้านจ้างผู้ให้บริการเป็นชาวต่างด้าว เพื่อให้บริการนวดนั้น ไม่สามารถทำได้  

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรม สบส. ในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561 – ก.ย. 2562) พบว่า มีผู้ร้องเรียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งสิ้น 51 เรื่อง แบ่งเป็นผู้ให้บริการเถื่อน 7 เรื่อง สปาเถื่อน 18 เรื่อง โฆษณาไม่เหมาะสม 4 เรื่อง การให้บริการ 7 เรื่อง และบริการแอบแฝง 15 เรื่อง ซึ่งได้เร่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ทั้งนี้ กิจการที่เข้าข่ายเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกแห่ง ต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข โดยต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 26 ประกอบด้วยมาตรฐานด้านสถานที่ ด้านการให้บริการ และด้านความปลอดภัย

Photo by Toa Heftiba on Unsplash


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :